×

ทำไมฤดูกาลเทนนิสคอร์ตหญ้าถึงแสนสั้น?

27.06.2023
  • LOADING...

หลังจบการแข่งขันเฟรนช์โอเพน แกรนด์สแลมที่ 2 ของทุกปี ซึ่งเป็นการแข่งขันบนคอร์ตดิน นั่นหมายความว่าฤดูกาลของเทนนิสเดินทางเข้าสู่ในช่วง ‘ฤดูกาลคอร์ตหญ้า’ แม้จะมีชื่อเรียกกันแบบนั้น แต่เอาเข้าจริงแล้ว ‘ฤดูกาลคอร์ตหญ้า’ ถือเป็นช่วงเวลาที่สั้นมากสำหรับการแข่งขันเทนนิสในแต่ละปี

 

ตามปกติแล้วฤดูกาลคอร์ตหญ้าจะเริ่มต้นทันทีในวันจันทร์แรกหลังจบศึกที่โรลังด์ การ์รอส และสิ้นสุดลงในอีกหนึ่งเดือนต่อมา โดยจะมีทัวร์นาเมนต์วอร์มอัพราว 4 รายการในช่วงสองสัปดาห์ เพื่อช่วยให้บรรดานักเทนนิสปรับตัวจากคอร์ตดินที่ลูกกระดอนด้วยความสูง แต่กลับมีสปีดบอลช้า ไปสู่คอร์ตหญ้าที่บอลมักจะกระดอนต่ำ แต่สปีดบอลกลับมีความรวดเร็วมาก

 

 

ด้วยเวลาที่สั้น และในแต่ละรายการวอร์มอัพของเทนนิสคอร์ตหญ้า ไม่มีเทนนิสระดับมาสเตอร์ 1000 รวมอยู่เลย ทำให้เรามักจะเห็นนักเทนนิสบางคน โดยเฉพาะ โนวัค โยโควิช เลือกที่จะข้ามทัวร์นาเมนต์อุ่นเครื่องเหล่านี้ และกระโดดไปเล่นใน วิมเบิลดันรายการเดียวเท่านั้น

 

ระยะเวลาที่สั้นมาก เรียกได้ว่า ‘ฤดูกาลคอร์ตหญ้า’ เป็นฤดูกาลที่สั้นที่สุดในวงการเทนนิสเลยก็ว่าได้ เมื่อเทียบกับฤดูกาลคอร์ตดิน ซึ่งเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงมิถุนายน เป็นเวลาถึง 4 เดือน และยิ่งไม่ต้องไปเทียบกับฤดูกาลฮาร์ดคอร์ต ที่กินเวลาตั้งแต่ช่วงออกสตาร์ทฤดูกาลใหม่เดือนมกราคม ก่อนข้ามไปในเดือนกรกฎาคมถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน เป็นเวลาราว 5 เดือน

 

คำถามคือ เพราะอะไรฤดูกาลคอร์ตหญ้าถึงมีระยะเวลาที่สั้นกว่าฤดูกาลอื่นๆ ของเทนนิสอย่างมาก?

 

หากจะตอบคำถามนี้อย่างตรงจุด โดยตรงไปตรงมาและไม่อ้อมค้อม คำตอบคงจะเป็นเรื่องของจำนวนคอร์ตที่น้อย ซึ่งยากที่จะหาคอร์ตเทนนิสที่เป็นพื้นหญ้ามาจัดการแข่งขันเพื่อให้การแข่งขันในแต่ละปียาวนานกว่า 1 เดือน

 

ที่เป็นเช่นนั้นเพราะคอร์ตที่มีพื้นหญ้า จำเป็นต้องมีการดูแลรักษาพื้นคอร์ตอย่างต่อเนื่อง เพราะสนามหญ้าต้องการการบำรุงรักษาทุกวัน และการใช้งานก็ค่อนข้างสั้น โดยจำเป็นต้องจำกัดการลงเล่นในแต่ละสนามต่อวัน เพื่อป้องกันไม่ให้พื้นผิวหญ้าเสื่อมสภาพ

 

ยกตัวอย่างที่ ออล อิงแลนด์ ลอว์น เทนนิส คลับ สถานที่จัดการแข่งขันในศึก วิมเบิลดัน พวกเขาต้องมีการตรวจสอบตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้แน่ใจว่าหญ้ามีสุขภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ยังต้องรดน้ำ กำจัดวัชพืชด้วยมือ (ย้ำว่า ‘ด้วยมือ’ เพราะยาฆ่าแมลงส่งผลต่อผิวดินมากเกินไป)

 

 

นอกจากนั้นแล้ว ในระหว่างการแข่งขันหญ้าบนคอร์ตจะต้องถูกตัดเล็มทุกวัน ให้มีความยาว 8 มิลลิเมตร ไม่มากกว่านั้น แถมยังต้องรดน้ำให้ตรงเวลาเพื่อให้แน่ใจว่าดินไม่มีน้ำขัง และพื้นผิวของหญ้าจะแห้งทันเมื่อการแข่งขันเทนนิสจะเริ่มต้นขึ้น

 

การรดน้ำในคอร์ตหญ้าเป็นเรื่องเล็กๆ ที่สำคัญมาก เพราะหากรดน้ำไม่ตรงเวลา อาจจะส่งผลให้มีน้ำขังในคอร์ตระหว่างการแข่งขัน นอกจากจะส่งผลให้ผิวหน้าดินเสียหายเวลาที่มีคนไปย่ำ จนอาจจะทำให้หญ้าตายก่อนกำหนดแล้ว ยังส่งผลต่อความปลอดภัยของนักเทนนิสอย่างมากด้วย เพราะใบหญ้าจะมีความลื่นมากกว่าปกติ และส่งผลให้นักเทนนิสอาจจะลื่นล้ม หรือได้รับบาดเจ็บรุนแรงได้

 

และหลังจากการแข่งขันจบลงแล้ว หญ้าทั้งหมดจำเป็นต้องถูกรื้อออก เพื่อปรับสภาพผิวหน้าดิน และลงหญ้าล็อตใหม่ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน เพื่อให้รากของหญ้าหยั่งลงในพื้นแบบแข็งแรง และคอร์ตจะพร้อมใช้เพื่อรับการแข่งขันในปีต่อไป

 

การลงหญ้าใหม่ทุกปี นับเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาลสำหรับ ออล อิงแลนด์ ลอว์น เทนนิส คลับ พวกเขาต้องใช้เมล็ดหญ้า 9 ตันในแต่ละปีสำหรับการบำรุงรักษาและปรับปรุงสนาม นอกจากนี้พวกเขาต้องเสียค่าใช้จ่ายให้กับคนงานที่คอยดูแลหญ้าในแต่ละเดือนด้วย

 

 

ตรงกันข้ามกันคอร์ตหญ้าที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทุกเดือนในการดูแลพวกมัน ฮาร์ดคอร์ต กลับแทบไม่ต้องเสียค่าดูแลเลย นั่นทำให้สนามเทนนิสหลายสนาม ตัดสินใจเปลี่ยนพื้นสนามจากคอร์ตหญ้ามาเป็นฮาร์ดคอร์ต และส่งผลให้ฮาร์ดคอร์ตเป็นพื้นสนามที่นิยมใช้กันมากที่สุดในการแข่งขันเทนนิส

 

หนึ่งในเทนนิสรายการใหญ่ที่ตัดสินใจทำแบบนั้น และส่งผลสำคัญให้ฤดูกาลคอร์ตหญ้าลดลงมาเหลือแค่ปีละ 1 เดือน คือ ออสเตรเลียนโอเพน

 

แต่ก่อนศึกแกรนด์สแลมในเขตดาวน์อันเดอร์รายการนี้ใช้คอร์ตหญ้ามาโดยตลอด จนกระทั่งในปี 1987 ก็มีการตัดสินใจเปลี่ยนพื้นคอร์ตมาเป็นฮาร์ดคอร์ตเพื่อลดค่าใช้จ่ายในที่สุด

 

นั่นทำให้ศึกเทนนิสออสเตรเลียนโอเพน ปี 1988 กลายเป็นปีแรกที่ต้องลงสนามกันในฮาร์ดคอร์ต และเล่นในคอร์ตดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

 

ในตอนที่ออสเตรเลียนโอเพนตัดสินใจเปลี่ยนพื้นสนามจากคอร์ตหญ้ามาเป็นฮาร์ดคอร์ต ก็มีการวิเคราะห์กันว่านั่นอาจจะเป็นจุดสิ้นสุดของเทนนิสคอร์ตหญ้า และมีข่าวลือว่าทาง ออล อิงแลนด์ ลอว์น เทนนิส คลับ อาจพิจารณาเปลี่ยนพื้นสนามมาเป็น ฮาร์ดคอร์ตเช่นกัน แต่สุดท้ายฝ่ายจัดการแข่งขันวิมเบิลดันก็ยังเลือกที่จะคงเอกลักษณ์ของพวกเขาไว้จวบจนปัจจุบัน

 

ทั้งหมดนั่นคือคำตอบแบบตรงไปตรงมาของคำถามที่ว่า ทำไม ‘ฤดูกาลคอร์ตหญ้า’ ถึงมีระยะเวลาที่สั้นมากๆ แต่มันก็ยังมีคำตอบในเชิงการตลาดที่ยังไม่ได้เล่าให้ฟังอยู่ด้วย

 

เรื่องแรกคือ นักเทนนิสอาชีพส่วนมาก ไม่ค่อยชอบการแข่งขันคอร์ตหญ้าสักเท่าไร!

 

ด้วยความที่ฤดูกาลคอร์ตหญ้ามาต่อจากฤดูกาลคอร์ตดิน ความรู้สึกของนักเทนนิส จึงเป็นความรู้สึกเหมือนเล่นรถไฟเหาะตีลังกามากเกินไป

 

เพราะในคอร์ตดินพวกเขาต้องเจอกับบอลช้า กระดอนสูง และต้องแรลลี่นานกว่าจะได้แต่ละแต้ม แถมการเคลื่อนที่เพื่อเล่นแต่ละแต้ม แต่ในวันต่อมาหลังจากจบเฟรนช์โอเพนเพียงแค่วันเดียว พวกเขาต้องเจอกับบอลเร็วชนิดรับไม่ทัน แถมบอลเหล่านั้นยังกระดอนต่ำ การสไลด์ตีก็ทำได้ยาก เนื่องจากใบหญ้าค่อนข้างลื่น แถมอุปสรรคสำคัญคือการกระดอนที่มักจะแปลกประหลาด เพราะพื้นหญ้าไม่มีทางเรียบเสมอกันเหมือนพื้นอื่น ทำให้นักเทนนิสจำนวนมาก ‘ไม่ถูกใจสิ่งนี้’

 

แถมที่วิมเบิลดันยังถือเป็นรายการศักดิ์สิทธิ์ ที่มีพิธีรีตองมากที่สุด เช่น ผู้เล่นต้องใส่ชุดขาว (แม้กระทั่งชุดคลุม, กางเกงวอร์ม, รองเท้า หรือแม้แต่เชือกผูกรองเท้า!) หรือแม้แต่ทีมแพทย์ที่ลงไปในสนามก็ต้องใส่ชุดขาวเช่นกัน

 

ศึกวิมเบิลดัน 2022 นิค คีริออส ใส่รองเท้าแดงและหมวกแดงในการแข่งขัน ทั้งที่กฎข้อบังคับของรายการนี้ระบุว่า นักเทนนิสต้องใส่ชุดขาวตั้งแต่หัวจรดเท้า 

 

แม้กระทั่งตำนานคอร์ตหญ้าอย่าง โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ หรือ อดีตบิ๊กโฟร์อย่าง แอนดี มาร์รีย์ ที่วิมเบิลดันคือโฮมคอร์ตของเขา ยังแทบไม่เคยเอ่ยปากบอกว่าพวกเขาชอบสนามหญ้าเลย แต่เราอาจจะได้ยินเขาบอกว่า รักทัวร์นาเมนต์ รักบรรยากาศ หรือรักแฟนๆ เทนนิสมากกว่า

 

นอกจากผู้เล่นจะไม่ชอบแล้ว ฝ่ายจัดการแข่งขันก็ไม่ชอบสนามหญ้าเช่นกัน เพราะอย่างที่กล่าวไปแล้วว่า สนามหญ้าต้องการการดูแลด้วยงบประมาณที่สูงมาก และต้องดูแลตลอดทั้งปี ดังนั้นในเวลาอื่นๆ ก่อนการจัดการแข่งขันเทนนิสนั้น สนามที่มีพื้นหญ้าแทบไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้เลย เนื่องจากหญ้าอาจจะตายได้

 

โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ใกล้การแข่งขัน ซึ่งปกติแล้วช่วงเวลาสองสัปดาห์ก่อนการแข่งขัน จะเป็นช่วงเวลาที่ฝ่ายจัดการแข่งขันต้องประคบประหงมหญ้าของพวกเขาเป็นอย่างดี เพื่อที่ให้พวกมันสมบูรณ์มากที่สุดในวันแข่งขัน ซึ่งในช่วงนั้นก็มักจะเป็นฤดูร้อน ซึ่งหลายๆ คนอยากจะมีกิจกรรมร่วมกันกับเพื่อนๆ หรือครอบครัว แต่สนามเทนนิสของพวกเขาไม่สามารถถูกนำไปให้เช่าในช่วงเวลานั้นได้ ซึ่งต่างจากฮาร์ดคอร์ตที่ยังทำเงินให้กับฝ่ายจัดได้ตลอด

 

 

นอกจากนี้ สปอนเซอร์จำนวนหนึ่งก็ไม่ค่อยชอบฤดูกาลคอร์ตหญ้าเช่นกัน โดยเฉพาะในวิมเบิลดัน ซึ่งเป็นเหมือนสังเวียนศักดิ์สิทธิ์แห่งวงการเทนนิส

 

การที่เป็นสังเวียนศักดิ์สิทธิ์และมีพิธีการสูง ทำให้พวกเขาเลือกเฟ้นสปอนเซอร์เป็นอย่างมากด้วย ดังนั้นเราจะเห็นแบรนด์ไม่กี่เจ้าเท่านั้นที่จะมีโลโก้แปะในสนามได้ ซึ่งแน่นอนว่าปราศจากแบรนด์ประเภทการพนันอย่างเด็ดขาด

 

นอกจากจะรับสปอนเซอร์แบบระบุสเปกแล้ว วิมเบิลดันยังจำกัดพื้นที่ในการวางสปอนเซอร์อย่างมาก เมื่อเทียบกับการแข่งขันรายการอื่นๆ ดังนั้นนักการตลาด นักโฆษณา และสปอนเซอร์หลายๆ เจ้าจึง ‘ไม่ถูกใจสิ่งนี้’ เช่นกัน

 

ทั้งหมดที่ว่ามา จึงทำให้ไม่มีใครออกมาแสดงความต้องการที่จะยืดอายุการแข่งขันในคอร์ตหญ้าให้มันนานกว่าที่เป็นอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน แฟนๆ ก็ยังเชื่อว่า ‘ฤดูกาลคอร์ตหญ้า’ ก็ยังคงเป็นอะไรที่ ‘ขาดไม่ได้’ สำหรับวงการเทนนิสอยู่ดี

 

นั่นเองจึงทำให้การแข่งขันในคอร์ตหญ้ามีเวลาแค่เพียง 1 เดือน เพื่อตอบสนองแฟนๆ ที่ต้องการมัน แม้มันจะไม่ตอบสนองต่อนักเทนนิส ฝ่ายจัด หรือสปอนเซอร์สักเท่าไรก็ตาม

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising