×

เปิดนโยบายพลังงานที่กำลังเคว้ง รอ ‘ผู้นำ’ รัฐบาลใหม่ หลังรัฐเลิกอุ้มภาษีดีเซล-แพ็กเกจ EV ใกล้สิ้นสุด

13.07.2023
  • LOADING...
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

ส่องนโยบายพลังงาน ทั้งมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ที่กำลังจะสิ้นสุดลงวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ และมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV 3.5 ท่ามกลางเสียงสะท้อนภาคเอกชน ต่างรอการตัดสินใจจาก ‘ผู้นำ’ รัฐบาลชุดใหม่ 

 

หลังจากที่รัฐบาลโดยกรมสรรพสามิตไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิต เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซล ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 เป็นต้นไป นับเป็นเวลากว่า 2 ปีที่รัฐใช้มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร และใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยนำเอา ‘ภาษี’ มาบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2565 

 

โดยที่ผ่านมามีกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตรวมทั้งสิ้นถึง 7 ฉบับ ส่งผลกระทบต่อคลังรัฐถึงสองทาง ทั้งภาครัฐสูญเสียรายได้ทางภาษีประมาณ 156,000 ล้านบาท และกองทุนน้ำมันมีสถานะติดลบสะสมอยู่ที่ 52,270 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 6,598 ล้านบาท บัญชี LPG ติดลบอีก 45,672 ล้านบาท

 

เหตุที่รัฐบาลไม่สามารถต่อเวลาไปได้อีกนั้น เนื่องด้วยปัจจุบันมีทั้งข้อจำกัดทางกฎหมาย โดยเฉพาะการเป็น ‘รัฐบาลรักษาการ’ ไม่มีอำนาจพิจารณามาตรการหรือโครงการต่างๆ ได้อีกต่อไป กล่าวคือ กรณีที่ ครม. ได้กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อ ครม. ชุดต่อไปตามมาตรา 169 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะไม่สามารถดำเนินการได้ จึงทำให้ไม่สามารถต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลต่อไปได้ 

 

ใจความสำคัญคือ ตัดไฟตั้งแต่ต้นลมที่จะเป็นปัญหาต่อข้อผูกพันกับรัฐบาลใหม่

 

ประกอบกับหากพิจารณาสถานการณ์พลังงานโลกขณะนี้ ราคาน้ำมันในตลาดโลกปริ่มปรับลดลงเหลือเฉลี่ย 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้แรงกดดันที่จะผลักภาระไปให้ผู้บริโภคเริ่มน้อยลง 

 

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวจากกรมสรรพสามิตย้ำว่าประเด็นนี้ต้องหารือกับกระทรวงพลังงาน เพื่อกำหนดแนวทางดูแลราคาน้ำมันไม่ให้กระทบต่อทุกฝ่าย

 

เอกชนหวั่นกระทบต้นทุนขนส่ง ภาคการผลิต

ต่อประเด็นข้างต้น เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า หากกรมสรรพสามิตไม่ต่ออายุมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร จะส่งผลต่อ ‘ต้นทุนด้านพลังงาน’ ที่จะปรับขึ้นทันที ซึ่งหากหน่วยงานด้านพลังงานไม่มีแนวทางเข้ามาช่วยเหลือ สิ่งที่จะกระทบเป็นอันดับแรกคือต้นทุนขนส่งของผู้ประกอบการและภาคการผลิต

 

โดยปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 32 บาทต่อลิตร หากสิ้นสุดมาตรการ ราคาน้ำมันดีเซลจะปรับขึ้นเป็น 37 บาทต่อลิตรทันที จะกระทบต่อต้นทุนที่พุ่งขึ้น 10% ส่งผลไปถึงผู้ผลิตและผู้บริโภค ในแง่ของราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้น 8-10% โดยเฉพาะสินค้าพืชผลทางการเกษตรที่ต้องขนส่งสินค้าจำนวนมาก รวมไปถึงสินค้ากลุ่มอื่นๆ ในภาคอุตสาหกรรม เช่น อิเล็กทรอนิกส์ จะปรับขึ้นราว 2-3% 

 

“ภาคเอกชนจึงอยากให้กระทรวงพลังงานมีมาตรการรองรับเพื่อไม่ให้เป็นภาระต้นทุนของผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่ขณะนี้มีภาระต้นทุนจากดอกเบี้ยอยู่แล้ว” เกรียงไกรกล่าว

 

กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอมาตรการรองรับ

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า ภายในสัปดาห์หน้า คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะประชุมสรุปแนวทางเบื้องต้น โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) จะเสนอกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อดูแลโดยตรึงราคาไว้ให้มากที่สุด 

 

โดยวางสมมติฐาน (Scenario Analysis) ไว้ 2 แนวทาง ได้แก่

 

  1. กรณีนโยบายภาครัฐให้ขึ้นภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท หลังวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 จะรักษาระดับราคาดีเซลลิตรละ 32 บาท ด้วยการลดการจัดเก็บเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงลิตรละ 5 บาท โดยกองทุนสำหรับดีเซลจะเหลือลิตรละ 43 สตางค์

 

  1. กรณีรัฐบาลต้องการให้ลดราคาดีเซลต่ำกว่าลิตรละ 32 บาท รัฐบาลต้องใช้นโยบายภาษีเข้ามาร่วมดูแลด้วย โดยแทนที่จะขึ้นทันทีลิตรละ 5 บาท ก็จะต้องทยอยขึ้น อาจจะเป็น 2-3 บาทต่อลิตร ซึ่งแนวทางนี้กองทุนน้ำมันจะร่วมดูแล เช่น หากต้องการเห็นดีเซล 30 บาทต่อลิตร ก็ต้องลดภาษีต่ออีก 2 บาทต่อลิตร โดยไม่เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน

 

“หากลดลงจนเก็บได้เกิน 5 บาทต่อลิตร ก็สามารถลดการเก็บเงินดังกล่าวไปชดเชยภาษีได้ทันที หรือหากดีเซลโลกปรับขึ้นเล็กน้อยอาจใช้วิธีชดเชยราคาเพิ่มเพื่อตรึงราคาดีเซลต่อไป” 

 

ทั้งนี้ ต้องประเมินจากทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลก และท้ายที่สุดต้องรออำนาจการตัดสินใจจากนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลชุดใหม่

 

ลุ้นนโยบาย EV อาจ ‘ปรับโครงสร้าง’

อีกมาตรการด้านพลังงานที่ใกล้จะสิ้นสุดในช่วงไตรมาสสุดท้าย คือมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า หรือเรียกสั้นๆ ว่าแพ็กเกจ EV 3.5 

 

ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขานุการร่วมบอร์ด EV ระบุว่า ต้องรอความชัดเจนด้านนโยบายจากรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะปรับโครงสร้างอย่างไรหรือไม่ 

 

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ระบุว่า ได้รับเสียงสะท้อนจากนักลงทุนและผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) หากได้รัฐบาลชุดใหม่ขอให้อนุมัติโดยเร็ว เพื่อสานต่อนโยบายผลิตรถยนต์ EV และการผลิตแบตเตอรี่ในไทยเดินหน้าต่อไปไม่สะดุด 

 

เนื่องจากหากดูทิศทางส่งเสริมการลงทุนด้าน EV ในปัจจุบัน ถือว่าได้รับการตอบรับดีอย่างมาก ซึ่งจะเห็นว่า NETA, BYD การลงทุนแบตเตอรี่ และอีกหลายค่ายรถ เตรียมเข้ามาก่อสร้างทั้งโรงงานผลิตและโรงงานประกอบในประเทศไทย และจะเป็นเรื่องที่ดีที่จะเข้ามาสนับสนุนการใช้รถ EV ในประเทศมากขึ้น โดยปีนี้คาดว่ายอดจดทะเบียนป้ายแดง EV จะสูงถึง 60,000 คัน

 

มาตรการ EV 3.5 คืออะไร

ก่อนหน้านี้รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นและให้สิทธิประโยชน์เพียงมาตรการ EV 3.0 ที่เน้นดึงดูดนักลงทุนด้วยการออกแพ็กเกจผ่านส่วนลดผู้ซื้อสูงสุด 1.5 แสนบาทต่อคัน และค่ายรถยนต์ต้องผลิตชดเชยตามจำนวนที่นำเข้า แต่เพื่อเป็นการเน้นจูงใจค่ายรถที่ยังไม่ร่วมอย่างค่ายยุโรปที่ตลาด EV ในประเทศเติบโตสูงมาก จึงเพิ่มเป็นแพ็กเกจ 3.5

 

สำหรับมาตรการ EV 3.5 ที่เพิ่มมานั้น ในเบื้องต้นรัฐจะอุดหนุนผ่านส่วนลดรถยนต์ EV นำเข้าประมาณ 1 แสนบาทต่อคัน และกำหนดให้ค่ายรถยนต์ต้องตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยประมาณ 2-3 เท่าจากจำนวนที่นำเข้า 

 

หมายความว่าแม้ภาพรวมสิทธิประโยชน์จะน้อยกว่า แต่จะครอบคลุมแผนการผลิตที่มากกว่า

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่มาตรการเหล่านี้จะหมดอายุสิ้นปีนี้ ขณะนี้ต้องรอความชัดเจนจากรัฐบาลชุดใหม่พิจารณาเท่านั้น หากยึดแผนเดิมก็สามารถเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X