ธนาคารโลก (World Bank) เผยความเสี่ยงด้านอุทกภัยไทยอยู่อันดับ 9 ของโลก เตือนน้ำท่วม-ภัยแล้งจะรุนแรงขึ้นในทศวรรษต่อไป หากไม่ปรับตัวจ่อสูญการผลิตกว่า 15% ภายในปี 2573 ขณะที่ค่าใช้จ่ายภาครัฐก็จ่อพุ่งสูงในอนาคต
ในรายงานตามติดเศรษฐกิจไทย (Thailand Economic Monitor) ของธนาคารโลก (World Bank) ประจำเดือนมิถุนายน 2566 ในหัวข้อ ‘การรับมือกับภัยแล้งและอุทกภัย เพื่อสร้างอนาคตที่อยู่รอดและยั่งยืน’ ระบุว่า การรับมือกับความเสี่ยงจากอุทกภัยและภัยแล้งเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการเติบโตอย่างยั่งยืน
โดยฟาบริซิโอ ซาร์โคเน ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ความถี่ของการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง รวมถึงทุนมนุษย์และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการน้ำ มีความสำคัญต่อไทย
“ดังนั้นไทยจำเป็นต้องมีกรอบการทำงานที่แข็งแกร่งกว่าเดิมในการจัดลำดับความสำคัญของการวางแผนลดความเสี่ยง การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านทรัพยากรน้ำ รวมไปถึงการจัดการการใช้ที่ดินและน้ำ”
ความเสี่ยงด้านอุทกภัยไทยอยู่อันดับ 9 ของโลก
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาไทยประสบปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง โดยมีความเสี่ยงด้านอุทกภัยอยู่ในอันดับที่ 9 ของโลก สะท้อนจากดัชนีการบริหารความเสี่ยง (INFORM Index)
โดยตามรายงานของสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNDRR) เมื่อปี 2563 ได้ประเมินความสูญเสียจากอุทกภัยเฉลี่ยต่อปีของไทย คิดเป็นมูลค่า 2.6 พันล้านดอลลาร์
ตัวอย่างเช่นเหตุการณ์อุทกภัยในปี 2554 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 680 ราย ส่งผลกระทบต่อประชากรเกือบ 13 ล้านคน และสร้างความเสียหายและความสูญเสียต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.43 ล้านล้านบาท (46.5 พันล้านดอลลาร์) หรือคิดเป็น 12.6% ของ GDP
นอกจากเหตุอุทกภัย ไทยยังเคยเผชิญกับปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงทั่วประเทศในปี 2522, 2537 และ 2542 โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นภาคที่มีอัตราความยากจนสูงที่สุด กลับเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภัยแล้งมากที่สุด
รายงานของ World Bank ยังระบุว่า ในปัจจุบันกรุงเทพฯ และพื้นที่อุตสาหกรรมส่งออกโดยรอบยังคงมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับอุทกภัยแม้ว่าจะมีการดำเนินมาตรการควบคุมแล้ว นอกจากนี้ไทยยังประสบกับปัญหาภัยแล้ง เนื่องจากการขาดแคลนปริมาณน้ำฝน การลดลงของปริมาณน้ำในแม่น้ำผิวดินและใต้ผิวดิน รวมทั้งการจัดการที่ดินที่ไม่มีประสิทธิภาพ
World Bank เตือนปัญหาอุทกภัย-ภัยแล้งจ่อรุนแรงขึ้นในทศวรรษต่อไป
รายงานของ World Bank เตือนอีกว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มความถี่และความรุนแรงของปัญหาอุทกภัยในทศวรรษต่อไป แม้ว่าแบบจำลองจะยังมีความไม่แน่นอน แต่การคาดการณ์ในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าไทยจะมีปริมาณน้ำฝนเพิ่มขึ้นต่อปี
นอกจากนี้ ปริมาณน้ำฝนที่เพิ่มขึ้นคาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนได้สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนไหวต่อปัญหาอุทกภัย และค่าความผิดปกติของฝนในปี 2560 สูงเกินกว่าในปี 2554 แล้ว โดยประเมินว่าในกรณีที่ไม่มีมาตรการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยในรอบ 50 ปี เช่นเดียวกับกรณีของปี 2554 อาจรุนแรงขึ้นเป็น 2 เท่า
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเพิ่มความรุนแรงและความถี่ของปัญหาภัยแล้งในอนาคต ค่าเฉลี่ยจากการคาดการณ์สภาพภูมิอากาศในอนาคตแสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิเฉลี่ยรายวันของไทยจะเพิ่มขึ้น 1.8 องศาเซลเซียสภายในปี 2593 แม้ว่าปริมาณน้ำฝนทั้งหมดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนวันที่จะเกิดปัญหาภัยแล้งในช่วงนอกฤดูฝนเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มความถี่และความรุนแรงของภัยแล้งในอนาคต
รายงานของ World Bank ยังระบุว่า ไทยมีความอ่อนไหวต่อปัญหาภัยแล้ง อันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และความถี่ของปัญหาภัยแล้งทางอุตุนิยมวิทยาที่รุนแรงจะเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากปี 2593 ในฉากทัศน์ (Scenario) ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับสูง
นอกจากนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงขึ้น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และการรุกล้ำของน้ำเค็ม (Saline Incursion) จะยิ่งทำให้ผลกระทบมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
ภาระค่าใช้จ่ายด้านอุทกภัย-ภัยแล้งของภาครัฐเพิ่มขึ้น
ปัญหาอุทกภัยส่งผลให้รัฐบาลไทยสูญเสียรายได้ประมาณ 3.7% ของรายได้ภาษีในปี 2554 และ 2.6% ของรายได้รวมในปี 2555 ภาครัฐสูญเสียทรัพย์สิน 1.41 แสนล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมทรัพย์สินประมาณ 3.88 แสนล้านบาท (3.4% ของ GDP) ในปี 2562 มีรายงานว่ารัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท (0.15% ของ GDP) ให้แก่เกษตรกร เพื่อชดเชยความเสียหายต่อพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย
นอกจากนี้ยังมีการประกาศมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ โดยมีค่าใช้จ่าย 6 หมื่นล้านบาท (0.36% ของ GDP) และเมื่อเวลาผ่านไปคาดว่าค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการชดเชย (ส่วนใหญ่ให้กับเกษตรกร) จะยิ่งเพิ่มขึ้น
ต้นทุนด้านเศรษฐกิจมหภาคจากปัญหาอุทกภัยเพิ่มขึ้น
เมื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ความรุนแรงและความถี่ของปัญหาอุทกภัยเพิ่มขึ้น ต้นทุนทางเศรษฐกิจก็จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน โดยหากปัญหาอุทกภัยเกิดขึ้นในวงกว้าง ธุรกิจจำนวนมากจะต้องลดการผลิตลงในช่วงที่เกิดปัญหาอุทกภัยและช่วงของการฟื้นฟู
นอกจากนี้ ธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาอุทกภัยอาจถูกบีบให้ลดการผลิตลง เนื่องจากปัญหาของห่วงโซ่อุปทาน โดยการสูญเสียรายได้ยังอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจด้านอุปสงค์อีกด้วย
โดยรวมแล้วผลกระทบจากอุทกภัยใหญ่ (เช่น กรณีอุทกภัยในปี 2554) อาจทำให้เกิดความสูญเสีย 10% ของการผลิต แต่หากไม่มีการปรับห่วงโซ่อุปทานเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ความสูญเสียด้านการผลิตอาจกลายเป็น 15% ภายในปี 2573
ดังนั้นการรักษาความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานจะช่วยให้ธุรกิจสามารถชดเชยผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยที่รุนแรงขึ้นได้บางส่วน อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยจะยังคงอยู่ หากรัฐบาลไม่มีมาตรการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
อ้างอิง: