วันนี้ (19 กรกฎาคม) เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดใจและแสดงทัศนะถึงสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจไทยในงาน Meet the Press ว่า แม้ว่าการจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่ ธปท. ยังเชื่อว่าปัจจัยการเมืองจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจนทำให้ ธปท. ต้องปรับลดคาดการณ์ GDP ลงจากระดับปัจจุบันที่ 3.6% เนื่องจากการจัดทำงบประมาณที่ล่าช้าได้อยู่ภายใต้สมมติฐานของ ธปท. อยู่แล้ว
เตือนรัฐบาลใหม่ก่อหนี้อย่างระมัดระวัง
“การฟอร์มรัฐบาลได้ช้าหรือเร็วจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นโดยรวม ส่วนเรื่องงบประมาณที่ล่าช้าเป็นประเด็นรอง งบลงทุนอาจหายไปบ้างแต่ไม่ได้มาก ในภาพรวมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังเป็นไปตามที่คาดไว้ กรณีเดียวที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปีนี้ได้คือ เกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว” เศรษฐพุฒิกล่าว
ผู้ว่า ธปท. กล่าวอีกว่า หากพิจารณาจากการฟื้นตัวของไทยที่ยังมีความต่อเนื่อง และมีความสอดคล้องกับระดับศักยภาพการเติบโตที่ 3-4% ต่อปี โดยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา การบริโภคในประเทศขยายตัวได้แล้ว 5% ขณะที่รายได้นอกภาคการเกษตรก็โตขึ้น 7% โจทย์เชิงนโยบายที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญคือ เรื่องเสถียรภาพและการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชน ไม่ใช่การกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้น
“หนี้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ข้อดีของการก่อหนี้คือมันเห็นผลวันนี้เลย แต่จะกลายไปเป็นต้นทุนในอนาคต ถ้าเราดูงบดุลของประเทศในขณะนี้ เราจะเห็นความเปราะบางอยู่ที่หนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 90.6% ของ GDP ขณะที่ระดับหนี้สาธารณะก็อยู่ที่ระดับสูงกว่า 60% แต่งบดุลของภาคเอกชนยังแข็งแรง ถ้าเราจะก่อหนี้เพื่อให้เศรษฐกิจโตก็ควรเน้นไปที่กลุ่มเอกชน ที่จะนำไปสู่การลงทุนซึ่งเป็นสิ่งที่เราขาดมากกว่า” เศรษฐพุฒิกล่าว
ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยสร้าง Policy Space
เมื่อถามถึงแนวทางในการดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. เศรษฐพุฒิระบุว่า ธปท. ยังให้น้ำหนักกับปัจจัยในระยะยาว หรือ Outlook Dependent มากกว่าปัจจัยรบกวนในระยะสั้น หรือ Noises และจะเดินหน้าปรับนโยบายเข้าสู่ภาวะปกติ และปรับอัตราดอกเบี้ยให้เข้าสู่จุดสมดุล หรือ Policy Normalization โดยการพิจารณาจะคำนึงถึง 3 หลักการสำคัญคือ ช่วยให้เศรษฐกิจโตได้ตามระดับศักยภาพ ดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายอย่างยั่งยืน และไม่สร้างปัญหาทางเสถียรภาพทางการเงิน
นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่ ธปท. ต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกันคือ การสร้าง Policy Space หรือช่องว่างทางนโยบาย เอาไว้รองรับความเสี่ยงจากวิกฤตหรือความช็อกทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่การสร้าง Policy Space ก็ต้องเอามาชั่งน้ำหนักกับปัจจัยอื่นๆ ด้วยเช่นกัน เช่น ผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบางซึ่งอาจเป็นการซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือน
“อัตราดอกเบี้ยแท้จริงของไทยอยู่ในระดับต่ำผิดปกติมานาน และปัจจุบันก็ยังติดลบอยู่ การปล่อยให้ดอกเบี้ยติดลบยาวนานเกินไปจะมีผลต่อเสถียรภาพ เพราะจะนำไปสู่พฤติกรรม Search for Yield การออมและการกู้ในระบบ” เศรษฐพุฒิกล่าว
เล็งออกมาตรการช่วยลูกหนี้เรื้อรัง
เศรษฐพุฒิเปิดเผยอีกว่า ปัจจุบัน ธปท. มีความกังวลเกี่ยวกับภาวะหนี้ใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มหนี้รหัส 21 ที่กลายเป็น NPL จากภาวะโควิด 2. กลุ่มหนี้เรื้อรังที่ผู้กู้ไม่สามารถปิดจบได้ 3. กลุ่มหนี้ที่เพิ่มขึ้นเร็ว และ 4. กลุ่มหนี้นอกระบบ โดยหนึ่งในหลักการที่ ธปท. จะนำมาใช้ดูแลหนี้เหล่านี้คือ การปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบหรือ Responsible Lending ซึ่งจะครอบคลุมวงจรหนี้ตั้งแต่ช่วงก่อนเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ กลายเป็นหนี้ที่มีปัญหา และเมื่อหนี้ถูกขายออกไป
“เราจะนำหลักการ Responsible Lending มาใช้กับทุกช่วงในวงจรหนี้ เช่น ในช่วงก่อนเป็นหนี้ เราจะเข้าไปดูตั้งแต่การโฆษณา ผู้ปล่อยกู้ต้องบอกข้อมูลให้ครบถ้วนว่าผู้กู้ต้องผ่อนนานแค่ไหน กี่งวด แต่ละงวดต้องผ่อนเท่าไร ไม่ใช่บอกแค่ว่า 0% กี่เดือน นอกจากนี้ เมื่อลูกหนี้มีปัญหาเจ้าหนี้ควรมีมาตรการ Preemptive ช่วยปรับโครงสร้างหนี้ การยึดทรัพย์ต้องเป็นทางเลือกสุดท้ายจริงๆ และเมื่อเจ้าหนี้มีการขายหนี้ออกไป ลูกหนี้ก็ต้องรู้สิทธิของเขาด้วย” เศรษฐพุฒิกล่าว
นอกจากนี้ ธปท. ยังมีแผนจะออกมาตรการเฉพาะมาช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเรื้อรังที่ใช้สินเชื่อเงินสดส่วนบุคคลหมุนเวียน (Revolving P-Loan) และไม่สามารถปิดจบหนี้ได้ หรือต้องใช้เวลานานในการปิดหนี้ โดยกลุ่มคนที่เข้าข่ายจะได้รับความช่วยเหลือจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ 1. ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีการผ่อนจ่ายดอกเบี้ยสะสมมามากกว่าเงินต้นสะสม และ 2. มีรายได้น้อยตามเกณฑ์ที่ ธปท. ระบุ
“ลูกหนี้ที่เข้าเงื่อนไขนี้จะได้รับการเสนอจากธนาคารเจ้าหนี้ให้เข้ามาแปลงวงเงินหนี้ จากสินเชื่อส่วนบุคคลที่มีเพดานดอกเบี้ย 25% เป็นสินเชื่อแบบผ่อนชำระเป็นรายงวดหรือ Term Loan โดยเจ้าหนี้จะคิดดอกเบี้ยในอัตราที่น้อยกว่า 15% แต่ต้องปิดจบภายใน 5 ปี และถูกนำชื่อเข้าระบบเครดิตบูโร แต่มาตรการนี้จะขึ้นอยู่กับความสมัครใจของลูกหนี้ด้วย ไม่ได้เป็นการบังคับ” เศรษฐพุฒิกล่าว
ทั้งนี้ มาตรการ Responsible Lending จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 ขณะที่มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เรื้อรังจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน 2567 เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์มีเวลาปรับตัว
3 ใบอนุญาต Virtual Bank เพียงพอ
ผู้ว่า ธปท. ยังชี้แจงถึงกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การออกใบอนุญาต Virtual Bank จำนวน 3 แห่งของ ธปท. ว่ามีจำนวนน้อยเกินไป โดยระบุว่า โจทย์ในการเปิดให้มี Virtual Bank ของ ธปท. คือต้องการเห็นนวัตกรรมและบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ซึ่งช่วยให้กลุ่มคน Underserved ที่ยังเข้าไม่ถึงการเงินในระบบ เข้าถึงการเงินในระบบได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ช่วยกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันรูปแบบใหม่ๆ ในระบบ
“โจทย์ของเราคือทำให้จำนวน Virtual Bank อาจไม่ต้องมากนัก แต่ต้องมีขนาดใหญ่พอ เพราะถ้าเล็กเกินไปก็ไม่สามารถแข่งขันกับผู้เล่นในปัจจุบันได้ นอกจากนี้ ในช่วงปีแรกๆ ที่เปิดดำเนินการ Virtual Bank จะประสบกับภาวะขาดทุนแน่นอน เพราะต้องลงทุนระบบ IT สูง โดยแบบจำลองพบว่ามีโอกาสที่ Virtual Bank อาจขาดทุนปีละเป็นพันล้านบาท ผู้ที่จะเข้ามาจึงต้องมีขนาดใหญ่พอ ในต่างประเทศ Kakao ของเกาหลีใช้เวลาถึง 3 ปีกว่าจะมีกำไร Starling Bank ในอังกฤษต้องใช้เวลาถึง 6 ปี และมีอีกหลายแห่งที่ต้องปิดตัวไป” เศรษฐพุฒิกล่าว
ผู้ว่า ธปท. ยังยกตัวอย่างของ Virtual Bank ในต่างประเทศมาเทียบเคียงกับไทยว่า ปัจจุบันไทยมีธนาคารพาณิชย์เต็มรูปแบบ 17 แห่ง, เกาหลีใต้มี 52 แห่ง, มาเลเซียมี 42 แห่ง และสิงคโปร์มี 34 แห่ง เมื่อนำมาเทียบกับจำนวน Virtual Bank ของแต่ละประเทศ ที่ไทยมี 3 แห่ง, เกาหลีใต้มี 3 แห่ง, มาเลเซียมี 5 แห่ง และสิงคโปร์มี 4 แห่ง ถือว่าจำนวน Virtual Bank ของไทยก็มีความเหมาะสม
ห่วงเปิดเยอะต้องตามปิด
“ถ้าเรามีการเปิดธนาคารเพิ่มขึ้นเยอะๆ ผมรับประกันเลยว่าเราต้องไปตามปิด เพราะยิ่งมีธนาคารเยอะโอกาสที่จะเกิดปัญหาก็เยอะตาม ดูจากกรณี Silicon Valley Bank ของสหรัฐฯ ที่ตอนยังอยู่ไม่ถึงกับว่าเป็นธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ แต่ตอนปิดตัวมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น เราจึงไม่ควรมีธนาคารมากเกินไป การมีผู้เล่นเยอะอาจไม่ทำให้ดอกเบี้ยต่ำลงเสมอไป ดูตัวอย่างในธุรกิจเช่าซื้อที่มีผู้เล่นหลักพันรายแต่ดอกเบี้ยก็ยังกระจุกตัวอยู่ที่เพดาน สุดท้ายจะขึ้นกับความเสี่ยงของผู้กู้ด้วย” เศรษฐพุฒิกล่าว
สำหรับความคืบหน้าของร่างหลักเกณฑ์ใบอนุญาต Virtual Bank ล่าสุดของ ธปท. คาดว่าจะสามารถส่งให้กระทรวงการคลังได้ในสิ้นเดือนนี้ และจะเริ่มเปิดรับสมัครได้ในสิ้นปีนี้ ก่อนจะประกาศผลในปี 2567 และให้เริ่มเปิดดำเนินธุรกิจได้ในปี 2568