สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กำลังพิจารณาที่จะปรับแก้เงื่อนไขบางประการสำหรับโครงการที่จะเสนอขอเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ให้มีการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนมากขึ้น โดยพิจารณาขั้นตอนการดำเนินงานในส่วนไหนที่มีความยุ่งยาก และใช้เวลานาน ควรจะมีการปรับแก้ให้มีความกระชับ รวดเร็ว และชุมชนเข้าถึงแหล่งเงินได้มากขึ้น เพื่อช่วยผลักดันให้เม็ดเงินจากกองทุนฯ ลงไปสู่ประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง โดยตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบัน มีประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ เป็นงบประมาณมากกว่า 30,000 ล้านบาท จำนวนโครงการมากกว่า 70,000 โครงการ ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ
โครงการ “คนบันดาลไฟ : ใครไม่ Change Climate Change” กองทุนพัฒนาไฟฟ้า มาตรา 97(5)
ความตั้งใจของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
ฤดี ภริงคาร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) กล่าวว่า “กองทุนพัฒนาไฟฟ้า เป็นกองทุนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นทุนสนับสนุนให้มีการให้บริการไฟฟ้าไปยังท้องที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น ด้วยการพัฒนาชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า และสร้างความรู้ความเข้าใจ และความตระหนักทางด้านไฟฟ้า รวมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย โดยคำนึงถึงความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ
ฤดี ภริงคาร รองเลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)
ปัจจุบัน กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ได้ปรับปรุงการดำเนินงานของกองทุนฯ ตามมาตราต่างๆ ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งทิศทางใหม่ของกองทุนฯ ได้ปรับการดำเนินงานให้มีการกระจายอำนาจลงสู่ชุมชนมากขึ้น ลดขั้นตอนในการพิจารณาโครงการให้มีความรวดเร็วมากขึ้น และดำเนินโครงการที่ยั่งยืน เพื่อให้เม็ดเงินไปถึงประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง พร้อมไปกับการกำกับดูแลกองทุนฯ อย่างมีประสิทธิภาพ จากเดิมที่ติดปัญหาเรื่องการดำเนินงานกองทุนฯ กฎระเบียบต่างๆ ทำให้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งเงินกองทุนของชุมชน เพื่อนำไปพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า
สำหรับเงินที่ได้มาเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนา มีการจัดเก็บตั้งแต่ช่วงที่โรงไฟฟ้ามีการก่อสร้าง และช่วงที่ผลิตไฟฟ้า โดยทุกหน่วยผลิตของโรงไฟฟ้าจะถูกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ โดยเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติจัดเก็บ 1 สตางค์ต่อหน่วย น้ำมันเตา/น้ำมันดีเซล 1.5 สตางค์ต่อหน่วย ถ่านหิน/ลิกไนต์ 2 สตางค์ต่อหน่วย ลม/แสงอาทิตย์ 1 สตางค์ต่อหน่วย พลังน้ำ 2 สตางค์ต่อหน่วย ก๊าซชีวภาพ/ชีวมวล และอื่นๆ 1 สตางค์ต่อหน่วย
กองทุนพัฒนาไฟฟ้า มีลักษณะเป็นทุนหมุนเวียนประเภทหนึ่ง สำหรับในส่วนกลาง สำนักงาน กกพ. จะเป็นผู้กำกับดูแล ส่วนในพื้นที่จะมีคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ซึ่งมาจากการคัดเลือกของชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าทั่วประเทศเป็นผู้แทนในการบริหารจัดการกองทุนฯ และเป็นผู้พิจารณาอนุมัติโครงการชุมชน โดยมีการประเมินผล 2 ระดับ คือ ระดับกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ในฐานะทุนหมุนเวียน และระดับกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ ซึ่งผลการประเมินภาพรวมอยู่ในระดับดีมาก นอกจากนั้น ยังมีการประเมินระดับโครงการของเงินงบประมาณตาม มาตรา 97(3) (4) และ (5) ซึ่งผลคะแนนออกมาค่อนข้างดี เป็นไปตามมาตรฐาน โดยมี Third party ระดับแนวหน้าของประเทศไทยมาเป็นผู้ประเมินให้ ส่วนการขอโครงการชุมชนจะเป็นการขอต่อยอดก็ได้หรือจะขอใหม่ก็ได้ ที่สำคัญคือ ต้องเกิดจาการประชาคม และความต้องการของชาวบ้านในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าจริงๆ และเกิดประโยชน์ต่อชุมชนจริงๆ
กองทุนพัฒนาไฟฟ้า มาตรา 97(3) สนับสนุนการก่อสร้างคลองส่งน้ำรูปตัว V หมู่บ้านพุต้นน้ำพุองกะ จ.กาญจนบุรี
กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ดำเนินงานและใช้จ่ายเงินกองทุนฯ เพื่อกิจการตามมาตรา 97(1) – มาตรา 97(6) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ดังนี้
มาตรา 97(1) เรื่องการชดเชยรายได้
มาตรา 97(1) เรื่องการชดเชยรายได้ ส่งผ่านโดยการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จ่ายเงินชดเชยให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ได้ขยายสายส่งการให้บริการไฟฟ้าไปยังพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้ใช้ไฟฟ้าอย่างทั่วถึง และมีราคาเท่ากันสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทเดียวกันทั่วประเทศ ปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดจากในอดีตที่เคยชดเชยสูงถึงกว่า 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันมีการกระจายบ้านเรือนเพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนลดลง เงินที่ชดเชยรายได้ก็ลดลงเรื่อยๆ
มาตรา 97(2) เรื่องการสั่งเดินโรงไฟฟ้าให้มีความเป็นธรรม
มาตรา 97(2) เรื่องการสั่งเดินโรงไฟฟ้าให้มีความเป็นธรรม ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ไม่สามารถสั่งเดินเครื่องได้ จะต้องมีคณะกรรมการ มีศูนย์สั่งการผลิตไฟฟ้าเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ โดยจะเลือกเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำเป็นอันดับแรก หรือในช่วงที่เกิดโรคติดเชื้อไวรัสโควิดที่มีการใช้ไฟฟ้าน้อยก็ต้องมีการสั่งเดินเครื่องให้มีความเหมาะสม หรือในช่วงที่ค่าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติมีราคาสูง ก็สั่งการให้มีการเปลี่ยนไปใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงทดแทน ซึ่งที่ผ่านมาการสั่งเดินเครืองผลิตไฟฟ้า กฟผ. ได้ดำเนินการอย่างเป็นธรรม ไม่เคยถูกร้องเรียน เพราะหากสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีค่าไฟแพง ก็จะถูกเรียกเก็บค่าปรับ ส่งผ่านเป็นค่าไฟฟ้า
กองทุนพัฒนาไฟฟ้า มาตรา 97(3) สนับสนุนโครงการก่อสร้างคลองส่งน้ำรูปตัว V จ.กาญจนบุรี
มาตรา 97(3) เรื่องการพัฒนาพื้นที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า
มาตรา 97(3) การพัฒนาพื้นที่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า เพื่อลดผลกระทบจากชุมชนรอบโรงไฟฟ้า จากผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแทบจะไม่มีผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากก่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะมีการพิจารณาผลกระทบในทุกด้าน มีการตรวจวัดค่ามาตรฐานต่างๆ มีการกำกับดูแลว่าจะให้โรงไฟฟ้าตั้งในพื้นที่ใด คือ เริ่มตั้งแต่การก่อสร้างจนก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่อย่างไรก็ตามอาจกระทบด้านสังคม ด้านจิตใจ และความรู้สึก ทำให้เกิดความกังวล
ดังนั้น กองทุนฯ จึงมีการจัดสรรงบประมาณไปเพื่อพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดยมีการจัดเก็บเงินจากโรงไฟฟ้าตั้งแต่เริ่มก่อสร้าง ไปจนถึงการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าตลอดอายุของโรงไฟฟ้า
- กองทุนขนาดใหญ่ วงเงิน 50 ล้านบาทต่อปีขึ้นไป และ กองทุนขนาดกลาง วงเงินมากกว่า 3 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 50 ล้านบาทต่อปี การขอใช้เงินกองทุน จะต้องแจ้งให้ กกพ. รับทราบ และจะต้องผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) ซึ่งการบริหารกองทุนขนาดใหญ่และขนาดกลางนี้ จะมีการบริหาร 2 ระดับ โดยคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) และคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตำบล (คพรต.)
