ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BANK) โดยรวมวันนี้ (24 กรกฎาคม) เป็นกลุ่มที่กดดันตลาดหุ้นไทยให้ปรับลงมากที่สุด โดยส่งผลต่อดัชนีราว 1.8 จุด โดยหลักๆ กดดันจากหุ้นอย่างธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ที่ลดลง 7.85% ปิดที่ 55.75 บาท, ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ลดลง 3.49% ปิดที่ 124.50 บาท และ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) ลดลง 2.71% ปิดที่ 107.50 บาท
ขณะเดียวกันหุ้นของธนาคารกรุงเทพ (BBL) กลับวิ่งสวนทาง โดยปรับตัวขึ้น 2.13% มาปิดที่ 168 บาท
สำหรับปัจจัยกดดันต่อหุ้นกลุ่มธนาคารวันนี้มาจากเรื่องหนี้เสีย ที่อาจพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังไปจนถึงปี 2567
ตฤณ สิทธิสวัสดิ์ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า แรงกดดันหลักต่อหุ้นกลุ่มแบงก์เกิดขึ้นหลังจากการประชุมนักวิเคราะห์ของ KBANK เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา แม้ว่ากำไรของบริษัทจะออกมาดีกว่าคาด แต่จากมุมมองของผู้บริหารต่อแนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่องไปจนถึงปี 2567 มีโอกาสที่หนี้เสียจะเร่งตัวขึ้นได้อีก
ผู้บริหารของ KBANK มองว่า การตั้งสำรองหนี้มีแนวโน้มจะอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องจนถึงปี 2567 และกว่าที่ระดับการตั้งสำรองจะเริ่มคงตัวอาจต้องรอจนถึงปี 2568 ซึ่งยาวนานกว่าที่ตลาดเคยประเมินไว้ และการตั้งสำรองดูเหมือนจะสูงกว่าที่บริษัทเคยให้ประมาณการไว้
“จากมุมมองดังกล่าวทำให้หุ้น KBANK และ SCB ถูกปรับประมาณการลง ด้วยเหตุผลคือเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง ทำให้ลูกหนี้บางกลุ่มได้รับผลกระทบ”
นอกจากนี้ สัญญาณเชิงลบจากลูกหนี้ภายใต้โครงการปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้รายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต มีแนวโน้มว่าจะเกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นอีก
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางปัจจัยลบเหล่านี้ยังพอจะมีปัจจัยบวกอยู่บ้าง โดยเฉพาะผลประกอบการไตรมาส 3 ในแง่ของกำไรสุทธิน่าจะเติบโตดีขึ้นทั้งจากไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน หนุนจากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ที่ดีขึ้น รวมทั้งแนวโน้มค่าธรรมเนียมจากธุรกิจอย่างประกันและธุรกิจด้านตลาดทุนที่น่าจะฟื้นตัวได้
“โดยรวมแล้วเรามองว่า การปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มแบงก์น่าจะเป็นปัจจัยชั่วคราว จากผลกระทบของการที่หุ้นถูกปรับประมาณการลง โดยเรามองว่าราคาหุ้น SCB ที่ลดลงเป็นจังหวะในการเข้าสะสม เพราะบริษัทยังมีโอกาสเติบโตระยะยาวจากการที่ ROE ปรับตัวดีขึ้นจากธุรกิจใหม่ เช่นเดียวกับ NIM ที่เพิ่มขึ้น”
ในมุมของ ธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า แรงกดดันต่อราคาหุ้นวันนี้มาจากเรื่องคุณภาพหนี้ที่แย่ลง โดยเฉพาะในกลุ่มลูกหนี้ SME เช่าซื้อรถยนต์ และรายย่อย
แม้ว่ากำไรของกลุ่มแบงก์ที่เราติดตามทั้ง 6 บริษัท จะดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ราว 6% แต่เรื่องของคุณภาพหนี้อาจกดดันผลประกอบการไปจนถึงปีหน้า
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังประเมินได้ยากคือความรุนแรงของหนี้เสียหลังจากลูกหนี้ต้องกลับมาชำระหนี้ในระดับปกติ ในภาวะที่เศรษฐกิจโดยรวมแย่ลงจากผลของเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
“ตอนนี้ผลกระทบเป็นตัวเลขยังประเมินได้ค่อนข้างยาก เราจึงแนะนำเน้นหุ้นแบงก์ที่ความเสี่ยงน้อย เช่น BBL ซึ่งพอร์ตสินเชื่ออยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ รวมทั้ง KTB ที่เน้นปล่อยสินเชื่อภาครัฐ ธุรกิจขนาดใหญ่ และบุคคลทั่วไปที่ส่วนมากเป็นข้าราชการ”
การเคลื่อนไหวของหุ้นแบงก์เป็นลักษณะของ K-Shaped หรือการเคลื่อนไหวที่ไปคนละทิศทาง และเชื่อว่าการเคลื่อนไหวเช่นนี้จะเป็นแค่ชั่วคราว หลังจากนี้คงต้องติดตามว่าเรื่องของหนี้เสียจะกระทบมากเพียงใดจากตัวเลขผลประกอบการในแต่ละไตรมาสหลังจากนี้