แม้ ‘พรรคก้าวไกล’ และ ‘พรรคเพื่อไทย’ ประกาศแยกทาง พร้อมทั้งฉีก MOU ไปเป็นที่เรียบร้อย อีกทั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ก็ชัดเจนแล้วว่าอาจไม่ได้เห็นหน้าตารัฐบาลชุดใหม่ได้ในเร็ววัน เหตุจากการเลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรีออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่สัญญาณการจัดตั้งรัฐบาลขั้วใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นยังคงตกเป็นของพรรคเพื่อไทย THE STANDARD WEALTH ชวนย้อนดู 4 นโยบายเศรษฐกิจมหภาคของพรรคเพื่อไทยในวันที่ไม่มีพรรคก้าวไกล หากเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ใครจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง
สแกน 4 หัวใจนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
นโยบายพรรคเพื่อไทย ภาพรวมยึดหลักการบริหารประเทศด้วยคอนเซปต์ ‘เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส’ และวางเป้าหมายไว้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือ GDP จะต้องเติบโตเฉลี่ยอย่างต่ำปีละ 5% และย้ำแนวคิด ‘รดน้ำที่ราก’ เพื่อให้ต้นไม้งอกงามทั้งต้น
หากดูไส้ในเฉพาะด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทยกำหนด 4 ประเด็น ดังนี้
1. นโยบายเพิ่มรายได้ภาคแรงงานและการจ้างงาน
โดยเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน นโยบายนี้ ‘ไม่ได้ใช้แรงงานเป็นตัวประกัน’ แต่จะทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น และแบ่งผลกำไรเหล่านี้กลับไปให้ภาคแรงงาน โดยการตกลงร่วมกันของไตรภาคี (นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ) ตามหลัก ‘ทุนนิยมที่มีหัวใจ’
ภายใต้หลักการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะพิจารณาจาก
- การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP)
- ผลิตภาพแรงงาน (Productivity)
- อัตราเงินเฟ้อ (Inflation)
พร้อมทั้งเพิ่มเงินเดือนวุฒิปริญญาตรี เริ่มต้นที่ 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี 2570 รวมไปถึงข้าราชการ
2. ทุกครอบครัวต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน
โดยการทำงานนั้นจะเริ่มจากการสำรวจครัวเรือนทั่วทั้งประเทศเพื่อตรวจสอบรายได้และศักยภาพของประชาชนก่อน เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงพร้อมกับการสร้างรายได้ผ่านมาตรการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power (OFOS)
หากรายได้ของครัวเรือนต่ำกว่า 20,000 บาท ก็จะเติมให้ถึง 20,000 บาทต่อเดือน จนกระทั่งครอบครัวมีรายได้เพียงพอ ซึ่งตรงนี้ผู้รับสิทธิจะต้องลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์ม Learn to Earn เพื่อเสริมทักษะและหางาน และเพื่ออัปเดตข้อมูลทุก 6 เดือนเข้าระบบ
3. เงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้ทุกคนใช้จ่ายใกล้บ้าน 4 กิโลเมตร
หลักการง่ายๆ คือ คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจะมี ‘กระเป๋าเงินดิจิทัล’ (Digital Wallet) ที่มีอายุการใช้งาน 6 เดือน สำหรับจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข เงินดิจิทัลนี้จะใช้จ่ายได้เฉพาะกับร้านค้าชุมชนและบริการที่อยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร ส่วนในพื้นที่ห่างไกลจะพิจารณาเป็นกรณี เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคไปพร้อมกับการกระจายรายได้ในชุมชน ขณะเดียวกันร้านค้าสามารถนำเงินดิจิทัลมาแลกเป็นเงินบาทกับธนาคารได้ ถือเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลระยะยาว โดยพรรคเพื่อไทยตั้งเป้ายกระดับประเทศเข้าสู่การเป็นศูนย์กลาง FinTech
ทีมกุนซือด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี ได้แก่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง, เผ่าภูมิ โรจนสกุล,
พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช,
ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ปานปรีย์ พหิทธานุกร และ เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะที่ปรึกษาและแคนดิเดตนายกฯ
