วันนี้ (11 กรกฎาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีเหตุการณ์โครงการก่อสร้างทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบังถล่ม ในพื้นที่เขตลาดกระบัง ว่า ตอนนี้ได้สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งหาสาเหตุซึ่งอยู่ระหว่างตรวจสอบ
เบื้องต้นจากการเรียกบริษัทผู้รับจ้างมาชี้แจงสาเหตุทราบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในขั้นตอนที่ Launcher หรือตัวยึดด้านบนกำลังดึงลวด Segment จุดที่เป็น Haft Joint ที่ยื่นออกมา เกิดความผิดพลาดของโครงสร้างและกระบวนการก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แน่ชัดได้ ขอเวลาให้ผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่ตรวจสอบให้แน่ชัดอีกครั้งก่อนจะสรุปสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุ
ชัชชาติกล่าวต่อว่า ในการบริหารงานของตนไม่ได้มีการเปลี่ยนแบบก่อสร้าง แต่เป็นทางผู้รับเหมาขอยื่นเรื่องมาทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2565 จากรูปแบบการหล่อเสาในพื้นที่ เปลี่ยนมาเป็นสั่งทำจากโรงงานและนำเข้าพื้นที่ เพื่อย่นระยะเวลาในการก่อสร้างให้เสร็จตามสัญญาว่าจ้างที่จะครบกำหนดในวันที่ 11 สิงหาคมนี้ และประหยัดพื้นที่ ไม่เกะกะการจราจรของประชาชนที่สัญจร ถึงแม้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
ความเสียหายที่เกิดขึ้นหลังจากนี้จะมีบริษัทประกันภัยเข้ามาตรวจสอบ และจ่ายสินไหมเยียวยาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบตามระเบียบของกรุงเทพมหานคร ส่วนผู้บาดเจ็บตอนนี้มี 13 ราย เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งบริษัทผู้รับเหมาจะต้องรับผิดชอบทุกขั้นตอน
นอกจากนี้ยังเน้นย้ำถึงประชาชนว่า การสื่อสารข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับเหตุที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางออนไลน์ ขอให้พิจารณาเรื่องความถูกต้องของข้อมูลอย่างรอบคอบ เพราะการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าในระบบออนไลน์จะมีความผิดตามกฎหมาย พร้อมเตือนว่า การแสดงความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นควรรับข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้จึงจะดีที่สุด
ชัชชาติกล่าวต่อว่า กทม. ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อตรวจสอบและช่วยเหลือผู้เคราะห์ร้ายที่ติดอยู่ภายใต้ซากปรักหักพังแล้ว รวมทั้งการเคลื่อนย้ายโครงสร้างที่หักพัง ซึ่งจะต้องใช้ความระมัดระวังเพราะโครงสร้างไม่เสถียร อาจเกิดการถล่มซ้ำได้ โดยคาดว่าจะเคลื่อนย้ายแล้วเสร็จภายในวันนี้
ชัชชาติกล่าวย้ำว่า อยากได้ผู้รับเหมาที่มีคุณภาพเพราะการก่อสร้างมีความเสี่ยงกับสาธารณะ ต้องหาวิธีการที่มีความปลอดภัยเข้มข้นที่สุด ไม่ใช่ทุกคนทำผิดแล้วมาทำใหม่ ทุกอย่างต้องทำตามกรอบของกฎหมาย เรื่องนี้ไม่ได้จับผิดใครแต่เป็นการป้องกันเหตุ ทั้งนี้ กทม. มีวิศวกรและนายช่างควบคุมงานตรวจงานประกบผู้รับเหมาในทุกการก่อสร้างอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม ได้กำชับให้สำนักการโยธาจัดการพื้นที่ขนย้ายชิ้นส่วนซากปรักหักพังออกจากพื้นที่ให้แล้วเสร็จภายใน 3 วัน เพื่อเตรียมเปิดการจราจร