บริษัททั่วโลกก่อหนี้ใหม่สุทธิสูงถึง 4.56 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2022/23 ทำให้ยอดหนี้คงค้างของบริษัททั่วโลกแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นในหลายประเทศน่าจะทำให้ความต้องการกู้ยืมเงินใหม่ในอนาคตลดลง
Janus Henderson บริษัทจัดการสินทรัพย์ระดับโลกสัญชาติอังกฤษ-อเมริกัน เปิดเผยรายงาน Corporate Debt Index ประจำปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า หนี้สินใหม่สุทธิ (Net New Debt) ของบริษัททั่วโลกที่เกิดขึ้นในปี 2022/23 ได้ผลักดันให้ยอดหนี้สุทธิคงค้าง (Outstanding Net Debt) เพิ่มขึ้น 6.2% คิดเป็น 7.8 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งแซงหน้าจุดสูงสุดก่อนหน้าในปี 2020/21 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดหนักไปได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ยอดล้มละลายบริษัททั่วโลกพุ่งอีกระลอก! ผู้เชี่ยวชาญเตือนสถานการณ์อาจเลวร้ายยิ่งขึ้น
- จับตา 5 ความเสี่ยงเศรษฐกิจ ระเบิดเวลาที่อาจยุติวงจรดอกเบี้ยขาขึ้นของ Fed และธนาคารกลางอื่นเร็วๆ นี้
- Fed คาด แบงก์ใหญ่ในสหรัฐฯ อาจสูญเสียเงิน 5.41 แสนล้านดอลลาร์หากเกิดวิกฤตการเงินครั้งใหญ่
โดย Corporate Debt Index ซึ่งติดตามบริษัทขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินจดทะเบียน 933 แห่งทั่วโลก แสดงให้เห็นว่า Verizon บริษัทโทรคมนาคมของสหรัฐ กลายเป็นบริษัทที่มีหนี้มากที่สุดในปี 2022/23 ขณะที่ Alphabet Inc. เจ้าของ Google ยังคงครองตำแหน่งบริษัทที่ร่ำรวยเงินสดมากที่สุด
Janus Henderson กล่าวอีกว่า 1 ใน 5 ของหนี้สุทธิที่เพิ่มขึ้น มาจากบริษัทต่างๆ เช่น Alphabet และ Meta ซึ่งเป็นเจ้าของ Facebook และ Instagram โดยการใช้จ่ายบางส่วนนี้ก็มาจาก ‘ภูเขาเงินสดจำนวนมหาศาล’ (Vast Cash Mountains) นั่นเอง
ดังนั้น James Briggs ผู้จัดการพอร์ตโฟลิโอตราสารหนี้ของ Janus Henderson ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) มูลค่า 310,500 ล้านดอลลาร์กล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้สินในปี 2022/23 จึง ‘ไม่น่ากังวล’
รายงานยังระบุอีกว่า แม้ว่าขณะนี้คุณภาพสินเชื่อขององค์กรต่างๆ จะยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ก็มีแนวโน้มที่จะลดลงในอนาคต โดย James Briggs มองว่า อัตราการลดลงจะขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของตลาดแรงงานและภาคบริการ
นอกจากนี้ รายงานยังคาดว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้ความต้องการกู้ยืมของบริษัทลดลง โดยคาดว่าหนี้สุทธิจะลดลง 1.9% ในปี 2023/24 โดยลดลงเหลือ 7.65 ล้านล้านดอลลาร์
ทั้งนี้ บริษัทในสหรัฐฯ ซึ่งส่วนใหญ่พึ่งพิงพันธบัตรอัตราดอกเบี้ยคงที่เป็นแหล่งเงินทุนหลัก จึงยังได้รับการปกป้องเป็นพิเศษจนถึงตอนนี้ ต่างจากในยุโรป ซึ่งส่วนใหญ่หาเงินทุนจากธนาคาร ทำให้บริษัทต่างๆ เริ่มรู้สึกถึงแรงกดดันจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวที่สุดในรอบทศวรรษ
อ้างอิง: