ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเลยสำหรับการหวนคืนตำแหน่งรอบที่ 2 ในปี 2022 เพื่อกลับมาเป็นซีอีโอให้ Disney ของ บ็อบ ไอเกอร์ (Bob Iger) วันนี้หัวเรือใหญ่ Disney กำลังเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง ที่ทำให้เก้าอี้ซีอีโอร้อนดั่งไฟลน
ตั้งแต่ความตึงเครียดเรื่องการขาดทุนของธุรกิจสตรีมมิง ไปจนถึงผลกระทบจากนักลงทุนที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว และล่าสุดคือภาพลักษณ์ที่ติดลบเพราะคำวิจารณ์ Hollywood Strikes ว่า “ไม่ดูความจริงเอาเสียเลย”
ในช่วงแรกไอเกอร์ระบุว่า จะดำรงตำแหน่งซีอีโอรอบที่ 2 เพียง 2 ปีในระหว่างที่บริษัทกำลังหาคนมาแทน อย่างไรก็ตาม ด้วยความยากลำบากในการหาผู้สืบทอดที่เหมาะสม ไอเกอร์จึงตกลงที่จะขยายสัญญาออกไปอีก 2 ปีจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2026 โดยที่ยังคงมุ่งเน้นสรรหาผู้ที่เหมาะสมเพื่อเป็นผู้นำของ Disney ในระยะยาว
การดำรงตำแหน่งก่อนหน้านี้ของไอเกอร์ในตำแหน่งซีอีโอของ Disney กินเวลายาวนานถึง 15 ปี ตั้งแต่ปี 2005-2020 สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า Disney ให้ความสำคัญกับกระบวนการสืบทอดตำแหน่งผู้บริหาร เพื่อให้แน่ใจว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นผู้นำคนใหม่จะประสบความสำเร็จ
สำหรับกรณีของ บ็อบ ไอเกอร์ แม้จะมีความท้าทายมากมาย แต่ มาร์ก พาร์เกอร์ (Mark Parker) ประธานของ Disney ก็ชื่นชมความสามารถของไอเกอร์ในการเปลี่ยนแปลงบริษัทเพื่อสร้างรายได้และการเติบโตในอนาคต ซึ่งทำให้ บ็อบ ไอเกอร์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในซีอีโอที่ดีที่สุดในโลก
แต่วันนี้ บ็อบ ไอเกอร์ ต้องเผชิญกับคำวิจารณ์และการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแพ็กเกจค่าเหนื่อย 27 ล้านดอลลาร์ ตรงนี้ไอเกอร์ถูกมองในแง่ลบสุดขีด เพราะเมื่อคำนวณแล้วสัดส่วนค่าตอบแทนของ บ็อบ ไอเกอร์ กับพนักงานทั่วไปของ Disney นั้นต่างกันราวฟ้ากับเหว
โดย บ็อบ ไอเกอร์ ทำเงินได้มากกว่า 535 เท่าของค่ามัธยฐานเงินเดือนพนักงาน ทั้งหมดนี้ยิ่งสะท้อนถึงความไม่เสมอภาคที่ชัดเจน แต่ไอเกอร์กลับเรียกปรากฏการณ์ Hollywood Strikes ที่นักเขียนและนักแสดงฮอลลีวูดนัดหยุดงานว่า ‘ไม่ดูความจริง’
ภาพ: Michael Loccisano / Getty Images
ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการนัดหยุดงานรอบนี้ของเหล่า Hollywood Strikers ต่างพยายามเน้นย้ำถึงการจ่ายเงินของซีอีโอที่เพิ่มขึ้นในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และความไม่เท่าเทียมอย่างมากของการจ่ายค่าจ้างในอุตสาหกรรมบันเทิง ซึ่งแม้ว่าค่าเหนื่อยของไอเกอร์จะอยู่ในระดับต่ำกว่าซีอีโอบางคน แต่พนักงานกลับจับตามองและตั้งคำถามถึงศีลธรรมและความยุติธรรมของช่องว่างการจ่ายเงินจำนวนมหาศาลภายในบริษัท
ภาพจำของ บ็อบ ไอเกอร์
เมื่อถามว่า บ็อบ ไอเกอร์ มีฝีมือการบริหารงานเก่งกาจขนาดไหน คำตอบสามารถสรุปได้จากช่วงแรกที่ไอเกอร์ดำรงตำแหน่งซีอีโอของ Disney การเข้าซื้อกิจการของ Pixar, Marvel และ Lucasfilm ของไอเกอร์ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จ ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด Walt Disney Company ได้ประกาศรายได้ 82,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 เพิ่มขึ้นกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากตัวเลขที่บันทึกได้ในปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม ไอเกอร์เป็นที่คาดหวังของคนทำงานตัวเล็กตัวน้อยในฮอลลีวูด เพราะไอเกอร์เริ่มต้นสายงานในแวดวงทีวี และไต่เต้าไปหลายตำแหน่งในสถานีโทรทัศน์ ABC ตั้งแต่ปี 1974 ก่อนที่จะถูก Disney ซื้อกิจการ ตั้งแต่ตำแหน่งหัวหน้าหน่วยธุรกิจ ABC Entertainment ในปี 1989, ประธานของ ABC Network Television Group ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 1993-1994, รองประธานอาวุโสของ Capital Cities/ABC ในเดือนมีนาคม ปี 1993 และรองประธานบริหารในเดือนกรกฎาคม ปี 1993 ซึ่งปีต่อมาไอเกอร์ได้รับเลือกให้เป็นประธานและซีโอโอของ Capital Cities/ABC
เมื่อ Walt Disney Company เข้าซื้อ ABC ในปี 1995 การรวมกิจการทำให้ไอเกอร์ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งซีอีโอของบริษัทใหม่ และในที่สุดก็ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในปี 2005 หลังจากที่ ไมเคิล ไอส์เนอร์ ถูกขับออกไป ส่งผลให้ไอเกอร์เป็นซีอีโอจนกระทั่งเกษียณในปี 2020 แต่ก็กลับมารับตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 หลังจาก บ็อบ ชาเพ็ก ถูกขับออกไปเช่นกัน
ข่าวลือล่าสุดที่เกี่ยวกับ บ็อบ ไอเกอร์ คือกลิ่นฟุ้งกระจายเรื่องการพิจารณาขายบริการสตรีมมิงและทรัพย์สินอื่นๆ ที่อาจรวมถึงการขายบริษัท Disney ทั้งหมดด้วย ประเด็นนี้สำนักข่าว Bloomberg รายงานโดยอ้างอิงจากบทสัมภาษณ์สุดอื้อฉาวที่ระบุว่า บางธุรกิจอาจไม่ใช่แกนหลักของบริษัทในอนาคต
ปัจจุบันบริการสตรีมมิงของ Disney ทยอยสูญเงินและยอดสมาชิกไปเรื่อยๆ รายงานระบุว่า บริการ Disney+ สูญเสียสมาชิก 4 ล้านคนในไตรมาสที่แล้ว และธุรกิจสตรีมมิงคาดว่าจะขาดทุนรวม 800 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสที่ 3
จากข้อมูลของ Bloomberg หลายคนสรุปว่า ไอเกอร์ต้องการขายหรือปรับโครงสร้างธุรกิจทีวีและสตรีมมิงของ Disney ในอินเดียทั้งหมด เนื่องจากเป็นจุดที่ Disney+ ขาดทุนมากที่สุด เฉพาะ Disney+ Hotstar สูญเสียสิทธิ์การสตรีมการแข่งขันคริกเก็ตพรีเมียร์ลีก อินเดีย (IPL) ก็ทำให้บริการสูญเสียสมาชิก 3.8 ล้านรายในไตรมาสที่ 1 และสมาชิก 4.6 ล้านรายในไตรมาสที่ 2
เซียนข่าวกรองเชื่อกันว่า ไอเกอร์วางแผนที่จะยึด Hulu และ Disney จะเปิดตัวแอปพลิเคชันรวมมิตร Hulu และ Disney+ ปลายปีนี้ คาดว่าบริการสตรีมมิงจะยังคงมีแอปแยกต่างหาก อย่างน้อยก็ในช่วงแรกนี้ โดยหากข่าวนี้เป็นจริง Disney จะต้องซื้อหุ้น 33% ของ Comcast ใน Hulu ช่วงปีหน้า ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นไปได้ แม้จะเข้าข่ายเป็นข่าวลือที่ไอเกอร์เคยวิจารณ์ว่าเป็นข่าวเพื่อเก็งกำไรทั้งนั้น
ไม่ว่าจะอย่างไร การเปลี่ยนแปลงของ Disney+ นั้นเกี่ยวข้องกับการออกมาให้สัมภาษณ์สุดดราม่าของไอเกอร์โดยตรง เพราะการขาดทุนของบริการสตรีมมิงทำให้ไอเกอร์มองว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีการปันส่วนแบ่งให้ทีมผลิตโชว์เมื่อมีการทำเงินจากการนำผลงานเก่าออกมาเผยแพร่ใหม่บนสตรีมมิง จึงเป็นที่มาของความอึดอัดที่ทำให้ไอเกอร์อดไม่ไหวและออกมาให้สัมภาษณ์ จนไม่เหลือภาพพ่อบ้านใจดีแห่งวงการฮอลลีวูด
บทสัมภาษณ์ที่ตรงไปตรงมา
ต้นเรื่องของบทสัมภาษณ์นี้มาจากการประท้วงขอค่าแรงเพิ่มของสมาคมนักเขียนแห่งอเมริกา (WGA) ซึ่งหยุดงานประท้วงและยื่นร่างข้อเรียกร้องหลายประการ เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ยุติธรรมกับสตูดิโอในฮอลลีวูด WGA ระบุว่า แม้จะมีการเติบโตของบริการสตรีมมิงและโอกาสในการทำงานที่มากขึ้น แต่นักเขียนหลายคนต้องเผชิญกับค่าจ้างที่ต่ำลง จึงต้องการค่าจ้างที่สูงขึ้น เพื่อชดเชยอัตราเงินเฟ้อ และต้องการให้สมาชิกสามารถรับแพ็กเกจบำเหน็จ-บำนาญและกองทุนสุขภาพด้วย
ภาพ: Charley Gallay / Getty Images for Disney
นอกจากค่าเขียนแล้ว ก็ยังมีค่าส่วนแบ่งอื่นๆ ที่เป็นค่าตอบแทนสำหรับการเผยแพร่และการขายในต่างประเทศ เม็ดเงินส่วนนี้เป็นแหล่งรายได้สำคัญสำหรับนักเขียนมานานหลายปี แต่บริการสตรีมมิงได้ขัดขวางการจ่ายเงินเหล่านี้ที่นักเขียนเคยได้รับ เนื่องจากโชว์และภาพยนตร์ที่อยู่บนแพลตฟอร์มสตรีมมิง ดังนั้นนักเขียนจึงต้องการส่วนแบ่งอื่นมากขึ้น เพื่อทดแทนส่วนที่ขาดไป
WGA ยังต้องการให้รายการทีวีมีการจ้างนักเขียนจำนวนหนึ่งให้เป็นพนักงานในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อป้องกันการทำงานหนักเกินไปและขาดพนักงาน ขณะเดียวกันก็ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยให้ซีซันรายการทีวีมีความยาวสั้นลง เพื่อลดข้อจำกัดให้นักเขียนได้มีโอกาสทำงานในรายการอื่นด้วย
ที่สำคัญนักเขียนในวงการฮอลลีวูดมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเขียนบทหรือเติมบทภาพยนตร์ที่ยังไม่แล้วเสร็จ จึงต้องการให้บริษัทผู้ผลิตตกลงที่จะงดใช้ AI ต่อยอดงานที่ทำไว้แล้ว
การนัดหยุดงานนี้มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นการประท้วงครั้งแรกที่ฮอลลีวูดในรอบ 15 ปี และประเด็นที่ WGA หยิบยกขึ้นมาก็ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีและการผงาดของแพลตฟอร์มสตรีมมิงในอุตสาหกรรมบันเทิง อย่างไรก็ตาม ไอเกอร์กลับบอกว่า ข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นฝันลมๆ แล้งๆ ที่เกิดขึ้นโดยไม่ดูสภาพความเป็นจริงเลย แถมยังเป็นการก่อกวนวงการฮอลลีวูดขึ้นไปอีก
ไอเกอร์ใช้คำว่า Very Disruptive เพื่อพูดถึงความคาดหวังของกลุ่มที่ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริง โดยกล่าวว่า การเรียกร้องนี้กำลังเพิ่มชุดความท้าทายที่ธุรกิจนี้กำลังเผชิญอยู่แล้ว ซึ่งการกล่าวตรงไปตรงมาแบบนี้ทำให้หลายคนงุนงง เพราะไอเกอร์เลือกจะไม่ตอบคำถามแบบที่ผู้บริหารหลายคนมักตอบให้ตัวเองปลอดภัยว่า “ผมจะไม่พูดถึงข้อพิพาทแรงงานที่กำลังดำเนินอยู่ แต่หวังว่าเราจะได้ข้อยุติที่ยุติธรรมในเร็วๆ นี้ และกลับไปสร้างความบันเทิงชั้นยอด” หรืออะไรทำนองนั้น
ไม่ว่าไอเกอร์จะคิดอะไรในใจ แต่การสัมภาษณ์นี้ทำให้ไอเกอร์ถูกจับตามองเป็นพิเศษต่อกรณี Hollywood Strikes แต่ไม่ได้มีแค่ปฏิกิริยาในแง่ลบเท่านั้น เพราะในแง่บวกไอเกอร์ก็ยังให้ความเห็นที่มองขาด ตรงไปตรงมา สมกับที่เป็นหนึ่งในซีอีโอที่ดีที่สุดในโลกอยู่ดี
ภาพปก: Jay L. Clendenin / Los Angeles Times via Getty Images
อ้างอิง: