ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับงวดครึ่งแรกของปี 2566 จำนวน 21,423 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.2% จากช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยส่วนใหญ่มาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 36.0% สอดคล้องกับภาวะอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น จากอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นสุทธิกับการเพิ่มขึ้นของต้นทุนเงินรับฝากและการปรับอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเข้าสู่ระดับเดิมตั้งแต่ต้นปี 2566 ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 2.88% รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิอยู่ในระดับใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน
สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 18.3% ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งจากค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ในระดับที่ลดลงเป็น 47.1% ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารมีการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง จึงมีการตั้งสำรองในไตรมาส 2 ปี 2566 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน ทำให้สำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในงวดแรกปี 2566 มีจำนวน 17,354 ล้านบาท
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,698,304 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.6% จากสิ้นปีก่อน ส่วนใหญ่จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อลูกค้ากิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้อยู่ที่ 2.9% ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 287.1%
ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2566 จำนวน 3,200,155 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อน และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 84.3% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 19.1%,15.7% และ 14.9% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
นอกจากนี้ รายงานของธนาคารยังระบุด้วยว่า ในไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยแรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากภาคการท่องเที่ยว ตามนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นและการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันการส่งออกของประเทศไทยยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนตัวลง ทำให้ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนในระบบเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศเศรษฐกิจหลักที่มีเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงที่ภาวะเศรษฐกิจจะซบเซาลงและถดถอย รวมทั้งจากความผันผวนในตลาดการเงินโลก และจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
แม้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจโลกยังคงมีความไม่แน่นอนจากความผันผวนของตลาดการเงิน รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ดังนั้นการดำเนินกิจการของภาคธุรกิจจึงยังคงเผชิญความท้าทายทั้งจากการแข่งขันในรูปแบบใหม่ และยังมีโอกาสจากตลาดที่กว้างขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงในด้านดิจิทัลเทคโนโลยีนวัตกรรมแห่งโลกอนาคต ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงการปรับตัวเพื่อสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ตลอดจนการปรับเปลี่ยนด้านตลาดการเงินที่ปรับตัวสูงขึ้น