วานนี้ (23 สิงหาคม) พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ในรายการ THE STANDARD NOW ดำเนินรายการโดย อ๊อฟ-ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ ถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเสนอญัตติแก้ข้อบังคับการประชุมสภา
พริษฐ์กล่าวว่า จากการอภิปรายในสภาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า “การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเพียงนโยบายที่ใช้ในการรณรงค์หาเสียง นโยบายของรัฐบาลจะเกิดจากการร่วมมือกันจัดทำ เป็นนโยบายแถลงต่อรัฐสภานั้น” ทำให้เกิดข้อกังวล 3 เรื่อง ดังนี้
1. ทำให้เห็นความสำคัญของการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ซึ่งการร่วมรัฐบาลก่อนโหวตนายกรัฐมนตรี หรือจัดตั้งรัฐบาล ควรจะตกลงวาระที่จะขับเคลื่อนร่วมกันว่ามีอะไรบ้าง
เมื่อไม่มีใน MOU ที่ระบุไว้ชัดเจน ประชาชนก็ไม่มีหลักประกันว่าจุดยืนที่พรรคเพื่อไทยบอกว่าจะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะยังคงเป็นนโยบายของรัฐบาลร่วมหรือไม่
2. อย่ามองว่าเป้าหมายคือเพียงแค่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ฉะนั้น ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตย ทั้งกระบวนการและเนื้อหา
“มีความเป็นไปได้ว่าเป้าหมายนั้นอาจถูกบรรลุ แต่ประเทศไม่ได้มีประชาธิปไตยเต็มใบ เช่น อาจจัดตั้ง สสร. ที่มาจากฝ่ายหนึ่งทางการเมืองให้มาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่ได้สะท้อนชุดความคิดที่หลากหลายในสังคมที่ยึดโยงกับประชาชน และเขียนเนื้อหาที่มีกลไกไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ” พริษฐ์ขยายความ
3. คำถามในการจัดทำประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือสิ่งที่มีความสำคัญมาก หากถามไม่ตรงไปตรงมา ตัวเลือกไม่ครอบคลุมทุกฉากทัศน์ ไม่สอดคล้องกับหลักการที่ควรจะเป็น อาจมีความเสี่ยงที่ผลประชามตินำพาไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่ได้มีกระบวนการเนื้อหาที่เป็นประชาธิปไตย
พริษฐ์ระบุอีกว่า อยากให้ประชาชนจับตาสถานการณ์แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญอย่างใกล้ชิด รวมถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิ่งบอกว่าการลงชื่อ 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอคำถามสำหรับการทำประชามติต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะไม่นับชื่อที่ลงทางออนไลน์ นับแค่แบบกระดาษ และจะหมดเขตในวันศุกร์นี้ (25 สิงหาคม) ทำให้อดไม่ได้ที่จะตั้งข้อสังเกตดังกล่าว
ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลเตรียมเสนอญัตติให้แก้ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพยายามทำให้วิสัยทัศน์หลายๆ อย่างของ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภา คนที่ 1 ถูกบรรจุในข้อบังคับการประชุม ซึ่งจะเป็นการเพิ่มกลไกตรวจสอบการถ่วงดุลของรัฐบาล