ความสำเร็จของละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส อาจจะทำให้คนสนใจประวัติศาสตร์และโหยหาตัวตนของบรรพบุรุษในครั้งอดีต นอกจากอยุธยาจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนรุ่นเก่าใหม่แต่งชุดไทยไปย้อนยุคสร้างบรรยากาศโบราณที่น่าชื่นใจ โลกของวรรณกรรมยังได้รับอานิสงส์ไปเต็มๆ แต่เล่มเก่าน่าอ่านไม่ได้มีเฉพาะ จินดามณี ที่กลายเป็นหนังสือขายดีผิดยุคเท่านั้น THE STANDARD ขอคัดกรอง 10 เล่มที่มีเนื้อหาสาระเหมาะสำหรับให้ผู้อ่านพาตัวเองไปสู่โลกในกาลก่อนแบบมีภูมิ
Photo: happybanana-online.com
บุพเพสันนิวาส
ผู้เขียน รอมแพง
สำนักพิมพ์ แฮปปี้ บานานา
ราคา 285 บาท
บุพเพสันนิวาส นิยายแนวโรแมนติกคอเมดี้ย้อนยุคของ รอมแพง หรือ อุ้ย-จันทร์ยวีร์ สมปรีดา ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2553 และเคยได้รับรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดในปีเดียวกัน กลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมรักความเป็นไทยในอดีตกาลอีกครั้ง เมื่อนิยายเล่มนี้กลายเป็นละครทางช่อง 3 และแน่นอนว่าหนอนหนังสือส่วนใหญ่น่าจะซื้อหาติดประจำบ้านกันก่อนงานหนังสือครั้งนี้แล้ว เพราะตีพิมพ์ไปแล้วถึง 73 ครั้ง
นิยายเล่มนี้ถือเป็นเรื่องแรกที่รอมแพงเลือกเขียนประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยใช้เวลาหาข้อมูลประวัติศาสตร์จากหอสมุดแห่งชาติและหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยศิลปากร นานกว่า 3 ปี จากนั้นคัดเลือกตัวละครและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มาร้อยเรียงเข้ากับพล็อตที่วางไว้ และใช้เวลาเขียนเพียงเดือนเดียว ซึ่งเป้าหมายสูงสุดของรอมแพงคือหวังว่าจะช่วยต่อยอดให้ผู้อ่านเกิดความสนใจใคร่รู้ในประวัติศาสตร์และไปค้นหาข้อมูลกันต่อมากขึ้น และเป้าหมายของเธอก็ประสบความสำเร็จแล้ว เมื่องานหนังสือครั้งนี้ หนังสือประวัติศาสตร์หลายเล่มเป็นหนึ่งในหมุดหมายของผู้อ่านจำนวนมากไปแล้ว
Photo: ฐานิส สุดโต
จินดามณี เล่ม ๑ และจินดามณี ฉบับใหญ่ บริบูรณ์
ผู้เขียน พระโหราธิบดี และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
สำนักพิมพ์ สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร
ราคา 270 บาท
แบบเรียนภาษาไทยเล่มแรกที่แต่งขึ้นในสมัยอยุธยา (และอีกหนึ่งเล่มในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์) ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นเพื่อให้ผู้ศึกษาได้ศึกษาลักษณะของหนังสือเรียนไทยในอดีต เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ของงานหนังสือครั้งนี้ที่สามารถจำหน่ายได้หมดภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ซึ่งหากใครไปซื้อไม่ทันอาจต้องลองไปหาอ่านตามหอสมุดไปก่อน
นอกจากสองฉบับที่ว่า แบบเรียนของไทยในยุคต่อๆ มาหลายเล่มยังคงใช้คำว่า จินดามณี เป็นคำเรียกอีกหลายฉบับ เช่น ฉบับความแปลก, ฉบับพระเจ้าบรมโกศ, ฉบับกรมหลวงวงษาธิราชสนิท, ฉบับพิมพ์ของหมอสมิท และฉบับพิมพ์ของหมอบรัดเล
ศิลปะอยุธยา: งานช่างหลวงแห่งแผ่นดิน
ผู้เขียน ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม
สำนักพิมพ์เมืองโบราณ
ราคา 300 บาท
หากละครเรื่องดังทำให้คนไทยหันมาแต่งชุดไทยเที่ยวโบราณสถานสำคัญในอยุธยาตามท้องเรื่องในนิยายได้ จะดีแค่ไหนถ้าแต่ละคนไปแบบมีองค์ความรู้อยู่ในหัว ศ.ดร.สันติ เล็กสุขุม เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี มีความรอบรู้เรื่องศิลปะอยุธยาแบบที่จะทำให้การเที่ยวชมวัดวังและโบราณสถานต่างๆ เป็นไปอย่างได้อรรถรส เล่มนี้อธิบายที่มาของศิลปะอยุธยา ก่อนจะสาธยายแยกย่อย 3 สาขาคือ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตรกรรม ในยุคต้น ยุคกลาง และยุคปลาย อ่านแล้วเข้าใจภาพรวมของศิลปะสมัยอยุธยาได้ในเล่มเดียว
Photo: www.nanmeebooks.com
ฟอลคอนแห่งอยุธยา
ผู้เขียน แคลร์ คีฟ-ฟอกซ์
ผู้แปล กล้วยไม้ แก้วสนธิ
สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์
ราคา 375 บาท
คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือพระยาวิไชเยนทร์ มีบทบาทสำคัญในเรื่องการเมืองการปกครองในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอย่างไร แฟนละครคงได้รับทราบกันพอสมควร แต่หากเราเชื่อว่าประวัติศาสตร์ย่อมมีหลายด้านหลากมุมมอง ลองมาพิจารณาตัวตนอีกแง่หนึ่งของบุรุษลูกผสมที่ร่อนเร่ไปกับเรือสินค้า ผ่านอาชีพเสมียนสู่การเป็นพ่อค้า และลงเอยด้วยการเป็นขุนนางคนโปรด ถวายรับใช้สมเด็จพระนารายณ์มหาราชอย่างใกล้ชิด ทั้งหมดนี้มีผลประโยชน์ของอยุธยาหรือของตนเองเป็นที่ตั้ง นวนิยายชีวิตของเจ้าพระยาวิไชเยนทร์จากปลายปากกาของผู้แต่งชาวฝรั่งเศสอาจจะมีคำตอบซ่อนอยู่
Photo: www.se-ed.com
รุกสยามในนามพระเจ้า
ผู้เขียน มอร์แกน สปอร์เตส
ผู้แปล กรรณิกา จรรย์แสง
สำนักพิมพ์มติชน
ราคา 450 บาท
นวนิยายประวัติศาสตร์สะท้อนภาพการเมืองในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่สมณทูตจากดินแดนตะวันตกเดินทางมาดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมสารพัดวิธีที่หวังจะได้สยามเป็นอาณานิคม พร้อมตัวละครชื่อดังมากมายจาก บุพเพสันนิวาส ทั้งคอนสแตนติน ฟอลคอน, ท้าวทองกีบม้า, พระยาโกษาธิบดี (ปาน), ราชทูต เดอ ลาลูแบร์, บาทหลวงกีย์ ตาชาร์ด และสมเด็จพระเพทราชา ต่างห้ำหั่นกันในสมรภูมินี้
Photo: www.kledthai.com
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐ, คำให้การชาวกรุงเก่า, คำให้การขุนหลวงหาวัด
ผู้เขียน –
สำนักพิมพ์ศรีปัญญา
ราคา 625 บาท
พระราชพงศาวดารไม่ใช่หนังสืออ่านเล่นทั่วไป แต่ควรพูดถึงหากต้องการศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยาอย่างเจาะลึก เพราะแม้แต่รอมแพงเองก็ได้ใช้เพื่อศึกษาในการเขียนเรื่องราวในสมัยอยุธยาด้วย เนื้อหาพระราชพงศาวดารได้รวมหลายฉบับเข้าด้วยกันคือ
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ถือเป็นหนังสือรวบรวมเอกสารประวัติศาสตร์หลักเล่มหนึ่ง ต้นฉบับเดิมเป็นสมุดไทย เขียนขึ้นในสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ มีเนื้อหาตั้งแต่การสถาปนากรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยามาจนกระทั่งสมัยกรุงแตก สิ้นสมัยอยุธยา รวมเวลาหลายร้อยปี
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ เป็นเอกสารร่วมสมัยที่ยังหลงเหลืออยู่ ซึ่งถือว่ามีการบันทึกศักราชไว้ถูกต้องแม่นยำที่สุด จึงมักจะนำไปใช้เป็นฉบับสอบเทียบกับฉบับอื่นๆ
คำให้การชาวกรุงเก่า และคำให้การขุนหลวงหาวัด คือบันทึกคำบอกเล่าเกี่ยวกับกรุงศรีอยุธยาโดยผู้คนในสมัยอยุธยา เป็นเอกสารสำคัญในการศึกษาเรื่องราวสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะวีรกรรมของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
Photo: readery.co
ผู้หญิงอยุธยา
ผู้เขียน บินหลา สันกาลาคีรี
สำนักพิมพ์ The Writer’s Secret
ราคา 310 บาท
เวลาเราพูดถึงประวัติศาสตร์ เรามักจะมองจากราชสำนัก กษัตริย์ ขุนนาง พ่อค้า ศิลปวัฒนธรรม หรือสงคราม กล่าวให้ชัดคือเป็นเรื่องราวของผู้ชายโดยส่วนใหญ่ แต่การมองผ่านเรื่องราวของผู้หญิงจะทำให้ได้เห็นมุมมองประวัติศาสตร์อีกมิติหนึ่ง ซึ่งบินหลา สันกาลาคีรี ได้รวบรวมจากเอกสารและหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยาเพื่อบันทึกเรื่องราวของผู้หญิงที่ไม่ใช่มีเพียงแค่คนดังอย่างท้าวทองกีบม้า, พระสุริโยทัย, ท้าวศรีสุดาจันทร์, พระสุพรรณกัลยา แต่เป็นผู้หญิงที่ไม่ค่อยได้พูดถึงหรือถูกมองข้ามไป เช่น เรื่องราวของอีเกิด อำแดงอุ่น ยายสา นางหินลอย เรื่องของสตรีชาวต่างชาติอย่างพระนางสร้อยดอกหมาก (จีน) หรือแม้แต่เรื่องของพระชายาในสมเด็จพระนเรศวรที่ไม่ปรากฏในพงศาวดารไทย แต่ไปปรากฏในพงศาวดารพม่าอย่างเจ้าหญิงมังตรานะมะโค เป็นเล่มที่อ่านสนุกมากเล่มหนึ่ง
Photo: www.kledthai.com
จดหมายเหตุลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม
ผู้เขียน มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์
ผู้แปล สันต์ ท. โกมลบุตร
สำนักพิมพ์ศรีปัญญา
ราคา 600 บาท
บันทึกประวัติศาสตร์ด้วยสายตาของชาวต่างชาติที่มองสยาม เป็นมุมมองทางประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าบ้านเมืองเรากับบ้านเมืองเขามันต่างกันอย่างไร และบันทึกที่เขียนโดยคนไทยส่วนใหญ่ส่วนมากก็ถูกทำลายไปตอนเสียกรุง บันทึกของ มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ จึงเป็นเอกสารชั้นต้นในการทำความเข้าใจคนกรุงเก่าได้ดีที่สุดเล่มหนึ่ง
มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ คือเอกอัครราชทูตจากชาติฝรั่งเศส ซึ่งเขียนขึ้นในปี 2331 ได้บันทึกสภาพสังคมของกรุงศรีอยุธยาไว้อย่างครอบคลุมและมีเนื้อหาเยอะที่สุดเล่มหนึ่ง แบ่งได้เป็น 3 ส่วนใหญ่ ส่วนแรกเล่าถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ ผลผลิตของชาวสยาม ส่วนที่สองคือขนบธรรมเนียม การศึกษา การแต่งกาย การละเล่น บุคลิกนิสัยของชาวสยาม และส่วนที่สามคือระบบธรรมเนียมและจารีตในราชสำนัก การต่างประเทศ และการเผยแผ่ศาสนาของชาวตะวันตก
Photo: www.tlcthai.com
ท้าวทองกีบม้า
ผู้เขียน คึกเดช กันตามระ
สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ราคา –
เรื่องราวของท้าวทองกีบม้า หรือมารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา ภรรยาลูกครึ่งโปรตุเกส-ญี่ปุ่น ของคอนสแตนติน ฟอลคอน อยู่ในช่วงราวปี 2225-2229 มีความน่าสนใจตรงที่เธอมีความสามารถในการทำอาหารถึงขั้นเป็นเจ้าตำรับการทำขนมไทย มีบุคลิกหน้าตาดี และยังเก่งในเรื่องภาษา แต่ชีวิตกลับต้องพลิกผันเพราะการกระทำของสามี
ท้าวทองกีบม้ามีชีวิตยืนยาวถึง 4 รัชกาล คือสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระเพทราชา สมเด็จพระเจ้าเสือ และสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ จึงได้มีผู้เขียนเป็นนิยายประวัติศาสตร์เอาไว้ หากก็เป็นหนังสือเก่ามากแล้ว ผู้อ่านอาจจะต้องไปตามหาในร้านหนังสือเก่าหรือหอสมุด นอกจากนี้ยังมีหนังสืออีกเล่มที่พูดถึงท้าวทองกีบม้าเช่นกัน คือ การเมืองในประวัติศาสตร์ “ขนมหวาน” ของท้าวทองกีบม้า “มาดามฟอลคอน” “ขนมไทย” หรือ “ขนมเทศ” ของสำนักพิมพ์มติชน ซึ่งจำหน่ายในรูปแบบไฟล์ PDF
ฟอลคอน
ผู้เขียน วิลเลียม ดัลตัน
ผู้แปล เสฐียรโกเศศ
สำนักพิมพ์ศยาม
ราคา 295 บาท
คอนสแตนติน ฟอลคอน จากเกาะเซฟาโลเนีย ชาวกรีกที่มุ่งมั่นจะก้าวไปสู่จุดสูงสุด ทั้งชื่อเสียงและเงินทอง เขาตัดสินใจออกเผชิญภัยในโลกกว้างและเดินทางมาสู่ประเทศสยามสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ณ ที่แห่งนี้ ชายหนุ่มใช้สติปัญญาและความสามารถที่มีอยู่ทั้งหมดจนได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เป็นเจ้าพระยาวิไชเยนทร์ แต่ความทะเยอทะยานอย่างไม่มีที่สิ้นสุดทำให้เขาร่วมมือกับนายพล เดส์ฟาร์จ ชาวฝรั่งเศส ให้นำกองทหารฝรั่งเศสเข้ามาบุกยึดประเทศสยาม ทว่าไม่ทันสำเร็จดี พระเพทราชาและออกหลวงสรศักดิ์ (ต่อมาคือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 หรือพระเจ้าเสือ) ก่อกบฏและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ เป็นการปิดฉากชีวิตในสยามของคอนสแตนติน