สภาพัฒน์หั่น GDP ทั้งปี 2566 เหลือ 2.5-3.0% จากแนวโน้มความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณประจำปี 2567 หลังการจัดตั้งรัฐบาลส่อยืดเยื้อ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัวมากกว่าคาด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อส่งออก หลังเผย GDP ไตรมาส 2 โตต่ำคาด อยู่ที่ -1.8% และชะลอตัวจากไตรมาสก่อน
วันนี้ (21 สิงหาคม) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เผยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ขยายตัว 1.8%YoY ชะลอตัวลงจากการขยายตัว 2.6%YoY ในไตรมาสแรกของปี และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวจากไตรมาสแรกของปี 0.2%QoQ SA ทำให้ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัว 2.2% เท่านั้น
สภาพัฒน์ยังได้หั่นคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2566 ลงเหลือ ขยายตัว 2.5-3.0% เท่านั้น จากประมาณการก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ขยายตัว 2.7-3.7% เนื่องมาจากข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงดังนี้
- เงื่อนไขทางการเมือง จากแนวโน้มความล่าช้าของกระบวนการงบประมาณประจำปี 2567 โดยสภาพัฒน์ระบุว่า อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม-ธันวาคม 2566) มีแนวโน้มต่ำกว่าปกติ กรณีที่การจัดทำงบประมาณมีความล่าช้า นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจมีแนวโน้มปรับลดลง หากมีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ
- การชะลอตัวจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจโลกและความผันผวนในตลาดการเงินโลก จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลายประเทศจนส่งผลให้เกิดภาวะตลาดเงินตึงตัวและต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น รวมถึงปัญหาด้านเสถียรภาพของสถาบันการเงิน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนยังมีข้อจำกัด
- ภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของภาระดอกเบี้ย รวมถึงการสิ้นสุดมาตรการพักทรัพย์พักหนี้
- ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตร ความเป็นไปได้ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่สภาวะเอลนีโญ (El Niño) ทำให้ปริมาณนำ้ฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติและอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติ ซึ่งจะส่งผลต่อผลผลิตการเกษตร
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังมีปัจจัยสนับสนุนอยู่ ได้แก่ การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการขยายตัวของการลงทุนทั้งการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ ตามยอดการขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับการขยายที่และการเช่าพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงการเพิ่มขึ้นของกรอบงบลงทุนของรัฐบาล โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนรวมจะขยายตัว 5.0% และ 1.6% ตามลำดับ
6 ปัจจัยต้องจับตาจากนี้ถึงสิ้นปี
สศช. ยังแนะว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2566 ควรให้ความสำคัญกับ
- การรักษาบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเมืองภายในประเทศ รวมทั้งการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการติดตามป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงในตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลก
- การรักษาแรงขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
- การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการต่อเนื่อง
- การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร
- การขับเคลื่อนภาคการส่งออกสินค้าเพื่อไม่ให้เป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
- การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน