×

แนวโน้มเงินเฟ้อไทย vs. กรอบเงินเฟ้อ

07.08.2023
  • LOADING...
เงินเฟ้อ

วันนี้ (7 สิงหาคม) กระทรวงพาณิชย์ได้เผยแพร่อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ของไทยประจำเดือนกรกฎาคม 2566 ปรับสูงขึ้น 0.38% (YoY) ซึ่งอยู่ระดับต่ำกว่า 1.0% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566) โดยปัจจัยสำคัญยังคงมาจากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เนื้อสุกร และเครื่องประกอบอาหาร

 

เมื่อพิจารณารายละเอียดพบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้อยู่ในระดับต่ำ ยังคงมาจากการลดลงต่อเนื่องของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ลดลงค่อนข้างมากถึง 7.92% (YoY) ส่งผลให้หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.38% (YoY) ขณะที่สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัว อยู่ที่ 1.49% (YoY) จาก 3.37% ในเดือนมิถุนายน 2566 จากการลดลงต่อเนื่องของราคาเนื้อสุกรและเครื่องประกอบอาหาร

 

สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก สูงขึ้น 0.86% (YoY) ชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าแรงกดดันของต้นทุนการผลิตมีสัญญาณคลี่คลาย ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย7 เดือน (มกราคม-กรกฎาคม) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 2.19% (AoA) ทยอยปรับเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2566 และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ในช่วงคาดการณ์ที่ระหว่าง 1.0-2.0% (ค่ากลาง 1.5%)

 

สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคม 2566 มีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยในกรอบแคบๆ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากสินค้าอาหารบางประเภทที่ยังคงขยายตัว เนื่องจากสภาพอากาศปีนี้ค่อนข้างแล้งกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย รวมทั้งราคาอาหารสำเร็จรูปที่ยังอยู่ในระดับสูง และราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีแนวโน้มขยายตัว จากการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศ OPEC และความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่มีความตึงเครียดมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงที่เหลือของปีเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 1% ทุกเดือน จากฐานราคาที่ใช้คำนวณที่อยู่ในระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำและเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ทั้งนี้ ความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง สถานการณ์ภัยแล้ง เศรษฐกิจโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป

 

เงินเฟ้อ

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X