สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ภายหลังจากที่มีการเปิดประเทศ ซึ่งส่งผลให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วกว่า 12 ล้านคนในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา (เดือนมกราคม-มิถุนายน 2566) มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วกว่า 1.4 ล้านคน
ตัวเลขนี้สอดคล้องกับแนวโน้มการใช้บริการของนักท่องเที่ยวชาวจีนบนแพลตฟอร์ม Grab โดยเฉพาะบริการการเดินทาง ที่มีอัตราการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน Grab จากนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้น 38% ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จีน เกาหลี และญี่ปุ่น-แปลเมนูอาหารเป็นภาษาอังกฤษ-แปลงสกุลเงิน ฟีเจอร์ใหม่จาก Grab ที่ออกมาเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะ
- หมดยุคการแข่งในสนามสงครามราคาที่มีรายได้แต่ขาดทุน ‘Grab’ ตั้งเป้าธุรกิจในไทยต้องมี ‘กำไร’ อย่างยั่งยืน ย้ำไม่มีแผนปลดพนักงาน
- นักท่องเที่ยวต่างชาติมาดู ‘แข่งมวยไทย’ เวทีราชดำเนินโต 16 เท่า Grab ไม่รอช้าจับมือทุ่ม 100 ล้านดันแคมเปญขยายฐานลูกค้าในกลุ่มพรีเมียม
นอกจากนี้ Grab ยังได้ทำการสำรวจความคิดเห็นนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวน 3,000 คนที่อาศัยในเมืองต่างๆ เช่น ปักกิ่ง, เซี่ยงไฮ้, กวางโจว และเซินเจิ้น เกี่ยวกับการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายใน 6 เดือนข้างหน้า โดยพบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
- จุดหมายปลายทาง: ประเทศไทยครองแชมป์อันดับหนึ่งในฐานะประเทศที่ชาวจีนต้องการเดินทางไปมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (71%) รองลงมาคือ สิงคโปร์ (66%) และมาเลเซีย (53%)
- วัตถุประสงค์ของการเดินทาง: ชาวจีนส่วนใหญ่ต้องการเดินทางมาประเทศไทยเพื่อท่องเที่ยวหรือพักผ่อนมากถึง 97% รองลงมาคือการเดินทางในเชิงธุรกิจ (2%) และเยี่ยมเพื่อนและครอบครัว (1%)
- รูปแบบของการเดินทาง: 81% ของนักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมการเดินทางเป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 2-4 คน รองลงมาคือกลุ่มใหญ่หรือมากกว่า 4 คนขึ้นไป (10%) และเดินทางคนเดียว (9%)
- 5 เมืองที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากชาวจีน คือ กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, เชียงใหม่, พัทยา และเกาะสมุย
- ระยะเวลาและงบประมาณในการท่องเที่ยว: นักท่องเที่ยวจีนวางแผนใช้ระยะเวลาเฉลี่ยในการเข้าพักประมาณ 7 วัน และตั้งงบค่าใช้จ่ายต่อทริปอยู่ที่ประมาณ 21,309 หยวน (หรือคิดเป็น 103,060 บาท)
“นักท่องเที่ยวจีนถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักของ Grab ในปีนี้ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากในเชิงกลยุทธ์” วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าว
หากสังเกตให้ดีจะพบว่าปีนี้ Grab บุกหนักในกลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน ซึ่งได้ประกาศตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากเห็นถึงแนวโน้มการเติบโตของผู้ใช้บริการในกลุ่มนักท่องเที่ยว นับตั้งแต่สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย และเริ่มมีการเปิดประเทศอย่างเป็นทางการ
ล่าสุดเตรียมผนึกความร่วมมือกับ Alipay ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประเทศจีน ซึ่งมีผู้ใช้บริการชาวจีนมากกว่าพันล้านคนทั่วโลก เพื่อขยายช่องทางการชำระเงินให้กับผู้ใช้บริการและนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมายังประเทศไทย ให้สามารถชำระเงินหรือเติมเงินผ่าน Alipay เมื่อใช้บริการ Grab
ขณะเดียวกันได้เตรียมเพิ่มช่องทางการชำระเงินร่วมกับ Kakao Pay ระบบชำระเงินออนไลน์ของเกาหลีใต้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะพร้อมให้บริการอย่างเป็นทางการได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้
“สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ หนึ่งในความท้าทายที่ Grab มองว่าเป็นโอกาส คือทำอย่างไรที่จะทำให้เกิดการสื่อสารแบบปากต่อปาก (Word of Mouth) ทำให้ชาวต่างชาติมีการแนะนำและบอกต่อกันเอง ดังนั้นที่ผ่านมา Grab ได้พยายามศึกษาพฤติกรรมและวัฒนธรรมของผู้ใช้บริการในแต่ละประเทศ เพื่อทำความเข้าใจอินไซต์และปรับกลยุทธ์การสื่อสารให้เหมาะสม โดยนอกจากการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์บริการให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือการรักษามาตรฐานและคุณภาพของบริการ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้บริการอย่างต่อเนื่อง” วรฉัตรกล่าว
ทั้งนี้ ช่วงก่อนสถานการณ์โควิด ผู้ใช้บริการในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ใช้บริการทั้งหมด แต่หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ผู้ใช้บริการกลุ่มนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันกลับมาอยู่ในระดับเดียวหรือสูงกว่าก่อนโควิดแล้ว