4. สร้างประเทศด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลผ่านเขตธุรกิจใหม่ (New Business Zone)
เขตเศรษฐกิจพิเศษและสิทธิประโยชน์ในการลงทุนที่รัฐบาลปัจจุบันได้ทำมา เป็นแค่คำพูดการตลาดที่จับต้องไม่ได้ และปัญหาหลักของประเทศไม่ได้ถูกแก้ไข การแก้กฎหมายช้าและทำไม่ได้จริง แต่พรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยนทั้งหมดให้เป็นโอกาสด้วยกุญแจ 3 ดอก ด้วยการสร้างเขตธุรกิจใหม่ เพื่อ ‘ดึงเงินนอก ปลุกเงินใน เปลี่ยนเงินที่หลับใหล เป็นเงินที่สร้างเงิน’
โดยกำหนดเขตธุรกิจใหม่ 4 แห่งนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ ขับเคลื่อน Start-up และ SMEs สู่การสร้างรายได้ใหม่ให้แก่ประชาชน
นอกจากนี้ยังมีการสร้างแรงจูงใจทางภาษีให้เกิดการลงทุนในธุรกิจสมัยใหม่ เช่น ดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพ (BioTech) เทคโนโลยีการเกษตร (AgriTech) เทคโนโลยีการแพทย์ (MedTech) เพื่อเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพให้เศรษฐกิจภูมิภาค
เขตธุรกิจใหม่รวมถึงธุรกิจห้างร้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ล้วนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ของคนที่หลั่งไหลเข้ามาทำงานมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในจังหวัดที่เป็นเขตธุรกิจใหม่ แต่จังหวัดข้างเคียงก็จะได้รับประโยชน์อย่างถ้วนหน้า
เอกชนมองนโยบายดิจิทัลมาถูกทาง พร้อมหนุน ‘เศรษฐา ทวีสิน’
เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ทีมเศรษฐกิจที่จะมาขับเคลื่อนพรรคเพื่อไทยมีจุดแข็งและมีประสบการณ์ แต่ก็ต้องดูกันอีกทีว่าโครงสร้างของแต่ละกระทรวงด้านเศรษฐกิจจะกระจายไปอยู่ที่พรรคร่วมหรืออยู่ในมือของพรรคเพื่อไทย
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็เชื่อว่าทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยทราบดีถึงการทำงาน ซึ่งสิ่งที่ห่วงขณะนี้ มองว่าการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนโดยรวมหนี้ในระบบ เช่น กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ และหนี้สหกรณ์อื่นๆ ทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันอยู่ที่ 90.6% นั้น ความเป็นจริงแล้วยังไม่ได้รวมหนี้ที่อยู่นอกระบบจริงๆ เข้ามา ตรงนี้น่าห่วงเพราะมีเกือบ 20% ของระบบ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลใหม่จะต้องเดินหน้าแก้ไขสิ่งที่กดทับกำลังซื้อของคนในประเทศ
ส่วนนโยบายพรรคเพื่อไทยที่คิดว่าน่าสนใจและจะทำให้โมเมนตัมเศรษฐกิจทั้งประเทศเกิดขึ้นได้เร็วคือ นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ถือเป็นระบบควบคุมการใช้จ่ายเงินได้ดี เพราะสิ่งที่อันตรายที่สุดที่ผ่านมาคือ ต่อให้แจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สุดท้ายประชาชนอาจนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายในเรื่องการผ่อนรถ จ่ายหนี้อื่นๆ เงินไม่ได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อการสร้างงานสร้างเงิน แต่เป็นภาคของการใช้จ่ายมากกว่า
จึงหวังว่านโยบายนี้จะสำเร็จ เพราะใช้งบประมาณค่อนข้างเยอะ แม้มีหลายฝ่ายมองว่าเป็นการสร้างหนี้เพิ่ม ซึ่งก็จริง แต่อย่างน้อยที่สุด ถ้าทำแล้วคุ้ม เกิดโมเมนตัมเศรษฐกิจมหภาคก็ถือว่าดีต่อระบบ เพราะฉะนั้นนโยบายนี้ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือที่ต้องมีความแม่นยำ การควบคุมอย่างตรงจุด ตรงตามเป้าหมายที่สุด
ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ชี้ ต่างชาติยังมองไทยเป็นฮับ EV ห่วงนักลงทุนอุตสาหกรรมใหม่อ่อนไหวต่อสถานการณ์การเมือง
นักลงทุนต่างชาติยังมองไทยเป็นฮับ EV
ส่วนเรื่องสัญญาณการลงทุนจากต่างชาติก็ต้องดูรายประเทศ อย่างจีนมีการลงทุนอย่างแน่นอนในเรื่องห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า EV เข้ามาต่อเนื่อง ส่วนญี่ปุ่นเข้าใจการเมืองไทยเพราะมีการลงทุนในไทยกว่า 40 ปี แต่ที่น่ากังวลคือกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ กลุ่มเทคโนโลยีชั้นสูง พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีด้านความยั่งยืน เพราะส่วนใหญ่มาจากฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์การเมืองมากกว่านักลงทุนเอเชียอย่างจีนหรือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไทยเองก็อยากได้มาทดแทนอุตสาหกรรมเดิม เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมก็ต้องการปรับโครงสร้างเพื่อยกระดับเทคโนโลยีขั้นสูง
“ทั้งนี้ สถานการณ์การเมืองยังไม่กระทบนักลงทุนที่จะเข้ามา เพราะไม่ว่าจะสหรัฐฯ หรือยุโรปต่างก็ต้องการย้ายฐานการผลิตและมองมาที่ไทย ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะไทยที่จะตอบโจทย์มาก เพราะมีความพร้อมเรื่องพลังงานหมุนเวียนและมีการสนับสนุนธุรกิจจากภาครัฐ ซึ่งส่วนตัวก็เชื่อมั่นในฝีมือทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย” เกรียงไกรกล่าว
ด้าน ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย มองว่า นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท และค่าแรง 600 บาท ของพรรคเพื่อไทยนั้น ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างเกื้อกูล พร้อมกับการบูรณาการโครงสร้างเศรษฐกิจ และที่สำคัญต้องสามารถต่อยอดให้เติบโตอย่างยั่งยืน ไม่อยากให้เป็นลักษณะจุดประทัด ต้องดูโครงสร้างเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย
ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย รอรัฐบาลใหม่ช่วยปลดล็อกความเปราะบางธุรกิจ SME
สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยมองทีมเศรษฐกิจเพื่อไทยมีประสบการณ์ พร้อมเสนอ 5 มาตรการเร่งด่วน
ขณะที่ แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เศรษฐา ทวีสิน เป็นผู้ที่มีความเหมาะสม มีความรู้ในเรื่องเศรษฐกิจ น่าจะมีความเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ดี สร้างความเชื่อมั่นเรื่องการค้าการลงทุน ในขณะที่ภาพรวมนโยบายพรรคเพื่อไทยก็มีประสบการณ์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ส่วนนโยบายภาค SME นั้นอาจยังไม่ชัดเจนมากนัก ดังนั้นหากพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จก็อยากให้เร่งแก้ไข 5 มาตรการเร่งด่วน คือ
- มาตรการปลุกเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น
- มาตรการแก้ไขปัญหาต้นทุน SMEs และค่าครองชีพประชาชน โดยโฟกัสไปที่การปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน
- มาตรการเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำ SMEs และฟื้นฟูหนี้ NPL สร้างแต้มต่อดอกเบี้ย SMEs และการส่งเสริมให้เกิดกองทุนฟื้นฟูและพัฒนา SMEs
- มาตรการยกระดับทักษะขีดความสามารถ SMEs และภาคแรงงาน บ่มเพาะนวัตกรรม ดึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบ
- มาตรการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคของ SMEs
“เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าภาค SME เปราะบางด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย เศรษฐกิจของไทย ผู้ประกอบการรายย่อยก็เผชิญต้นทุนทั้งราคาพลังงาน ค่าแรง ค่าครองชีพ มิติอื่นๆ ล้วนมีผลต่อภาค SME เช่น หนี้ครัวเรือน การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า”
หอการค้าหวังนโยบายเพื่อไทยเข็น GDP โต 5%
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการพบปะ เศรษฐา ทวีสิน มองว่าพรรคเพื่อไทยมุ่งไปที่นโยบายยกระดับฐานราก เกษตร ยกระดับรายได้ และมุ่งเน้นนวัตกรรม เทคโนโลยีมาปรับใช้ หวังว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยจะทำให้ GDP โตถึง 5%
ปิดท้ายด้วย วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า หาก เศรษฐา ทวีสิน เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็มองในแง่ธุรกิจและเศรษฐกิจถึงความถนัดและนำการบริหารได้ดี ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องเสถียรภาพรัฐบาล ทั้งนี้ ไม่ว่าจะพรรคร่วม พรรคฝ่ายค้าน หากไปด้วยกันได้ การบริหารเศรษฐกิจและการเมืองจะเดินหน้าได้ราบรื่น ท้ายที่สุดก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุน
อ้างอิง: