วันนี้ (14 สิงหาคม) มีรายงานว่า จากกรณีที่ อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุเมื่อเร็วๆ นี้ว่าสำนวนการสอบสวนของ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล กรณีรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. มาตรา 151 เนื่องจากมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง สส. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (6) เพราะเหตุมีชื่อถือครองหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ได้ถูกส่งมายังชั้นสำนักงาน กกต. นั้น
มีรายงานว่าผลสอบที่คณะกรรมการไต่สวนดำเนินการสืบสวนไต่สวนเสร็จสิ้นแล้ว โดยได้เสนอความเห็นว่าควรให้ยกคำร้อง ด้วยเหตุผลว่าการดำเนินการตามมาตรา 151 เป็นคดีอาญาที่ต้องมีพยานหลักฐานชัดเจน แต่ขณะเปิดสมัครรับเลือกตั้ง สส. ปี 2566 วันที่ 4-7 เมษายน ไม่พบว่าบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีการประกอบกิจการอยู่และมีรายได้จากการทำสื่อ
ทั้งนี้ คณะกรรมการไต่สวนได้สรุปสำนวนและเสนอรายงานไปยังเลขาธิการ กกต. ซึ่งได้มอบรองเลขาธิการ กกต. ให้ดำเนินการจ่ายสำนวนดังกล่าวให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยคำร้องและปัญหาหรือข้อโต้แย้งพิจารณาตามที่ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวนและการวินิจฉัยชี้ขาด 2563 กำหนด ก่อนที่จะเสนอให้ กกต. วินิจฉัย
อย่างไรก็ตาม การพิจารณาเรื่องร้องเรียน ร้องคัดค้าน ของคณะอนุกรรมการวินิจฉัย หลายกรณีเมื่อสอบสวนแล้วไม่เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการไต่สวน โดยเมื่อคณะอนุกรรมการวินิจฉัยได้รับสำนวนหากเห็นว่ามีประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน มีข้อสงสัย ก็จะดำเนินสอบสวนเพิ่มเติม รวมทั้งการเรียกผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง ซึ่งในกรณีนี้คาดว่าคณะอนุกรรมการวินิจฉัยจะมีการสอบสวนเพิ่มเติม และแจ้งให้พิธาได้มาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา
รวมทั้งมีความเป็นไปได้ที่จะรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณี กกต. ยื่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ขอให้วินิจฉัยสถานะ สส. ของพิธา จากเหตุเดียวกัน ก่อนที่จะสรุปสำนวนพร้อมความเห็นเสนอ กกต. พิจารณา เช่นที่เคยดำเนินการกับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เมื่อครั้งถือหุ้นสื่อบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด
สำหรับการดำเนินการตามมาตรา 151 นั้น หากที่สุด กกต. มีมติเห็นว่าผู้สมัครรายนั้นรู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งแต่ยังคงลงสมัคร ก็จะให้ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งพนักงานสอบสวนเมื่อดำเนินการสอบสวนแล้วเสร็จก็จะส่งเรื่องให้กับอัยการเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลอาญา ซึ่งที่ผ่านมาในกรณีของธนาธร แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่าธนาธรมีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเหตุให้สมาชิกภาพ สส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 แต่เมื่อ กกต. ดำเนินคดีอาญา อัยการกลับมีคำสั่งไม่ฟ้อง
โดยมาตรา 151 นั้นกำหนดไว้ว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น สส. ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อ เพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี