เรียกได้ว่าคอนเทนต์ภาษาเกาหลี อังกฤษ และไทย ยึดอันดับความนิยมใน Netflix มาตลอด นานๆ ทีจะมีหนังภาษาอื่นๆ ที่ก้าวขึ้นมาติดอันดับต้นๆ กับเขาบ้าง ซึ่งล่าสุดคือเรื่อง Paradise หนังเยอรมันที่ครองตำแหน่งหนังที่มีคนดูมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของ Netflix ประเทศไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าด้วยเรื่องราวการซื้อขายเวลาชีวิตและขยายความต่อไปถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ ชนชั้น และศีลธรรมความเป็นมนุษย์ของคนในสังคม
Paradise เล่าเรื่องในอนาคตอันใกล้ที่มนุษย์สามารถโอนถ่ายเวลาชีวิตผ่าน Aeon บริษัทที่สัญญาว่าคุณสามารถ “สละเวลาของคุณและเริ่มต้นชีวิตใหม่” นั่นคือการขายเวลาหลายปีของชีวิตเพื่อแลกกับเงินก้อนโต โดยปีเหล่านั้นจะเปลี่ยนเป็นเซรั่มชะลอวัยสำหรับผู้รับบริจาค ส่วนผู้บริจาคก็อายุมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีกลุ่มต่อต้านคือ Adam Organization ที่เชื่อว่า Aeon กำลังใช้ประโยชน์จากระบบเพื่อให้คนรวยมีชีวิตยืนยาว และคนจนต้องยอมอายุสั้นลงเพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
Max เป็นพนักงานดีเด่นของ Aeon ทำหน้าที่เป็นนายหน้าหาผู้บริจาค แต่แล้ววันหนึ่ง อพาร์ตเมนต์ของเขาเกิดไฟไหม้ และบริษัทประกันปฏิเสธจ่ายเงินให้เขาโดยอ้างว่าเกิดจากการประมาท ทำให้เขาและภรรยาคือ Elena เป็นหนี้มูลค่า 2.5 ล้านยูโรทันที Elena ถูกบังคับให้ชดใช้ด้วยเวลาชีวิตถึง 38 ปี Max จึงต้องทวงคืนความยุติธรรมและชีวิตภรรยากลับคืนมา ทำให้เขาค่อยๆ พบความเชื่อมโยงไปสู่ Sophie เจ้าของ Aeon ผู้อยู่เบื้องหลังชะตากรรมทั้งหมดของเขา
เอาเข้าจริงรูปแบบการซื้อขายเวลาเกิดขึ้นมานานแล้วในเมืองไทยด้วยรูปแบบบริการผู้ช่วยคนรวย (ดูคลิปได้ที่: www.youtube.com/watch?v=YI_MECcnOCc) เพื่อให้ผู้มีอันจะกินเอาเวลาอันมีค่าไปหาความสุข แล้วให้คนอื่นเข้ามาจัดการเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตแทน นี่ก็พอจะบอกได้ว่าเวลาเป็นของมีค่ามากแค่ไหน และถ้าหากซื้อเวลาเพื่อ ‘ใช้ชีวิตแทน’ ได้ด้วย ก็น่าจะมีมหาเศรษฐียอมจ่ายเพื่อสิ่งนั้นอย่างแน่นอน ซึ่ง Paradise ได้ฉายภาพความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นหากเรื่องนั้นเกิดขึ้นได้จริง
เริ่มตั้งแต่การฉายมุมมองของ Aeon ว่าหากได้ต่อชีวิตบุคคลอัจฉริยะในประวัติศาสตร์ให้มีอายุยืนยาว คนเหล่านั้นจะคิดค้นสิ่งที่มีประโยชน์ได้มากแค่ไหน แต่ในอีกมุมหนึ่งคือการด้อยค่าว่าเวลาชีวิตของคนอีกกลุ่มนั้นไม่มีประโยชน์กับโลกใบนี้ และควรสละมันเพื่อแลกกับคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าที่แลกมาได้ด้วยเงินขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
