นายกรัฐมนตรีมาเลเซียประกาศผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเต็มสูบ! ท่ามกลางการแข่งขัน EV ที่ร้อนแรงยิ่งขึ้นของเพื่อนบ้านอาเซียน อินโดนีเซียและไทยอาจต้องหนาวๆ ร้อนๆ เมื่อ Tesla ประกาศจัดตั้งสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาคในมาเลเซีย ทั้งที่อินโดนีเซียพยายามดึงดูด Tesla มานาน จะเป็นไปได้หรือไม่หากมาเลเซียและอินโดนีเซียจะเลิกแข่งขันกัน
หลังจากรถยนต์ Tesla Model Y ประกาศเปิดตัวที่ประเทศมาเลเซียอย่างยิ่งใหญ่เมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยการตั้งราคาเปิดตัวที่ประมาณ 1.49 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่าราคาเปิดตัวทั้งในไทยและสิงคโปร์ถึง 5 แสนบาท โดยเป็นผลจากรัฐบาลมาเลเซียกำลังให้ความสำคัญกับระบบนิเวศอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ที่ให้สิทธิประโยชน์จูงใจต่างๆ แก่ผู้ซื้อ เช่น ยกเว้นภาษี และราคาที่ถูกกว่าเพื่อนบ้าน ตลาดรถยนต์ EV ก็ถูกจับตาอีกครั้งเมื่อ Tesla เลือกมาเลเซียเป็นสำนักงานใหญ่ภูมิภาคอาเซียน ว่าจะเป็นการกดดันคู่แข่งอย่างอินโดนีเซียและไทยหรือไม่
สำนักข่าว CNBC รายงานว่า อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ออกมาประกาศว่า มาเลเซียจะผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หลัง Tesla ตั้งสำนักงานใหญ่ที่มาเลเซีย ซึ่งจะผลักดันให้ประเทศก้าวสู่ผู้นำห่วงโซ่อุปทานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยข้อแรกจะดำเนินการภายใต้ข้อตกลงการเป็นผู้นำระดับโลกด้านแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle Global Leaders) ของมาเลเซีย ซึ่งข้อตกลงสะท้อนให้เห็นถึงโอกาสของ Tesla ในการขยายไปสู่ตลาดใหม่ หลังจากตลาดใหญ่อย่างจีนชะลอตัว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ขณะเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงของ Tesla กับมาเลเซียนั้น จะส่งผลดีต่อการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งจะส่งถึงมาเลเซียได้โดยตรง โดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าหรือผ่านตัวแทนการจัดจำหน่าย
สำหรับ Tesla จะตั้งสำนักงานใหญ่และศูนย์บริการระดับภูมิภาคในรัฐสลังงอร์ เพื่อติดตั้งเครื่องมือขั้นสูงสำหรับตรวจสอบรถยนต์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่เทคนิคที่ผ่านการอบรม
นอกจากนี้ จะติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในเขตเมืองใหญ่ของมาเลเซีย เพื่อให้ผู้ใช้สามารถใช้บริการได้อย่างทั่วถึงโดยเริ่มจากกัวลาลัมเปอร์
ขณะเดียวกัน รัฐบาลมาเลเซียพร้อมเปิดกว้างการลงทุนมากขึ้นสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงผู้ผลิต EV จากจีนด้วย
แต้มต่อระหว่าง EV มาเลเซียกับอินโดนีเซีย
รายงานข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับข้อแตกต่างของ EV มาเลเซียและอินโดนีเซียคือ ขณะนี้อินโดนีเซียกำหนดอัตราภาษีนำเข้าอยู่ที่ 50% สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าประกอบ เพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านการผลิตในประเทศ แต่ก็มีการคาดการณ์ว่า อินโดนีเซียจะเสนอยกเว้นภาษีเช่นเดียวกับมาเลเซียที่มีข้อตกลงกับ Tesla แต่ด้วยอินโดนีเซียมีกฎระเบียบด้านสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อน ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่ผู้ผลิตในท้องถิ่นมากกว่า ทำให้การทำข้อตกลงกับนักลงทุนต่างชาติเป็นสิ่งที่ยุ่งยาก
อย่างไรก็ตาม เวลานี้อินโดนีเซียยังมั่นใจว่า Tesla ยังมองหาการลงทุนในอินโดนีเซียเพื่อแบตเตอรี่ EV และหาก Tesla ปฏิบัติตามแผนการผลิตที่รายงานไว้ในการหารือ อินโดนีเซียก็จะนำหน้ามาเลเซียไปหนึ่งก้าว
ทั้งนี้ สื่อท้องถิ่นต่างประเทศรายงานว่า มาเลเซียกำลังวางแผนที่จะขยายห่วงโซ่อุปทานเพื่อแข่งขันกับอินโดนีเซียหรือไม่ กระทั่งมาเลเซียก็ออกมาปฏิเสธว่า สองประเทศสามารถส่งเสริมผู้ผลิต EV ร่วมกันได้ เนื่องจากมาเลเซียผลิตแบตเตอรี่ได้เองเช่นกัน
ล่าสุด อันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เปิดเผยกับสำนักข่าว CNBC ว่า “ผมคิดว่าแทนที่เราจะอยู่ในเกมที่มีการแข่งขันอันดุเดือด เราควรจะส่งเสริมซึ่งกันและกันมากกว่า และนั่นคือสิ่งที่คิดหลังการหารือกับประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซียก่อนหน้านี้”
ทั้งนี้ หากดูข้อตกลงของ Tesla ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย ซึ่งมีประชากรเพียง 1 ใน 8 ของอินโดนีเซีย กำลังปลุกให้อินโดนีเซียเร่งพัฒนาตัวเอง แม้ขณะนี้อินโดนีเซียยังไม่ได้พ่ายแพ้ในการแข่งขันครั้งนี้ จากการที่มาเลเซียถูกเลือกให้จัดตั้งสำนักงานไปแล้วนั้น แต่การเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ EV จาก Tesla ที่มาพร้อมกับโรงงานแบตเตอรี่ เป็นสิ่งที่ โจโก วิโดโด ต้องการมากกว่า
อ้างอิง:
- www.cnbc.com/2023/08/23/malaysia-eyes-more-investments-to-enlarge-ev-footprint-after-tesla-deal.html
- https://autobuzz.my/2023/08/22/anwar-malaysia-indonesia-should-complement-each-other-on-ev-development-not-compete/
- https://asia.nikkei.com/Opinion/Tesla-s-move-into-Malaysia-should-be-a-wake-up-call-for-Indonesia?fbclid=IwAR3eueK5eCepWQnMdwHFbYssOOm-b0JLSh1ka7da0ALowHcBkkKDPAbiGlg_aem_AeZDfiyj0vx26hIMi5FtL99AquF8YP6NT965LTKaTfNquwMpsgi6-9WL0EH1IGSNhAw