เป็นเวลากว่า 1 ทศวรรษหลังเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติสารกัมมันตรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ อันเนื่องมาจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่ซัดกระหน่ำภูมิภาคโทโฮคุของญี่ปุ่นในปี 2011
ผลกระทบอันน่าหวาดกลัวจากการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีที่รุนแรงเป็นอันดับ 2 รองจากวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล สร้างความกังวลทั้งต่อประชาชนชาวญี่ปุ่นและทั่วโลก
โดยล่าสุดชื่อของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะกลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังปรากฏข่าวว่า ทางการญี่ปุ่นเตรียมปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้าจำนวนกว่า 1 ล้านตันที่ผ่านการ ‘บำบัด’ แล้ว ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก
ขณะที่ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) อนุมัติแผนดำเนินการของญี่ปุ่นหลังจากที่มีการประเมินนานกว่า 2 ปี ซึ่งข้อมูลจากรัฐบาลญี่ปุ่นเผยว่า การปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะอาจเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม แม้จะเผชิญเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประเทศใกล้เคียงอย่างจีนและเกาหลีใต้ รวมถึงมีการประท้วงคัดค้านจากบรรดาชาวประมงที่กังวลว่า อาจมีน้ำเสียปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีลงสู่ทะเลอันเป็นแหล่งทำมาหากิน
สิ่งที่หลายคนสงสัยกันคือ ทำไมญี่ปุ่นต้องปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะสู่ทะเล และมีความมั่นใจในความปลอดภัยมากแค่ไหน?
ทำไมญี่ปุ่นต้องปล่อยน้ำเสียนิวเคลียร์ลงสู่มหาสมุทร?
- ผลกระทบจากแผ่นดินไหวขนาด 9.1 เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2011 ส่งผลให้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 เครื่อง จาก 6 เครื่องในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ เกิดความเสียหายและขาดสารหล่อเย็น จนทำให้เกิดความร้อนสูงและหลอมละลาย (Nuclear Meltdown) ปลดปล่อยสารกัมมันตรังสีออกมา
- อย่างไรก็ตาม โรงไฟฟ้ายังคงผลิตน้ำเสียออกมาถึงวันละ 100 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งน้ำเสียเหล่านี้มาจากน้ำบาดาลและน้ำทะเลที่ใช้หล่อเย็นเครื่องปฏิกรณ์ ก่อนจะผ่านการกรองและเก็บไว้ในแทงก์น้ำ
- โดยแทงก์บรรจุน้ำเสียในโรงไฟฟ้ามีจำนวนถึง 1,000 แทงก์ ซึ่งปริมาณความจุที่สะสมมาตั้งแต่เกิดภัยพิบัติใกล้ที่จะเต็ม และคาดว่าจะถึงขีดจำกัดที่ 1.3 ล้านลูกบาศก์เมตรในช่วงต้นปี 2024
- ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้เตรียมหาทางออก โดยประกาศตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2021 ว่า มีแผนที่จะทยอยปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก
- คำถามว่า ทำไมไม่เพิ่มแทงก์น้ำสำหรับรองรับน้ำเสียนั้น คำตอบคือ บริษัท Tokyo Electric Power Company (TEPCO) ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไม่สามารถเคลียร์พื้นที่สำหรับวางแทงก์น้ำเพิ่มเติมได้ โดย Bloomberg รายงานว่า ทางบริษัทได้โค่นต้นไม้ไปแล้วกว่า 500 ตารางเมตร เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับวางแทงก์
- ส่วนระยะเวลาในการทยอยปล่อยน้ำเสียโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงสู่ทะเลนั้น TEPCO เผยในรายงานเมื่อปี 2020 ว่าจะใช้เวลาราว 30-40 ปี
น้ำเสียโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้รับการบำบัดอย่างไร?
- จากข้อมูลของ IAEA พบว่า น้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจะถูกนำไปรีไซเคิลผ่านระบบ Advanced Liquid Processing System (ALPS) ซึ่งเป็นระบบสูบและกรองน้ำ ซึ่งมีการใช้ชุดปฏิกิริยาเคมีเพื่อกำจัดสารกัมมันตรังสี 62 ชนิดออกจากน้ำที่ปนเปื้อน
- แต่แม้ว่าธาตุกัมมันตภาพรังสีส่วนใหญ่จะถูกกรองออกไปแล้ว แต่ก็ยังมีทริเทียม (Tritium) ซึ่งเป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีที่แยกออกจากน้ำได้ยาก เนื่องจากมีองค์ประกอบทางเคมีคล้ายกับไฮโดรเจน
- รายงานของ IAEA ระบุว่า ทริเทียมนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายจากสารกัมมันตรังสีได้หากสูดดมหรือเข้าสู่ร่างกาย แต่มันจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์เมื่อเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากเท่านั้น
- โฆษกของ TEPCO เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์กับ National Geographic ว่า น้ำเสียจะผ่านการทำให้บริสุทธิ์ซ้ำไปซ้ำมา โดยมีการเก็บตัวอย่างและตรวจสอบซ้ำหลายครั้งเพื่อยืนยันว่า ความเข้มข้นของสารกัมมันตรังสีที่ปนเปื้อนในน้ำเสียนั้นต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดก่อนที่จะปล่อยลงสู่ทะเล
น้ำเสียที่ผ่านการบำบัดปลอดภัยหรือไม่?
- ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คณะทำงานของ IAEA ได้ดำเนินภารกิจตรวจสอบจำนวน 5 ภารกิจ และเผยแพร่รายงาน 6 ฉบับที่เกี่ยวกับความปลอดภัยของแผนปล่อยน้ำเสียโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่น
- ในการตรวจสอบครั้งสุดท้ายของ IAEA เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (4 กรกฎาคม) ระบุว่า แผนดำเนินการของญี่ปุ่นนั้นสอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยระหว่างประเทศ โดยชี้ว่า “การปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะเลอย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีการควบคุม จะส่งผลกระทบทางรังสีเล็กน้อยต่อผู้คนและสิ่งแวดล้อม”
- ข้อมูลจากรายงานของ IAEA ยังชี้ว่า แม้ไอโซโทปอย่างทริเทียมจะมีครึ่งชีวิตของสารกัมมันตรังสีอยู่ที่ 12.32 ปี แต่น้ำเสียนั้นมีครึ่งชีวิตทางชีวภาพที่สั้นกว่าคือ 7-14 วันในร่างกายมนุษย์
- ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายรายมองว่า แผนการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของญี่ปุ่นนั้นสอดคล้องกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งอื่นๆ ทั่วโลก
- โดย ศ.จิม สมิธ นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยพอร์ตสมัธ กล่าวว่า “การปล่อยน้ำเสียที่มีกัมมันตรังสีทริเทียมในปริมาณเล็กน้อยโดยมีการควบคุมนั้นเกิดขึ้นเป็นประจำในโรงงานนิวเคลียร์ทั่วโลก”
- ขณะที่ ศ.มิคาอิล บาโลนอฟ ผู้เชี่ยวชาญของ IAEA ให้ความเห็นในทางเดียวกัน โดยเสริมว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศอื่นๆ มีการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนทริเทียมในแต่ละปีมากกว่าระดับทริเทียมในน้ำเสียที่ญี่ปุ่นตั้งใจจะปล่อยสู่ทะเล
- ด้านเว็บไซต์สื่อออนไลน์ The Conversation รายงานว่า ปัจจุบันมีทริเทียมประมาณ 8.4 กิโลกรัมอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่แล้ว ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณทริเทียมราว 3 กรัมในน้ำเสียที่จะปล่อยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ
- อย่างไรก็ตาม รศ.คัมเปอิ ฮายาชิ จากมหาวิทยาลัยฟุกุชิมะ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว AP โดยมองว่า ระดับของทริเทียมในน้ำเสียนั้น ‘ยังคงน่าเป็นกังวล’ เมื่อพูดถึงปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่จะปรากฏขึ้นในอีก 20 หรือ 30 ปีข้างหน้า
- ด้านสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (American Association for the Advancement of Science) รายงานว่า ไอโซโทปที่เป็นอันตราย ซึ่งมีอายุกัมมันตภาพรังสียาวนานกว่า เช่น รูทีเนียม โคบอลต์ สตรอนเทียม และพลูโตเนียม สามารถเล็ดลอดผ่านกระบวนการ ALPS ได้ในบางครั้ง โดย TEPCO ระบุว่า มีไอโซโทปกว่า 71% ปนเปื้อนในน้ำเสียที่เก็บไว้ในแทงก์น้ำ
- “ไอโซโทปกัมมันตรังสีเหล่านี้มีพฤติกรรมแตกต่างจากทริเทียมในมหาสมุทร และรวมเข้ากับสิ่งมีชีวิตในทะเลหรือตะกอนก้นทะเลได้ง่ายกว่า” เคน บุสเซเลอร์ นักเคมีทางทะเล กล่าว
ใครเป็นผู้ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย?
