วานนี้ (14 สิงหาคม) ธัญธร ธนินวัฒนาธร สส. กทม. พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในหัวข้อ เบี้ยผู้สูงอายุเกณฑ์ใหม่ต้องใช้ ‘การพิสูจน์ความจน’ ว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ต้องมีคำตอบ โดยมีเนื้อหาดังนี้
เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2566 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป) มีสาระสำคัญคือ การปรับเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุเดิม และให้ใช้ตามระเบียบใหม่ ซึ่งคุณสมบัติผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพตามระเบียบใหม่คือ
- มีสัญชาติไทย
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
- เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด
คำถามแรกที่ควรย้อนกลับไปยังกระทรวงมหาดไทยคือ การพิจารณาว่ารายได้เพียงพอต่อการยังชีพหรือไม่นั้นพิจารณาจากอะไร พิจารณาด้วยหลักเกณฑ์ใด และทำไมผู้สูงอายุยังต้องเข้ารับการพิจารณาดังกล่าวอีก ทั้งที่ทุกคนสมควรได้รับเบี้ยยังชีพในฐานะผู้เสียภาษีชาวไทยโดยเท่าเทียมกัน
ที่สำคัญเพดานเบี้ยยังชีพที่ปรับขึ้นตามช่วงอายุ (60-69 ปีได้รับ 600 บาท ไปจนถึง 90 ปีขึ้นไปได้รับ 1,000 บาท) ซึ่งเมื่อคำนวณเป็นรายวันก็แทบจะไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพได้จริงแล้ว (ราว 20-30 บาทต่อวัน) ยังมีระเบียบหลักเกณฑ์ที่ผู้สูงอายุต้องผ่านการพิจารณาอย่างไม่เท่าเทียมอีก
ธัญธรระบุว่า การอ้างว่างบประมาณสำหรับจัดสรรเบี้ยผู้สูงอายุสูงขึ้นในแต่ละปีจนต้องออกระเบียบดังกล่าวนั้น เป็นการกล่าวอ้างที่เสมือนมองข้ามงบประมาณที่ไม่จำเป็นส่วนอื่นซึ่งสมเหตุสมผลต่อการปรับลดมากกว่า เช่น งบประมาณสำหรับการจัดซื้อ-ซ่อมบำรุงอาวุธยุทโธปกรณ์ งบทางการทหาร ฯลฯ แทนที่จะช่วงชิงสิทธิพึงมีพึงได้ต่อการดำรงชีพที่ผู้สูงอายุทุกคนในประเทศนี้ควรได้รับ
“ผมยืนยันว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ นอกจากทุกคนจะต้องได้รับโดยเท่าเทียมกันแล้ว เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ไม่เคยปรับเพิ่มเลยนานกว่าหนึ่งทศวรรษ (ปรับขึ้นจาก 500 บาท มาเป็นตามเพดานอายุ 600 บาทขึ้นไป ตามมติ ครม. ตั้งแต่ปี 2554) ควรต้องได้รับการปรับเพิ่มให้เพียงพอและสมเหตุสมผลต่อการดำรงชีพซึ่งค่าครองชีพสูงขึ้นทุกวัน
“และผมอยากเรียกร้องผ่านไปยังแนวร่วมรัฐบาลในอนาคตที่อาจยังคลุมเครือเนื่องด้วยการตกลง-จัดสรรเก้าอี้ชี้แจงแก่ประชาชนว่า การถอยจากแนวทางสวัสดิการถ้วนหน้าสู่การพิจารณาสวัสดิการแบบพิสูจน์ตน จะสร้างผลกระทบอย่างไรและมีมาตรการรับมืออย่างไร”