การร่วงลงของดัชนี SET จากเกือบ 1,700 จุดเมื่อต้นปี สู่ระดับ 1,461 จุดตลอดช่วงเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็นการลดลงของดัชนีราว 14% ก่อให้เกิดความหดหู่และหวาดกลัวต่อตลาดหุ้นไทยเพิ่มมากขึ้นในระยะหลัง
ส่วนหนึ่งสะท้อนจากมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่หดหายไปอย่างเห็นได้ชัด เหลือเฉลี่ย 45,860 ล้านบาทต่อวันสำหรับช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เทียบกับปีก่อนทั้งปีที่เฉลี่ย 71,226 ล้านบาทต่อวัน
THE STANDARD WEALTH มีโอกาสได้พูดคุยกับหนึ่งในนักลงทุนมากประสบการณ์ท่านหนึ่งของไทยอย่าง นพ.พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี ผู้ที่ผ่านวัฏจักรการขึ้นและลงของตลาดหุ้นมาหลายครั้ง และในครั้งนี้หมอพงศ์ศักดิ์ให้คำแนะนำมาว่า “นักลงทุนต้องคิดตรงข้าม เราต้องยิ่งกระตือรือร้นเมื่อตลาดหดหู่ และเริ่มระวังตัวเมื่อตลาดฮึกเหิม”
ประเมินสถานการณ์ระยะสั้น
หมอพงศ์ศักดิ์ประเมินแรงกดดันต่อตลาดหุ้นในปีนี้ว่ามาจากปัจจัยการเมืองประมาณ 50-60% อีก 10-20% มาจากประเด็นปัญหาของบริษัทจดทะเบียนบางแห่ง และอีก 10-20% ที่เหลือเป็นประเด็นแวดล้อมอื่นๆ
“พอลองคิดดูแล้วเรื่องของการเมืองดูจะมีทางออกอยู่บ้าง และสามารถที่จะผ่านพ้นไปได้โดยไม่มีความวุ่นวาย จึงเป็นโอกาสที่ตลาดจะฟื้นตัวได้ และเป็นคำตอบว่าเราพอที่จะลงทุนได้ โดยอาจจะใส่เงินลงทุนประมาณ 50%”
และหากเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นว่าการเมืองน่าจะได้บทสรุป ก็อาจจะใส่เงินลงทุนเพิ่มเป็น 70-80% “การใส่เงินลงทุนจะเป็นไปตามความเชื่อมั่นของเรา”
อย่างไรก็ตาม หมอพงศ์ศักดิ์มองว่าความกลัวที่ปกคลุมตลาดอยู่ในขณะนี้ยังไม่ใช่จุดที่นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดกำลังกลัวสุดขีด
“ถ้าเราเปรียบให้เวลา 6 นาฬิกาเป็นจุดสมดุล เวลา 3 นาฬิกาเป็นจุดที่ฮึกเหิมสุดขีด และเวลา 9 นาฬิกาเป็นจุดที่กลัวสุดขีด ตอนนี้ความกลัวในตลาดน่าจะอยู่ประมาณ 7-8 นาฬิกา”
จุดที่เกิดความกลัวสุดขีด เราอาจต้องเห็นตลาดติดลบไปมากกว่า 20% อย่างช่วงวิกฤตโควิด แต่สถานการณ์เช่นนั้นอาจจะไม่เกิดขึ้น เมื่อปัจจัยกดดันต่างๆ ในเวลานี้คลี่คลายลงก่อน และไม่ได้มีปัจจัยกดดันอื่นๆ เข้ามาเพิ่มเติม
ปรับพอร์ตเพื่อหาโอกาสที่ดีกว่า
สำหรับนักลงทุนบางส่วนที่อาจไม่มีเงินสดเหลืออยู่แล้ว หรืออาจจะยัง ‘ติดดอย’ กับหุ้นบางตัวอยู่ หมอพงศ์ศักดิ์แนะนำว่าเราควรย้อนกลับมาดูก่อนว่าหุ้นที่อยู่ในพอร์ตของเราเป็นอย่างไร หากยังเป็นหุ้นที่ดี มีแนวโน้มที่กำไรจะเติบโตไปได้ต่อ แม้ราคาจะลดลงมาเราก็อาจจะแค่ถือต่อไป
ในมุมกลับกัน หากหุ้นที่ถืออยู่พื้นฐานไม่แข็งแกร่ง กำไรถูกกระทบได้ง่าย ก็ควรจะยอมขายเพื่อไปถือหุ้นที่ดีที่ราคาปรับตัวลดลงมาเช่นกัน
ทั้งนี้ หมอพงศ์ศักดิ์ได้สรุปแนวทางในการปรับพอร์ตในช่วงนี้ โดยแบ่งเป็น 3 ข้อที่สำคัญ ได้แก่
- หากเป็นหุ้นที่มีแนวโน้มเติบโตดีในอีก 1-3 ปีข้างหน้า ก็ถือต่อไป
- หากเป็นหุ้นที่พื้นฐานไม่ดี ควรจะขายออกไปเพื่อซื้อหุ้นที่พื้นฐานดี
- หากไม่มีเงินสดเหลือในมือ แต่เจอหุ้นที่พื้นฐานดีและมี Upside มากกว่า อาจขายหุ้นดีที่ถืออยู่บางส่วนไปซื้อหุ้นดีที่มี Upside สูงกว่า
บริหารจิตใจ โฟกัสการลงทุนระยะยาว
หากเราเป็นนักลงทุนระยะยาว สุดท้ายแล้วเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งเรื่องของการเมืองก็จะผ่านพ้นไป สิ่งที่เราต้องฝึกคือคิดในทางตรงกันข้ามเมื่อตลาดกำลังหดหู่และนักลงทุนกำลังหมดหวัง
“คุณต้องฝึกคิดเรื่องนี้ เวลาหุ้นขึ้นเร็วๆ แรงๆ ต้องระมัดระวังให้มาก ตลาดหดหู่เป็นช่วงหาโอกาส ถ้าเราทำตรงนี้ไม่สำเร็จก็จะประสบความสำเร็จได้ยาก เพราะเราจะไปซื้อแต่ของแพง ช่วงแรกอาจจะฝืนกับความคิดอยู่บ้าง แต่ต้องฝึกฝนไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นนิสัย”
สิ่งสำคัญที่หมอพงศ์ศักดิ์เน้นย้ำในเวลานี้คือ “อย่ากลัวจนเกินไปในยามที่ตลาดดูไม่ดี หากเราวิเคราะห์แต่ละบริษัทจะยังมีของดีอยู่ เราไม่ได้ซื้อ SET ตอนนี้ยังมีหุ้นที่เติบโตได้ เราต้องมีสติในยามที่ Valuation ลดลงมามาก และราคาได้สะท้อนข่าวร้ายไปมากแล้ว”
นอกจากนี้ หมอพงศ์ศักดิ์ยังได้เน้นย้ำถึงหลักการในการเลือกหุ้นเพื่อลงทุนระยะยาว ซึ่งเป็นหลักการที่ใช้อยู่ตลอด ได้แก่
- มีความสามารถในการแข่งขันสูง
- อยู่ในช่วงต้นของการเติบโต หรือกำลังอยู่ในช่วงเร่งตัว
- ผู้บริหารมีความสามารถและซื่อสัตย์
- งบการเงินสะท้อนสิ่งที่คาดหวัง แต่ต้องพิจารณาให้ละเอียดมากกว่าแค่กำไร-ขาดทุน
- เอาชนะคู่แข่งในอุตสาหกรรมได้เพิ่มมากขึ้น และจะยิ่งเป็นโอกาสดีในยามที่คู่แข่งอ่อนแอลง
“หลักการเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ยากต่อการเรียนรู้ แต่สิ่งที่ยากคือการนำไปใช้จริง ซึ่งจะขึ้นอยู่กับการฝึกฝนและความสามารถของนักลงทุนแต่ละคน”