- IAEA กล่าวเมื่อวันอังคารว่า จะดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยระหว่างการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะอย่างต่อเนื่อง และจะยังมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการตรวจสอบในพื้นที่ รวมถึงจะมีการตรวจสอบแบบไลฟ์ผ่านทางออนไลน์จากสถานที่ปล่อยน้ำเสียด้วย
- “การดำเนินการนี้จะทำให้มั่นใจได้ว่า มาตรฐานความปลอดภัยระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องยังคงถูกนำไปใช้ตลอดกระบวนการที่ยาวนานหลายทศวรรษ ซึ่งกำหนดโดยรัฐบาลญี่ปุ่นและ TEPCO” ราฟาเอล กรอสซี ผู้อำนวยการ IAEA กล่าวระหว่างการเยือนญี่ปุ่น
- คณะทำงานของ IAEA ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ 11 คนจากออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร จะทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลหลักด้านเทคนิคและกฎระเบียบที่จำเป็น เพื่อให้การตรวจสอบเสร็จสมบูรณ์
- ขณะที่กรอสซีกล่าวว่า “IAEA จะยังคงความโปร่งใสแก่ประชาคมระหว่างประเทศ ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบ (จากการปล่อยน้ำเสีย) ทั้งหมด สามารถพึ่งพาข้อเท็จจริงและวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว เพื่อสร้างความเข้าใจในเรื่องนี้ตลอดทั้งกระบวนการ”
ทั่วโลกมีปฏิกิริยาอย่างไร?
- ญี่ปุ่นวางแผนที่จะค่อยๆ ปล่อยน้ำเสียที่ผ่านการบำบัดแล้ว ซึ่งมีปริมาณมากพอที่จะเติมสระว่ายน้ำขนาดโอลิมปิกได้ถึง 500 สระ
- แต่แผนปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะเผชิญการประท้วงจากบรรดาชาวประมง โดยเฉพาะในจังหวัดฟุกุชิมะ ซึ่งกังวลว่าลูกค้าจะปฏิเสธปลาที่พวกเขาจับได้ แม้ว่าจะมีกฎระเบียบในการตรวจสอบอาหารจากฟุกุชิมะที่เข้มงวดก็ตาม
- ที่ผ่านมาแม้ว่า TEPCO จะมีส่วนร่วมกับชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ แต่สหภาพแรงงานประมงในฟุกุชิมะยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงสู่ทะเล โดยให้เหตุผลว่า จะทำให้ความพยายามเพื่อฟื้นฟูชื่อเสียงที่เสียหายของการประมงในฟุกุชิมะสูญเปล่า
- ขณะที่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดต่างๆ รอบโรงไฟฟ้ายังมีการรวบรวมรายชื่อกว่า 2.5 แสนชื่อ เพื่อคัดค้านแผนปล่อยน้ำเสียของรัฐบาล
- ด้านสถานเอกอัครราชทูตจีนในญี่ปุ่นให้ความเห็นว่า รายงานล่าสุดของ IAEA นั้นไม่สามารถเป็น ‘บัตรผ่าน’ สำหรับการปล่อยน้ำเสียจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงสู่ทะเล และเรียกร้องให้ญี่ปุ่นระงับแผนดำเนินการดังกล่าว
- โดย หวังเหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน เตือนว่า แผนปล่อยน้ำเสียดังกล่าวก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประเทศเพื่อนบ้านและประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก โดย Bloomberg รายงานโดยอ้างคำพูดของเขาว่า “มหาสมุทรไม่ใช่ท่อระบายน้ำส่วนตัวของญี่ปุ่น”
- ส่วนในเกาหลีใต้นั้นพบว่า ประชาชนบางส่วนมีความกังวลต่อการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีในมหาสมุทรแปซิฟิกจากแผนปล่อยน้ำเสียของญี่ปุ่น
- ความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นก่อให้เกิดการประท้วงต่อต้านและทำให้เกิดความตื่นตระหนก โดยประชาชนเริ่มแห่ไปซื้อเกลือเพื่อกักตุนไว้ ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในเกาหลีใต้เดือนมิถุนายนพุ่งขึ้นเกือบ 27% เมื่อเทียบกับเมื่อสองเดือนก่อนหน้านี้ แม้ว่าทางการจะระบุว่า สภาพอากาศและปริมาณการผลิตที่ลดลงก็เป็นสาเหตุเช่นกัน
- ประเด็นการปล่อยน้ำเสียนี้ยังเป็นที่พูดถึงในการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก (Pacific Islands Forum) ซึ่งที่ประชุมจำนวน 18 ประเทศ รวมทั้งฟิจิและออสเตรเลีย มีการเรียกร้องให้ญี่ปุ่นพิจารณาทางเลือกอื่น และเรียกร้องให้มีการหารือเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงจากแผนปล่อยน้ำเสียดังกล่าว
ภาพ: Christopher Furlong / Getty Images
อ้างอิง: