อุตสาหกรรมอาหารมาแรงไม่แพ้ EV! บริษัทชั้นนำระดับโลก Lotus Biscoff หรือ บิสกิตดอกบัวในตำนาน สัญชาติเบลเยียม และมันฝรั่งพริงเกิลส์ จากสหรัฐอเมริกา เลือกขยายฐานผลิตในไทย BOI เผยยอดส่งเสริมลงทุน 6 เดือนทะลุกว่า 3.6 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 70% ปักหมุดพื้นที่ EEC เจาะกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาหารแปรรูป อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า EV ทั้งบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และสถานีชาร์จไฟฟ้า โดยจีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า บริษัทชั้นนำระดับโลกอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป มีแผนขยายการลงทุนในช่วง 6 เดือนในประเทศไทยมากขึ้น โดยอุตสาหกรรมอาหารถือเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ที่ปัจจุบันมีจำนวน 139 โครงการ เงินลงทุนรวม 51,270 ล้านบาท
โดยล่าสุดบริษัทระดับโลกที่ตัดสินใจขยายฐานผลิตมาที่ประเทศไทย ได้แก่ บริษัท โลตัส บิสคอฟ ผู้ผลิตบิสกิตชื่อดังในแบรนด์ Lotus Biscoff สัญชาติเบลเยียม และบริษัท พริงเกิลส์ ผู้ผลิตมันฝรั่งแผ่นจากสหรัฐอเมริกา โดยพริงเกิลส์เป็นบริษัทลูกของกลุ่ม Kellogg’s จากสหรัฐฯ ตัดสินใจเข้ามาลงทุนตั้งฐานผลิตที่จังหวัดชลบุรี เนื่องจากเล็งเห็นศักยภาพของประเทศไทยที่มีความพร้อม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘พานาโซนิค’ ย้ายฐานผลิตจากจีนและญี่ปุ่น สู่ประเทศไทย! BOI เผย ทุนต่างชาติแห่ลงทุนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ไทยทะลักกว่า 1.4 แสนล้านบาท
- ‘SVOLT’ ยักษ์แบตเตอรี่จีน ทุ่ม 1,250 ล้านบาท ปักหมุดไทยฐานผลิตแบตเตอรี่ EV แห่งแรกอาเซียน! ป้อน GWM และ NETA เริ่มสายพานผลิตปี 67
การลงทุนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่ม 7 เท่าตัว
นอกจากนี้อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 106 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุดกว่า 1.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังมีแนวโน้มขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง อันเนื่องจากกระแสย้ายฐานการผลิตของกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดความเสี่ยงจากสงครามการค้าและความขัดแย้งของขั้วมหาอำนาจ รวมทั้งต้นทุนการผลิตในโลกตะวันตกที่สูงขึ้นมาก
ประกอบกับนักลงทุนเชื่อมั่นในศักยภาพของไทย จึงเลือกขยายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย
โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ในกลุ่มแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) เซมิคอนดักเตอร์ การทดสอบแผงวงจรรวม และเวเฟอร์ ตัวเก็บประจุไฟฟ้า เซลล์แสงอาทิตย์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
EV และพลังงานไม่แผ่ว นักลงทุนทยอยปักหมุดไทยต่อเนื่อง
แน่นอนว่าอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวน 80 โครงการ เงินลงทุนรวม 19,600 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น ยางล้อ เพลาล้อ ชิ้นส่วนระบบส่งกำลังแบบ Hybrid และสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ EV โดยที่ผ่านมามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรม EV แบบครบวงจรของภาครัฐ ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นตลาดรถยนต์ EV และดึงดูดการลงทุนจากผู้ผลิตชั้นนำของโลก จนทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตหลักของยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน
โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ได้รับการส่งเสริมแล้ว 14 โครงการ เงินลงทุนรวม 33,970 ล้านบาท คิดเป็นกำลังการผลิต 276,640 คันต่อปี ประกอบด้วยผู้ผลิตชั้นนำ เช่น BYD, Great Wall Motor, SAIC (MG), Mercedes-Benz และ Horizon Plus ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ Foxconn Technology Group จากไต้หวัน
ขณะเดียวกันยังมีผู้ผลิตรายใหญ่อีกหลายรายที่ได้ประกาศแผนการลงทุนในไทยแล้ว เช่น Changan Automobile และ GAC AION ซึ่งคาดว่าจะทยอยยื่นคำขอรับการส่งเสริมในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
นอกจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย อีกกิจการหนึ่งที่มีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวนมากคือกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า โดยมีจำนวนถึง 195 โครงการ เงินลงทุน 26,207 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ จำนวน 186 โครงการ เงินลงทุน 8,332 ล้านบาท