- กองทุนขนาดเล็ก วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อปี โดยการส่งผ่านงบประมาณให้ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่อนุมัติโครงการได้ตามหลักเกณฑ์ที่ กกพ. กำหนด
โดยผู้ที่จะขอรับจัดสรรเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า จะอยู่ภายใต้ 7 แผนงาน ประกอบด้วย ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจชุมชน ด้านสาธารณูปโภค ด้านพลังงานชุมชน ด้านสิ่งแวดล้อม และอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม การจะขอรับเงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าทุกโครงการ จะต้องผ่านการทำประชาคมของคนในพื้นที่ก่อน เพื่อให้โครงการที่ได้รับการอนุมัตินั้นมาจากความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง
ที่ผ่านมา กองทุนพัฒนาไฟฟ้า มีการปรับปรุงระเบียบวิธีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ยกตัวอย่างเช่น มีการแก้ระเบียบการขอรับเงินสนับสนุนจากกองทุนฯ ผู้ที่จะขอต้องผ่านนิติบุคคล เพื่อให้การใช้จ่ายมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งทำให้มีประชาชนบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงเงินกองทุนฯ ได้ เนื่องจากมีระเบียบและขั้นตอนการดำเนินงานยุ่งยาก ดังนั้น จากปัญหานี้ทำให้ กองทุนฯ ก็ต้องนำกลับมาทบทวน พิจารณาใหม่ว่าเหมาะสมหรือไม่ สุดท้ายอาจจะต้องมีการแก้ระเบียบใหม่อีกครั้ง ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงเงินของกองทุนฯ ได้มากขึ้น เป็นต้น
กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(4) สนับสนุนโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเมืองอัจฉริยะ และทดสอบในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มุ่งเน้นพัฒนาการจัดการพลังงานอัจฉริยะ
มาตรา 97(4) เรื่องการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน
มาตรา 97(4) การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน การใช้เทคโนโลยีที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประมาณการจัดเก็บปีละกว่า 900 ล้านบาท ที่ผ่านมาจะเป็นการให้งบประมาณในส่วนของการวิจัย ที่เปิดกว้างให้หน่วยงานภาครัฐ ผู้ประกอบการเอกชน และสถานศึกษา สามารถขอทุนเพื่อดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ เป็นงานวิจัยที่สามารถต่อยอด และเข้าถึงข้อมูลนั้นๆ ได้ และยังมีในส่วนของเงินให้เปล่าหรือให้บางส่วนผ่านการทำบันทึกความร่วมมือ
ปีที่ผ่านมานโยบายของภาครัฐ มุ่งเป้าไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) มุ่งสนับสนุนให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด โดยมีการจัดสรรเงินให้กับโรงพยาบาลภาครัฐ 68 แห่ง เป็นจำนวนกว่า 200 ล้านบาท ในกรุงเทพมหานคร และมหาวิทยาลัยอีกกว่า 80 ล้านบาท ในการส่งเสริมตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงพลังงาน และช่วยลดค่าไฟฟ้า และยังมีเงินบางส่วนเอาไปช่วยทางด้านสาธารณสุข ส่วนโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล ส่งเสริมให้มีไฟฟ้าใช้ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้า ผ่านสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ประมาณปีละกว่าพันล้านบาท
ยังมีการศึกษาวิจัย Smart Grid ให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอีกหลายมหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้เป็นการให้เปล่า ต้องจัดทำให้เกิดระบบขึ้น และนำข้อมูลมาวิจัยต่อ และมีการส่งเสริมโครงการ ERC Sanbox ให้ใบอนุญาตเฉพาะกิจในการบริหารจัดการด้านพลังงาน
กองทุนพัฒนาไฟฟ้า มาตรา 97(5) : โครงการ ฉ่อย Journey กับ กกพ.
มาตรา 97(5) การเก็บเงินเข้ากองทุนฯ
มาตรา 97(5) มีการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ประมาณปีละ 400 ล้านบาท และมีการจัดสรรงบประมาณแบบปีต่อปี ปีละ 600 ล้านบาท แต่ในช่วงนี้จะจัดสรรงบประมาณแบบปีเว้นปี ซึ่งจะเน้นเรื่องการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเน้นการให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน เกี่ยวกับภารกิจ บทบาท หน้าที่ของ กกพ. โดยจะต้องสอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงพลังงาน และสำนักงาน กกพ.
อย่างไรก็ตาม เงินนำส่งเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(4) (5) ปัจจุบันเก็บอัตราเป็นศูนย์ เพื่อลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชน
มาตรา 97(6) เป็นเรื่องของการบริหารการใช้จ่ายเงินกองทุนฯ มีการออกระเบียบ หลักเกณฑ์การพัฒนาระบบบัญชี ระบบบริหารงาน การติดตามประเมินผล มีการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ สำนักงาน กกพ. ประจำเขต คพรฟ. เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยใช้งบประมาณจาก 97(3) ประมาณ 140 – 150 ล้านบาทต่อปี
กองทุนพัฒนาไฟฟ้า มาตรา 97(3) สนับสนุนวิสาหกิจชุมชนพรุไทยฮันนี่บี จ.สุราษฎร์ธานี
ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น กองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นทุนสนับสนุนให้มีการให้บริการไฟฟ้าไปยังท้องที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น พัฒนาชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย ภายใต้การมีส่วนร่วมประชาชน และชุมชน ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกคน