วันนี้ (3 สิงหาคม) รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะโฆษกพรรค เปิดเผยว่า พรรคก้าวไกลยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องของผลการประชุมลงมติโหวตนายกรัฐมนตรีวานนี้ เนื่องจากเลขาธิการพรรคขออย่าเพิ่งมีข้อสรุป เนื่องจากเหตุการณ์ยังปุบปับเกินไป และเดิมทีจะมีข้อสรุปในวันนี้ แต่การเลือกนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (4 สิงหาคม) ได้ถูกเลื่อนออกไปทำให้ยังไม่มีข้อสรุป แต่ย้ำว่าพรรคก้าวไกลจะไม่ลงมติสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นนายกรัฐมนตรีแน่นอน
รังสิมันต์ยังกล่าวถึงกรณีที่ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ที่ขอให้พรรคก้าวไกลสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทยเพื่อตอบแทนบุญคุณว่า ในการทำงานทางการเมืองขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ ไม่เกี่ยวข้องกับบุญคุณ และถ้าพรรคก้าวไกลจะเป็นหนี้บุญคุณก็เป็นหนี้บุญคุณของประชาชนเท่านั้น และเห็นว่าสิ่งที่พรรคก้าวไกลยอมตั้งแต่ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร และให้สิทธิพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเพื่อรักษา 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลเอาไว้นั้น ก็ถือว่ามีบุญคุณมากกว่า
“ถ้าพูดกันเรื่องบุญคุณ พวกผมมายืนอยู่ตรงนี้ประชาชน 14 ล้านคนน่าจะเป็นบุญคุณมากที่สุด แต่ว่าการทำหน้าที่ สส. ไม่ใช่เรื่องการมีบุญคุณติดกับพรรคการเมืองไหนพรรคการเมืองใด ถ้าจะนับเรื่องบุญคุณ การที่เรายอมๆ ไม่ใช่บุญคุณมหาศาลเหรอ พวกผมยอมเยอะมาก ยอมแล้วยอมอีก แล้วก็จะยอมอีกต่อไป” รังสิมันต์กล่าว
รังสิมันต์ระบุอีกว่า วันนี้มีความพยายามตั้งรัฐบาลที่อาจจะไม่มีพรรคก้าวไกล ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ไม่ถูกต้องอยู่แล้ว เรายอมให้ผู้ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาตั้งเงื่อนไขกับคนที่ได้รับความชอบธรรมจากพี่น้องประชาชน ถ้าเรายอมรับกระบวนการแบบนี้ก็หมายความว่าเรากำลังยอมรับว่าคน 17 คนที่แต่งตั้ง สว. มา เหนือกว่าประชาชนที่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งใช่หรือไม่
รังสิมันต์ยังกล่าวถึงการประชุมรัฐสภาในวันพรุ่งนี้เพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 ปิดสวิตช์ สว. ยกเลิกอำนาจการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยหวังว่า สส. ทุกพรรคการเมือง และ สว. ทั้งที่เคยสนับสนุนการปิดสวิตช์ สว. และต้องการปิดสวิตช์ตนเองเพิ่มเติมจะให้การสนับสนุน และไม่ใช้ข้ออ้างเรื่องการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีที่ยังจะต้องอาศัยเสียงของ สว. อยู่มาขัดขวางการแก้ไขในครั้งนี้ รวมถึงไม่ใช้วิชามารทำให้องค์ประชุมรัฐสภาล่มจนไม่สามารถพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
รังสิมันต์ยังระบุอีกว่า เพราะอำนาจการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของ สว. เหลือระยะเวลาอีกเพียงไม่กี่เดือน ดังนั้นอำนาจดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องคงไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อยื้อระยะเวลาประชาธิปไตยของประเทศ และเชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง และมีความเห็นสอดคล้องกันว่าอำนาจ สว. ดังกล่าวเป็นหล่มทางการเมือง กระบวนการแก้ไขครั้งนี้จะเสร็จสิ้นได้ 3 วาระ โดยใช้ระยะเวลา 1 เดือนเท่านั้น หรือเสร็จสิ้นในเดือนกันยายนนี้
รังสิมันต์ยังย้ำด้วยว่า อำนาจการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีของ สว. เป็นหล่มทางการเมือง เพราะหากไม่มีมาตราดังกล่าว การจัดตั้งรัฐบาลและเลือกนายกรัฐมนตรีตามความต้องการของประชาชนก็น่าจะเสร็จสิ้นลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และยังทำให้การจัดตั้งรัฐบาลมีความแปลกพิสดาร มีการผสมข้ามสปีชีส์ ไม่มีเรื่องอุดมการณ์ และเปิดโอกาสให้ สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งสามารถตั้งเงื่อนไขพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งมาร่วมรัฐบาลได้
ส่วนกรณีที่ สมชาย แสวงการ สว. เห็นควรให้รอศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้นก่อนนั้น รังสิมันต์เห็นว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีและการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งในคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ระบุถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้