ทั้งนี้ การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 306 โครงการ เงินลงทุนรวม 171,470 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 47% ของการลงทุนทั้งหมด โดยจังหวัดที่มีการขอรับการส่งเสริมสูงสุด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ตามลำดับ ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน รองลงมาเป็นการลงทุนในพื้นที่ภาคกลาง จำนวน 362 โครงการ เงินลงทุนรวม 75,190 ล้านบาท
ครึ่งปี FDI ทะลักไทย 304,041 ล้านบาท
สำหรับสถิติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน 6 เดือน (มกราคม-มิถุนายน) ปี 2566 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 891 โครงการ เพิ่มขึ้น 18% และมีมูลค่าเงินลงทุน 364,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับคำขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเป้าหมายมีจำนวน 464 โครงการ มูลค่ารวม 286,930 ล้านบาท คิดเป็น 79% ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ
สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 6 เดือนแรก มีจำนวน 507 โครงการ เพิ่มขึ้น 33% เงินลงทุน 304,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 141% โดยจีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 61,500 ล้านบาท จาก 132 โครงการ
ส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 2 ได้แก่ สิงคโปร์ 73 โครงการ เงินลงทุน 59,112 ล้านบาท ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าจะเป็นอันดับ 3 จำนวน 98 โครงการ เงินลงทุน 35,330 ล้านบาท แต่มูลค่าคำขอรับการส่งเสริมจากญี่ปุ่นเติบโตขึ้นกว่าเท่าตัวจากครึ่งแรกของปี 2565 ที่มีมูลค่า 16,793 ล้านบาท โดยมีโครงการขนาดใหญ่ในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์
การลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีทิศทางที่ดี
ขณะที่การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุดเพิ่มขึ้นมากเช่นเดียวกัน โดยในช่วง 6 เดือนแรก มีการออกบัตรส่งเสริมจำนวน 851 โครงการ เพิ่มขึ้น 24% เงินลงทุนรวม 234,690 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนจริงมากขึ้นในระยะ 1 ปีข้างหน้า
“การลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีทิศทางที่ดี ทั้งตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน และการออกบัตรส่งเสริม ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย ทั้งในด้านปัจจัยพื้นฐานและซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง รวมทั้งศักยภาพการเติบโตในระยะยาวของไทย ดังจะเห็นได้จากผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันประจำปี 2566 โดยสถาบัน IMD ที่ประเทศไทยขยับขึ้น 3 อันดับ
โดยเฉพาะด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจในปัจจัยย่อยด้านการลงทุนระหว่างประเทศ ที่ไทยดีขึ้นจากปีก่อนถึง 11 อันดับ จากอันดับ 33 ในปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 22 ในปีนี้ เนื่องจากการเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก ชี้ให้เห็นว่าท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลง ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ประเทศไทยคือคำตอบสำหรับนักลงทุน” นฤตม์กล่าว
LTR Visa ดึงดูดนักลงทุน ‘ยุโรป สหรัฐฯ จีน’ รวม 4,200 ราย
นอกจากการส่งเสริมโครงการลงทุน BOI ยังเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ประเทศไทย หรือ Long-Term Resident Visa (LTR Visa) จนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2566 มีผู้ยื่นขอ LTR Visa แล้วกว่า 4,200 ราย จากยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน ตามลำดับ
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการปรับปรุงขอบข่ายให้รองรับผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและธุรกิจในสาขาต่างๆ ที่มีความสำคัญให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น รวมถึงได้มีการรับรองตัวแทน (Certified Agent) เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติในการยื่นขอ LTR Visa รวมถึงบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการย้ายที่อยู่มาพำนักอาศัยในประเทศไทย โดยขณะนี้มีบริษัทตัวแทนร่วมให้บริการแล้วจำนวน 4 ราย นอกจากนี้ BOI ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการยื่นขอ LTR Visa และการรับรองเอกสารให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของชาวต่างชาติที่จะเพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่ประเทศต่างๆ มีนโยบายเปิดประเทศอย่างเต็มที่ในปีนี้