“การบริจาคชีวิตสร้างระบบยับยั้งหลักการความเสมอภาค พวกที่ทำให้เวลาในชีวิตมนุษย์เป็นสินค้า และทำให้มนุษย์กลายเป็นสินค้าไปด้วย” คำประกาศของหัวหน้ากลุ่ม Adam Organization ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงที่ได้เห็นในเรื่อง ขณะเดียวกันอีกมุมหนึ่งของฝั่ง Aeon ก็มีเหตุผลของตัวเอง
ถ้าชีวิตคนคนหนึ่งไม่มีอะไรเลยนอกจากความเยาว์วัย จะห้ามไม่ให้เขาหาประโยชน์จากมันได้อย่างไร
Max คือคนหนึ่งที่เชื่ออย่างนั้นมาตลอด แต่เมื่อสิ่งเดียวกันเกิดขึ้นกับคนที่เขารัก ธาตุแท้ความเห็นแก่ตัวก็เริ่มขึ้น เขาจึงตัดสินใจทำอะไรบางอย่างแม้สิ่งนั้นจะต้องทำร้ายผู้บริสุทธิ์ก็ตาม
หนังพาเราร่วมผจญภัยเอาชีวิตรอดไปกับ Max และ Elena พร้อมๆ กับการได้เห็นพัฒนาการของตัวละครที่เมื่อหลังชนฝาก็พร้อมเห็นแก่ตัวได้เสมอ ไม่ว่าจะกับคนรักหรือคนร่วมสายเลือดก็ตาม ซึ่งนี่ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งธีมหลักที่ Paradise ต้องการจะสื่อไปพร้อมๆ กับความเหลื่อมล้ำและชนชั้น
“ในที่สุดเราก็สามารถหยุดวิกฤตโลกร้อนได้ เพราะคน 5% ที่รวยที่สุดในโลกยอมลงทุนกับเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม พวกเขามีโอกาสใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้อีกนานกว่าเดิม” หนึ่งในไดอะล็อกของเรื่องที่สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อมีส่วนได้ส่วนเสีย ปัญหาที่แก้ยากบางอย่างก็อาจง่ายขึ้นในชั่วพริบตาเดียว
นอกจากเรื่องความเห็นแก่ตัว Paradise ยังชวนตั้งคำถามว่า การมีชีวิตที่ยืนยาวจะเป็นหนทางของความสุขแน่หรือ
ฉันไม่เคยอยากได้ชีวิตยืนยาว แค่แข็งแรงพอจะทำงานได้ แต่ความเยาว์วัยอย่างเดียวไม่ได้ทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือมีความสุขขึ้น แค่ยืนยาวขึ้นเท่านั้น
แม้จะตั้งคำถามและมีประโยคเด็ดชวนคิดอยู่หลายตอน แต่ Paradise ก็มีจุดอ่อนที่ไม่สามารถหาคำตอบให้คนดูได้อย่างคมคาย ทั้งที่มีหลายจุดที่ขยี้ได้มากกว่านี้ และอาจกลายเป็นหนังบู๊แอ็กชันที่ให้อะไรกับคนดูได้ดีมากๆ เรื่องหนึ่งเลยทีเดียว ส่วนในแง่ของการเล่าเรื่องหรือฉากแอ็กชันก็ยังถือว่าเนิบนาบและห่างชั้นกับหนังในโทนเดียวกันอย่าง In Time ในปี 2011 และ Children of Men ในปี 2006 อยู่มาก จนกลายเป็นงานระดับกลางๆ ที่ไปไม่สุดสักทาง
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้เขียน Paradise ก็จุดประกายให้ย้อนนึกว่าสิ่งสำคัญของชีวิตนั่นคือเวลาที่ต้องมาพร้อมๆ กับคุณภาพชีวิตด้วย บ่อยครั้งที่เราเห็นหลายคนไม่อยากจะใช้เวลาอยู่ต่อบนโลกใบนี้ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ขอเวลาเพิ่มอีกแค่วันเดียวก็ยอมแลกกับทุกอย่างในชีวิต แต่ในเมื่อวันนี้เวลายังอยู่ข้างเราก็จงใช้เวลาที่มีอยู่ให้คุ้มค่า น่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
ภาพ: Netflix