บรรดาผู้เชี่ยวชาญออกโรงเตือนว่า การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศทำให้หลายประเทศทั่วเอเชียกำลังเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัดเป็นประวัติการณ์ และเป็นความร้อนที่แทบจะเกินขีดความสามารถของคนในการมีชีวิตรอดอยู่บนโลกนี้ได้แล้ว โดยมีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดในขณะนี้ก็คือประเทศอินเดีย
รายงานระบุว่า แม้ว่าฝนที่ตกลงมาในรัฐอุตตรประเทศ ทางภาคเหนือของอินเดีย ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จะช่วยบรรเทาคลื่นความร้อนที่กำลังแผดเผาประเทศอินเดียอยู่ในเวลานี้ได้ แต่ระดับอุณหภูมิที่ยังคงพุ่งสูงขึ้นได้สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแห่งนี้กลายเป็นกลุ่มที่เปราะบางที่สุดต่อผลกระทบของวิกฤตสภาพอากาศ
ทั้งนี้ สายฝนทำให้อุณหภูมิกว่า 47 องศาเซลเซียส ลดลงเหลือประมาณ 32 องศาเซลเซียส และมีแนวโน้มที่อุณหภูมิจะอยู่ในระดับดังกล่าว เนื่องจากคาดว่าจะมีฝนตกต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ด้วยอิทธิพลของฝนแรกในช่วงฤดูมรสุมปีนี้
อย่างไรก็ตาม รัฐพิหารที่อยู่ใกล้เคียงกันกลับไม่ได้อิทธิพลจากมรสุม และกำลังเข้าสู่ความร้อนระอุในสัปดาห์ที่สอง ทำให้โรงเรียนในพื้นที่ต้องปิดทำการจนถึงวันพุธ (28 มิถุนายน) รวมถึงทำให้อาการเจ็บป่วยของบางโรครุนแรงขึ้น และมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 44 รายจากความเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับความร้อนจัดในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
กรมอุตุนิยมวิทยาอินเดีย (IMD) คาดว่า อุณหภูมิจะเย็นลงเล็กน้อยในอีกไม่กี่วันข้างหน้า อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า วิกฤตสภาพอากาศมีแต่จะทำให้คลื่นความร้อนถี่ขึ้นและนานขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นการทดสอบความสามารถในการปรับตัวของอินเดีย รวมถึงการจัดการระบบสาธารณสุขของประเทศ เมื่อลดความเสียหายจากการเสียชีวิต โดย Dr.Chandni Singh นักวิจัยอาวุโสแห่งสถาบันเพื่อการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์แห่งอินเดีย กล่าวว่า หากระบบสาธารณสุขไม่ทำงานและมีบริการฉุกเฉินไม่เพียงพอ ย่อมทำให้แนวโน้มการเสียชีวิตจากคลื่นความร้อนเพิ่มมากขึ้น
แม้จะยังไม่รู้ว่าคลื่นความร้อนจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ Dr.Singh ยืนยันว่า สิ่งที่รู้อย่างแน่นอนแล้วก็คือ มนุษย์กำลังเข้าใกล้ขีดจำกัดของการอยู่รอดภายในกลางศตวรรษนี้”
ทั้งนี้ อินเดียไม่ใช่ประเทศเดียวในภูมิภาคนี้ที่ประสบกับความร้อนระอุเช่นนี้ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา
โดยในจีนมีรายงานว่า อุณหภูมิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศน่าจะยังคงสูงต่อไปในอีกไม่กี่วันข้างหน้า โดยระดับปรอทจะพุ่งสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสในบางเมือง เช่น เทียนจิน เหอเป่ย และซานตง ตามรายงานของหอสังเกตการณ์อุตุนิยมวิทยา
ส่วนในกรุงอิสลามาบัด เมืองหลวงของปากีสถาน อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นถึง 39 องศาเซลเซียสเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก่อนที่ฝนสุดสัปดาห์จะบรรเทาลงบางส่วนในภูมิภาคนี้
ขณะที่การศึกษาวิจัยส่วนหนึ่งเริ่มออกมาส่งสัญญาณเตือนแล้วว่า ผลกระทบจากคลื่นความร้อนอาจรุนแรงอยู่ในขั้นที่จะสร้างความเสียหายทำลายล้างร้ายแรงได้ เพราะคลื่นความร้อนที่ถี่ขึ้นและร้อนจัดมากขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น อินเดีย ที่มักประสบกับคลื่นความร้อนในช่วงฤดูร้อนเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คลื่นความร้อนมาเร็วกว่าปกติและยาวนานกว่า
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อินเดียประสบกับคลื่นความร้อน ซึ่งทำให้อุณหภูมิในเมืองหลวงของประเทศอย่างกรุงนิวเดลีพุ่งเกิน 40 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน ในบางรัฐอากาศร้อนจัดทำให้ต้องประกาศปิดโรงเรียน สร้างความเสียหายต่อพืชผลทางเกษตรและสร้างแรงกดดันต่อแหล่งพลังงาน ขณะที่เจ้าหน้าที่เตือนประชาชนให้อยู่ในที่ร่มและดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
ในงานวิจัยฉบับหนึ่งที่ที่ตีพิมพ์ในเดือนเมษายนโดยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์กล่าวว่า คลื่นความร้อนในอินเดียกำลังสร้าง ‘ภาระอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน’ ต่อระบบการเกษตร เศรษฐกิจ และสาธารณสุขของอินเดีย ขัดขวางความพยายามในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนา
ผลการศึกษาชี้ว่า การคาดการณ์ระยะยาวบ่งชี้ว่าคลื่นความร้อนของอินเดียสามารถข้ามขีดจำกัดการรอดชีวิตของมนุษย์ที่มีสุขภาพแข็งแรงซึ่งนอนอยู่ในที่ร่มได้ภายในปี 2050 และสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อผลิตภาพแรงงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตของผู้คนราว 310-480 ล้านคน ความสามารถในการทำงานกลางแจ้งลดลง 15% ในช่วงเวลากลางวัน เนื่องจากความร้อนสูงภายในปี 2050
อ้างอิง: