×

สิงคโปร์ขึ้นแท่นประเทศแรกของโลก ออกกฎหมายรับรอง Stablecoin หวังเข้าใกล้เป้าหมาย ‘ศูนย์กลางสกุลเงินดิจิทัล’

16.08.2023
  • LOADING...
Stablecoin

เว็บไซต์ข่าวสถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานว่า สิงคโปร์กลายเป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายรับรองการใช้เงินดิจิทัล (Digital Currency) ที่เรียกว่า Stablecoin โดยมีเป้าหมายเพื่อให้แน่ใจว่า Stablecoin ที่ได้รับการกำกับควบคุมดูแลโดยสิงคโปร์จะมีเสถียรภาพในระดับสูง 

 

ทั้งนี้ Stablecoin ถือเป็นเงินดิจิทัลรูปแบบหนึ่งที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้มีมูลค่าคงที่เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หรือ Fiat Currency ในตลาด โดย Stablecoin หลายตัวระบุว่า ได้รับการสนับสนุนจากสินทรัพย์ในโลกแห่งความจริง เช่น เงินสดหรือพันธบัตรรัฐบาล

 

ปัจจุบัน ตลาด Stablecoin มีมูลค่าประมาณ 125,000 ล้านดอลลาร์ โดยมี 2 โทเคนที่เป็น Stablecoin ได้แก่ USDT ของ Tether และ USDC ของ Circle ซึ่งครองส่วนแบ่งประมาณ 90% ของมูลค่าตามราคาตลาด 

 

อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ Stablecoin ยังไม่มีการควบคุมดูแลอย่างกว้างขวางจากหน่วยงานที่มีอำนาจกำกับดูแลทั่วโลกแต่อย่างใด ดังนั้น ความเคลื่อนไหวของสิงคโปร์ นำโดย ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) จึงกลายเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการออกกฎระเบียบกำกับดูแล Stablecoin อย่างชัดเจน 

 

ทั้งนี้ ตัวอย่างของข้อกำหนดสำคัญของ MAS ที่เกี่ยวกับ Stablecoin ประกอบด้วย 

 

  • เงินสำรองที่หนุน Stablecoin ต้องอยู่ในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำและมีสภาพคล่องสูง และต้องมีมูลค่าเท่ากับหรือมากกว่ามูลค่าของ Stablecoin ที่หมุนเวียนอยู่ในตลาดอยู่เสมอ
  • ผู้ออก Stablecoin ต้องส่งคืนมูลค่าที่ตราไว้ของสกุลเงินดิจิทัลให้กับผู้ถือภายใน 5 วันทำการนับจากวันที่ขอไถ่ถอน
  • ผู้ออก Stablecoin ต้องจัดให้มี ‘การเปิดเผยที่เหมาะสม’ แก่ผู้ใช้ รวมถึงผลการตรวจสอบของทุนสำรองด้วย

 

แถลงการณ์ของธนาคารกลางสิงคโปร์ระบุว่า กฎเหล่านี้จะใช้กับ Stablecoin ทุกชนิดที่ออกในสิงคโปร์ และมีมูลค่าเทียบกับค่าเงินสิงคโปร์ดอลลาร์ หรือสกุลเงินหลักๆ ในกลุ่ม G10 เช่น สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ 

 

นอกจากนี้ Stablecoin ที่เป็นไปตามข้อกำหนดทั้งหมดภายใต้กฎจะได้รับการยอมรับจากหน่วยงานกำกับดูแลว่าเป็น ‘Stablecoin ที่กำกับดูแลโดย MAS’ หรือ MAS-Regulated Stablecoins ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวจะช่วยแยกแยะ Stablecoin ออกจากโทเคนที่ไม่ได้รับการรับรองจาก MAS อย่างชัดเจน 

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสิงคโปร์พยายามที่จะวางตำแหน่งตัวเองให้เป็นศูนย์กลางสกุลเงินดิจิทัลเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดย Stablecoin เช่น USDT และ USDC มักจะเป็นแกนหลักของการซื้อขายเงินดิจิทัล ที่อนุญาตให้ผู้ค้าย้ายเข้าและออกจากเหรียญดิจิทัลต่างๆ โดยไม่ต้องแปลงกลับเป็นสกุลเงินหลัก (Fiat Currency) 

 

กระนั้น ก็มีหลายฝ่ายออกโรงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความโปร่งใสของ Stablecoin ดังกล่าว ซึ่งเป็นช่องทางให้ธนาคารกลางสิงคโปร์เข้ามาออกกฎระเบียบกำกับดูแลเพื่อทำให้อุตสาหกรรม Stablecoin มีความชัดเจนโปร่งใสมากขึ้น 

 

Ho Hern Shin รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายกำกับดูแลทางการเงินของธนาคารกลางสิงคโปร์ระบุในแถลงการณ์ว่า กรอบการกำกับดูแลธนาคารกลางฯ มีจุดมุ่งหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้ Stablecoin เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนดิจิทัลที่น่าเชื่อถือ และเป็นสะพานเชื่อมระหว่างระบบเงินตราและสินทรัพย์ดิจิทัล

 

ด้านบรรดาบริษัทในแวดวง Stablecoin ที่เกี่ยวข้องกับ Tether และ Circle ต่างแสดงความยินดีและให้การตอบรับความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสิงคโปร์ในครั้งนี้ โดย Yam Ki Chan รองประธานฝ่ายกลยุทธ์และนโยบายสำหรับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APAC) ของ Circle กล่าวว่า ด้วยกรอบการกำกับดูแล Stablecoin ใหม่ ธนาคารกลางสิงคโปร์จะเป็นหนึ่งในกลุ่มของหน่วยงานกำกับดูแลแรกของโลก ในการกำหนดกรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจนและโปร่งใสสำหรับ Stablecoin และสินทรัพย์ดิจิทัล และขอชื่นชม MAS ในการนำกรอบที่มีประสิทธิภาพดังกล่าวมาใช้ ซึ่งช่วยสร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรมและการคุ้มครองลูกค้า

 

ด้าน Paolo Ardoino, CTO ของ Tether กล่าวว่า กรอบระเบียบกำกับดังกล่าวทำให้โครงสร้างและเส้นทางการดำเนินงานของ Stablecoin ในสิงคโปร์มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็รับประกันความโปร่งใสและความรับผิดชอบของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ดียิ่งขึ้น 

 

ทั้งนี้ สิงคโปร์ถือเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการออกกฎระเบียบ Stablecoin ขึ้นมาบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง โดยในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แม้ว่าทางสหราชอาณาจักรได้ผ่านกฎหมายที่ให้หน่วยงานกำกับดูแลสามารถกำกับดูแล Stablecoin ได้ แต่ก็ยังไม่มีกฎเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรม ขณะที่ทางด้านเขตปกครองพิเศษฮ่องกงกำลังอยู่ระหว่างการปรึกษาหารือสาธารณะเกี่ยวกับกฎระเบียบกำกับดูแล Stablecoin ซึ่งคาดว่าจะมีการนำออกมาบังคับใช้ในปีหน้า 

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X