นักลงทุนทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับตลาดตราสารหนี้เอเชียมากขึ้นเรื่อยๆ หลังเดิมพันว่าสกุลเงินท้องถิ่นหลายประเทศจะได้รับอานิสงส์จากแนวโน้มการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะตลาดอินโดนีเซียและเกาหลีใต้ แต่ยังคงระมัดระวังการลงทุนในตลาดจีน ในช่วงที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอ่อนแอ ขณะที่ตลาดพันธบัตรไทยตั้งแต่ต้นปียังพบแรงขายสุทธิ
ตามรายงานของ Australia and New Zealand Banking Group (ANZ) ระบุว่า นักลงทุนต่างชาติเพิ่มการถือครองในตลาดตราสารหนี้เอเชียเกิดใหม่นอกประเทศจีนเพิ่มถึง 2.02 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ซึ่งนับเป็นตัวเลขสูงสุดในรอบ 2 ปี
โดยพันธบัตรเกาหลีใต้และอินโดนีเซียกลายเป็นตลาดที่น่าดึงดูดมากที่สุดในหมู่นักลงทุนต่างชาติ โดยดึงดูดเงินเข้าไป 8.2 พันล้านดอลลาร์ และ 4.4 พันล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ขณะที่ตลาดบอนด์จีนก็พบเงินไหลออกสุทธิ 2.96 หมื่นล้านดอลลาร์ ในช่วงเวลาเดียวกัน
อ้างอิง: Nikkei Asia
ด้าน Jean-Charles Sambor หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้ตลาดเกิดใหม่ของ BNP Paribas Asset Management กล่าวว่า พันธบัตรประเทศต่างๆ ในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้และอินโดนีเซีย กำลังได้รับประโยชน์จากนักลงทุนที่เดิมพันกับการสิ้นสุดยุคดอลลาร์แข็งค่า เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ใกล้จะจบรอบดอกเบี้ยขาขึ้นแล้ว
ขณะที่ Nigel Foo หัวหน้าฝ่ายตราสารหนี้เอเชียของ First Sentier Investors ในสิงคโปร์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายของ Fed ที่กำลังจะเกิดขึ้น มาถึงอย่างถูกเวลาสำหรับเศรษฐกิจในเอเชีย เนื่องจากธนาคารกลางในเอเชียสามารถกดเงินเฟ้อมาอยู่ภายใต้การควบคุมได้แล้ว และพร้อมที่จะลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นการเติบโต พร้อมทั้งระบุว่า “สิ่งนี้หมายความว่านักลงทุนอาจจะได้รับผลตอบแทนพันธบัตรประมาณ 3-4% และยิ่งไปกว่านั้น นักลงทุนอาจจะได้รับกำไรจากการแข็งค่าของสกุลเงินท้องถิ่นอีก 3% เหมือนกับได้ผลตอบแทนรวม 7%”
Foo กล่าวอีกว่า กองทุนที่เขาดูแลอยู่ถือหุ้นกู้ของ Hyundai Motors ในเกาหลีใต้อยู่ และกำลังมองหาผู้ออกหุ้นกู้รายอื่นจากเกาหลีใต้ด้วย รวมถึงโอกาสในบอนด์ที่ออกโดยบริษัทน้ำมันรัฐวิสาหกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอินโดนีเซียอย่าง Perusahaan Listrik Negara (PLN) เนื่องจากสภาพคล่องที่เพียงพอ และสภาพแวดล้อมทางการเมืองที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพในอินโดนีเซีย
โดยหุ้นกู้ที่ออกโดย PLN, Hyundai, Export-Import Bank of Korea, TSMC และ PETRONAS ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของมาเลเซีย กลายเป็นหนึ่งในหุ้นกู้ที่มีการซื้อขายมากที่สุดใน MarketAxess ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการซื้อขายตราสารหนี้ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq
จับตาโฟลวไหลเข้าตลาดบอนด์จีนชะงัก
Robert Hong หัวหน้าฝ่าย Asia-Pacific Fixed Income จาก StoneX ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการทางการเงิน กล่าวว่า ตลาดบอนด์ของจีนขณะนี้กำลังได้รับความนิยมน้อยลง เนื่องจากความกังวลว่าเงินหยวนจะอ่อนค่าลงอีก จากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญของรัฐบาลจีน และความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ
Sambor กล่าวว่า BNP Paribas Asset Management ได้ลดความเสี่ยงในการลงทุนตราสารหนี้ของจีนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากการอ่อนค่าของเงินหยวน (RMB) เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ
โดย Foo ยังกล่าวว่า เงินหยวนไม่น่าจะได้รับประโยชน์จากการลดอัตราดอกเบี้ยของ Fed ตราบใดที่เศรษฐกิจจีนยังพยายามฟื้นตัว
ตลาดบอนด์ ‘ไทย’ หมดความน่าดึงดูด ถูกขายสุทธิตั้งแต่ต้นปี
ตามข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2023 (YTD) กระแสเงินลงทุนสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ (Non-resident Net Flows) ขายสุทธิหรือติดลบ 75,823 ล้านบาท เทียบกับซื้อสุทธิที่ 46,611 ล้านบาทในปี 2022 และซื้อสุทธิ 144,214 ล้านบาทในปี 2021
โดย สงวน จุงสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานธุรกิจตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัจจัยที่ทำให้ต่างชาติขายสุทธินั้น เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้ว ตลาดบอนด์ไทยไม่ได้เป็นตลาดที่มีเสน่ห์อยู่แล้วในสายตาของนักลงทุนต่างชาติในรอบหลายปีที่ผ่านมา เพราะอัตราผลตอบแทนที่ต่ำ (Low Yield) เมื่อเทียบกับอินโดนีเซียที่มีผลตอบแทน 5-6% แต่ไทยอยู่ที่ราว 2% เท่านั้น ดังนั้นเสน่ห์และความน่าสนใจจึงจะไปอยู่ในตลาดผลตอบแทนสูง (High Yield) มากกว่า
สำหรับปัจจัยด้านการเมืองไทย สงวนมองว่ามีผลต่อตลาดบอนด์น้อย เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาที่ตลาดบอนด์ไทยเป็น Net Sell ก็ไม่ได้มาจากการเมืองเสียทีเดียว แต่มาจากความไม่น่าสนใจ และการเข้าไป Overweight ในประเทศอื่นของนักลงทุนมากกว่า
แต่ในระยะยาว หากปัจจัยทางการเมืองคลี่คลายโดยเร็วก็จะเป็นส่วนสนับสนุน อย่างน้อยที่สุดก็ในแง่ที่ว่าเศรษฐกิจและการบริโภคก็จะกลับมาขยายตัว ทำให้สินทรัพย์สกุลเงินบาททุกประเภท ทั้งหุ้นและบอนด์กลับมาน่าสนใจอีกครั้ง
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงประเด็นเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ หลังเกิดกรณีการผิดนัดชำระหุ้นกู้ของบริษัทในประเทศไทย 3-4 แห่งในปีนี้ สงวนมองว่า พันธบัตรรัฐบาลไทยมีนักลงทุนต่างประเทศถืออยู่ประมาณ 10% เท่านั้น ขณะที่ในตลาดตราสารหนี้ไทยสัดส่วนดังกล่าวก็มีน้อยมาก เนื่องมาจากข้อกำหนดในการเสียภาษีในตลาดตราสารหนี้เอกชนสำหรับนักลงทุนชาวต่างชาติที่แพงกว่านักลงทุนไทย ทำให้ไม่ค่อยมีนักลงทุนต่างประเทศถือหุ้นกู้เอกชนไทย
ดังนั้น กรณีการผิดนัดชำระที่ผ่านมาจึงอาจจะส่งผลกระทบทางอ้อม (เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติไม่ได้ถือหุ้นกู้บริษัทไทย) ต่อประเด็นเรื่องความน่าเชื่อถือในด้านบรรษัทภิบาลและธรรมาภิบาลของบริษัทไทย และระบบการกำกับตรวจสอบของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ว่ามีความเข้มแข็งขนาดไหน
วิเคราะห์แนวโน้มการอ่อนค่าของดอลลาร์ต่อสินทรัพย์สกุลเงินบาท
สงวนกล่าวอีกว่า การที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าจะทำให้เกิดแรงจูงใจในการเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (EM) โดยรวมมากขึ้น อย่างเช่นในช่วงหลังวิกฤตซับไพรม์ ช่วงที่ดอกเบี้ยต่ำและค่าเงินดอลลาร์อ่อน ช่วงนั้นมีกระแสเงินทุนไหลออกจากสหรัฐอเมริกาไปทั่วโลก และภูมิภาคที่ได้ประโยชน์ก็คือเอเชีย
“ดังนั้นเรามีความคาดหวังได้ว่า ถ้าระยะยาวเงินดอลลาร์อ่อนและเงินบาทแข็งเมื่อเทียบดอลลาร์ อาจจะมีเงินทุนไหลเข้ามาในตลาดไทยและทั่วทั้งตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย”
จับตาตลาดบอนด์ไทยช่วงที่เหลือของปี
นอกจากนี้สงวนยังมองว่า มีโอกาสที่ต่างชาติจะซื้อสุทธิบอนด์ไทยภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินที่ผ่านมา แบงก์ชาติยังคงแสดงความกังวลเรื่องเงินเฟ้ออยู่ จึงดูเหมือนว่ายังมีแนวโน้มที่จะขึ้นดอกเบี้ยต่อ แม้ว่าน่าจะจบรอบภายในปีนี้ก็ตาม
“แบงก์ชาติอาจจะขึ้นดอกเบี้ยไปสักครั้งหนึ่งก่อน แล้วก็บอกว่าระหว่างนี้ยังขอจับตาพัฒนาการของข้อมูลดูก่อน” พร้อมทั้งระบุอีกว่า “ดังนั้นผมคิดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะจบที่ 2.25% แล้วก็รอดูไป”
อ้างอิง: