วันนี้ (14 สิงหาคม) วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึงการเปลี่ยนหลักเกณฑ์จ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จากเดิมจ่ายแบบถ้วนหน้า ตั้งแต่ 12 สิงหาคมเป็นต้นไป ต้องพิสูจน์ความจนก่อน
วิโรจน์ระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กระทบกับสิทธิของประชาชนอย่างร้ายแรงมาก เพราะรัฐบาลรักษาการของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ลักไก่ กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2566 เสียใหม่
โดยแต่เดิมการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะเป็นการจ่ายแบบถ้วนหน้า ผู้สูงอายุทุกคนได้รับ 600-1,000 บาทต่อเดือน (อายุ 60-69 ปี ได้ 600 บาทต่อเดือน, 70-79 ปี ได้ 700 บาทต่อเดือน, 80-89 ปี ได้ 800 บาทต่อเดือน และ 90 ปีขึ้นไป ได้ 1,000 บาทต่อเดือน)
แต่ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 ตามข้อที่ 6 (4) ผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพเท่านั้นถึงจะได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
แม้ว่าในบทเฉพาะกาลข้อที่ 17 จะระบุว่า ผู้สูงอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนและรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนวันที่ 12 สิงหาคม 2566 ยังมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อไป
แต่หลักเกณฑ์นี้จะส่งผลกระทบกับสิทธิของประชาชนทุกคนที่จะทยอยอายุครบ 60 ปีในอนาคต นอกจากนี้ประชาชนที่จะมีอายุครบ 70 ปี, 80 ปี และ 90 ปี ที่ต้องได้รับการปรับเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุก็มีคำถามต่อว่าจะได้รับการปรับเพิ่มหรือไม่
นอกจากนี้ผู้สูงอายุที่แต่เดิมพอจะมีรายได้จุนเจือตนเองบ้าง ซึ่งตามหลักเกณฑ์ใหม่จะไม่ได้รับเบี้ยยังชีพ หากในเวลาต่อมารายได้ที่เคยดิ้นรนหาเลี้ยงชีพเกิดหดหายไป ผู้สูงอายุคนนั้นจะไปติดต่อขอรับเบี้ยยังชีพได้ที่ไหน อย่างไร
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ (60+ ปี) อยู่ 11 ล้านคน ทราบข่าวมาว่าจะมีการใช้ฐานข้อมูลบัตรคนจนหรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในการพิจารณาจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเพียงแค่ 5 ล้านคนเท่านั้น โดยผู้สูงอายุอีก 6 ล้านคนจะถูกรัฐลอยแพ
ที่สำคัญคือเราก็รู้อยู่แล้วว่าฐานข้อมูลของบัตรคนจนนั้นมีความมั่วอยู่พอสมควร มีคนจนถึง 46% ที่ไม่ได้รับบัตร ในขณะที่ 78% ของคนที่ถือบัตรเป็นคนที่ไม่ยากจนแต่อยากจน ข้อมูลตกหล่นมากมายแบบนี้แล้วจะเอามาใช้เป็นเกณฑ์ในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อย่างไร
นอกจากนี้ในมาตรา 11 (11) ของ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ ได้กำหนดเอาไว้ว่า การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุจะต้องจ่ายเป็นรายเดือน โดยต้องจ่ายให้ทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งก็มีประเด็นว่าการบังคับให้ผู้สูงอายุต้องพิสูจน์ความจนนั้นอาจเป็นการกีดกันประชาชนไม่ให้ได้รับสวัสดิการจากรัฐ ซึ่งขัดกับ พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ ซึ่งสามารถฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนหลักเกณฑ์ฉบับนี้ได้
วิโรจน์ระบุทิ้งท้ายว่า การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุในครั้งนี้ถือเป็นการลักไก่ของรัฐบาลรักษาการที่แย่มากๆ เป็นการวางยาทิ้งทวนที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งโดยปกติวิสัยของรัฐบาลรักษาการนั้นไม่ควรทำ ซึ่งประชาชนคงต้องจับตาดูต่อไปว่ารัฐบาลที่กำลังจะเข้ามารับไม้ต่อจะจัดการอย่างไรกับหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุฉบับนี้
อ้างอิง: