×

ศาลฎีกาพิพากษา ธาริต 2 ปีไม่รอลงอาญา แจ้งข้อหากลั่นแกล้ง อภิสิทธิ์-สุเทพ สลายม็อบ นปช. ปี 53 ชี้เจตนากลั่นแกล้งชัดเจน สนองรัฐบาลยิ่งลักษณ์

โดย THE STANDARD TEAM
10.07.2023
  • LOADING...
ธาริต เพ็งดิษฐ์

วันนี้ (10 กรกฎาคม) ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดฟังคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลฎีกา ครั้งที่ 10 คดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ หมายเลขดำ อ.310/2556 ที่อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ผอ.ศอฉ.) ร่วมกันเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง ธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), พ.ต.ท. วรรณพงษ์ คชรักษ์ อดีตหัวหน้าชุดสอบสวนคดีการเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุรุนแรงทางการเมืองปี 2553, พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ และ ร.ต.อ. ปิยะ รักสกุล ในฐานะพนักงานสอบสวน เป็นจำเลยที่ 1-4 

 

ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต และเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนกระทำการโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ผู้อื่นได้รับโทษอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ 200 วรรคสอง กรณี ธาริตกับพวกแจ้งข้อหาดำเนินคดีอภิสิทธิ์ และสุเทพ ฐานสั่งฆ่าประชาชน ในการสลายม็อบแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อปี 2553 

 

ในเวลา 17.30 น. ศาลได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำร้องที่ธาริต จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อศาลฎีการวม 5 ฉบับ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องทั้งหมด

 

ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา โดยพิเคราะห์พยานหลักฐานมีข้อที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้งหมดทำผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ เห็นว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยจำเลยที่ 1 ทราบอยู่แล้วว่าตนเองและหน่วยงานไม่มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนบุคคลทั้งสองที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ที่มีอำนาจหน้าที่สรุปสำนวนเรื่องให้อัยการสูงสุดเพื่อฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งเป็นข้อพิรุธ 

 

และในที่ประชุมเมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2555 จำเลยที่ 1 ได้แสดงความคิดเห็นชี้นำให้พนักงานกรมสอบสวนคดีพิเศษสืบสวนหาหลักฐาน และรวบรัดเชิญโจทก์ทั้งสองมารับทราบข้อกล่าวหา 

 

อีกทั้งในขณะนั้นเป็นช่วงรัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เป็นน้องสาวของทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ขั้วตรงข้ามทางการเมืองกับโจทก์ทั้งสอง ฟังได้ว่าเป็นการกลั่นแกล้งให้โจทก์ทั้งสองได้รับโทษทางอาญา เพื่อสนองความต้องการของรัฐบาลใหม่ 

 

หลังจากนั้นธาริตได้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษอีก 1 ปี

 

พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมา รับฟังโดยปราศจากข้อสงสัย ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้องจริง 

 

มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2-4 กระทำผิดตามฟ้องด้วยหรือไม่ ศาลเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ที่ 1 และ 2 ยังไม่แน่ชัด และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2-4 ได้รับประโยชน์อย่างไรจากการแจ้งข้อกล่าวหาต่อโจทก์ทั้งสอง แต่ที่ทำสำนวนมาจากการรับคดีและการชี้นำของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2-4 อาจทำคดีโดยสุจริตยังมีข้อสงสัยในข้อกล่าวหาในคำฟ้อง จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยที่ 2-4 

 

การลงโทษตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ให้จำคุกจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 2-4 พิพากษาแก้ให้ยกฟ้อง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างฟังคำพิพากษา ธาริตมีสีหน้าเรียบเฉย ไม่แสดงอาการแต่อย่างใด ต่อมาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เดินมาควบคุมตัวธาริต เพื่อนำตัวไปไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตามคำพิพากษาศาลฎีกา

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X