นักลงทุนสมัยใหม่ทั้งรายย่อยและสถาบันต้องใส่ใจและสนใจต่อการดำเนินงานด้านความยั่งยืน หรือ ESG ของธุรกิจ เพราะประเด็น ESG กระทบต่อความเสี่ยงและโอกาสทางธุรกิจทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
แต่คำถามสำคัญคือ นักลงทุนจะมีกรอบวิธีประเมินผลงานของบริษัทในด้าน ESG อย่างไร ถึงจะเป็นประโยชน์สูงสุดในการพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน
ในบทความนี้ผมขอนำเสนอกรอบวิธีคิดที่นักลงทุนทุกคนสามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ผลงานด้าน ESG ของธุรกิจได้อย่างไม่ยากนัก เป็นกรอบที่พิจารณาถึงทั้งปัจจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ แต่ไม่ต้องอาศัยทฤษฎีหรือสูตรคำนวณที่ซับซ้อน
ในกรอบวิธีคิดนี้ นักลงทุนควรวิเคราะห์ผลงานด้านความยั่งยืนของบริษัทครอบคลุม 5 มิติ
มิติแรกคือ ‘เกรด’ หรือคะแนนการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัท (ESG Scores and Ratings) ซึ่งประเมินโดยผู้ให้บริการที่น่าเชื่อถือ
คะแนน ESG ของแต่ละธุรกิจสะท้อนภาพรวมของผลงานของบริษัททั้งในด้านสิ่งแวดล้อม (E – Environment), สังคม (S – Social) และบรรษัทภิบาล (G – Governance)
ปัจจุบันมีผู้ให้บริการประเมินคะแนนด้าน ESG ของบริษัทหลายสำนัก เช่น MSCI และ S&P Global ซึ่งนักลงทุนเข้าถึงข้อมูลส่วนนี้ได้ไม่ยาก โดยสามารถตรวจสอบคะแนน ESG ในภาพรวมของบริษัทต่างๆ ได้ผ่านเว็บไซต์ของผู้ให้บริการเหล่านี้
ตัวอย่างเช่น MSCI ESG Ratings จะให้เกรดการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของแต่ละบริษัท (AAA, AA, A, BBB, BB, B และ CCC) คล้ายกับการจัดลำดับความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ หรือ Credit Ratings
อีกตัวอย่างคือ S&P Global ESG Scores ซึ่งจะให้คะแนนผลงานด้านความยั่งยืนของแต่ละบริษัท โดยมีคะแนนเต็ม 100 คะแนน โดยคะแนน ESG ของ S&P เป็นพื้นฐานในการจัดอันดับบริษัทให้เข้าไปอยู่ในดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Indices: DJSI ซึ่งบริษัทไทยหลายบริษัทได้รับการประเมินให้อยู่ในดัชนี DJSI ด้วย
เกรดหรือคะแนนรวม ESG ข้างต้นคิดคำนวณมาจากคะแนนดิบในประเด็นย่อยต่างๆ ภายใต้กรอบ ESG ซึ่งประเมินจากข้อมูลตัวชี้วัดหลายร้อยตัว
ในด้านสิ่งแวดล้อม ต้องพิจารณาข้อมูลผลการดำเนินงาน รวมถึงทิศทางนโยบายและเป้าหมายของบริษัทที่เกี่ยวกับการลดก๊าซเรือนกระจก การบริหารจัดการขยะและของเสีย การบริหารจัดการน้ำ การจัดซื้อวัตถุดิบที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมระดับสากล และการลดการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์
ในด้านสังคม ต้องพิจารณาข้อมูลและนโยบายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชน ความปลอดภัยในการทำงาน การดูแลชุมชนในพื้นที่ที่บริษัทดำเนินธุรกิจ ตลอดจนการสรรหาและพัฒนาบุคลากรของบริษัท การส่งเสริมความแตกต่างหลากหลายและการยอมรับของพนักงาน (Diversity & Inclusion) และความเท่าเทียมระหว่างเพศในสถานที่ทำงาน รวมทั้งการเปิดช่องทางให้แรงงานร้องทุกข์ได้อย่างอิสระโดยไม่ถูกคุกคาม มีกลไกตรวจสอบข้อร้องเรียนของแรงงานและการแก้ไขเยียวยาที่มีประสิทธิภาพ
ในด้านบรรษัทภิบาล ประเมินจากตัวชี้วัดที่เกี่ยวกับคณะกรรมการบริหารบริษัท ความเป็นอิสระของกรรมการบริหาร ความโปร่งใสในด้านการจ่ายภาษี จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งกลไกการทำงานด้านความยั่งยืนของบริษัท
จะเห็นได้ว่าคะแนน ESG มันสะท้อนมิติการดำเนินงานของธุรกิจที่ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ในวงกว้าง เป็นการตีความความยั่งยืนที่กว้าง ไม่ใช่จำกัดอยู่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อมเท่านั้น
นักลงทุนควรศึกษา ‘ไส้ใน’ ของคะแนน ESG ของธุรกิจในแต่ละด้านอย่างลงลึก เพื่อดูว่าคะแนนของบริษัทในประเด็นปลีกย่อยต่างๆ มันสะท้อนว่า จุดแข็งและจุดอ่อนหรือจุดที่ควรปรับปรุงของบริษัทอยู่ตรงไหน
เช่น บางบริษัทอาจได้คะแนนด้านสิ่งแวดล้อมดีมาก แต่คะแนนด้านสังคมไม่ค่อยดีนัก นักลงทุนที่ถือหุ้นของบริษัทอยู่ก็สามารถส่งเสียงและเสนอแนะให้บริษัทปรับปรุงการทำงานในด้านสังคมให้ดียิ่งขึ้น
แต่นักลงทุนไม่ควรใช้คะแนน ESG เป็นเครื่องชี้วัดเดียวในการประเมินผลงานด้านความยั่งยืนของแต่ละธุรกิจ
หลายครั้งเราจะพบว่าคะแนน ESG ของธุรกิจเดียวกันที่ประเมินโดยผู้ให้บริการต่างสำนัก อาจแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
เช่น บริษัท Microsoft ได้เกรด MSCI ESG Rating ระดับ AAA (เกรดดีที่สุด) แต่กลับได้คะแนน S&P ESG Score เพียงแค่ 56 เต็ม 100 ขณะที่บริษัทไทยชื่อดังหลายบริษัทได้คะแนน S&P ESG Score สูงเป็นลำดับต้นๆ ของอุตสาหกรรม แต่กลับได้เกรด MSCI กลางๆ ไม่สูงนัก ทั้งนี้ เพราะระเบียบวิธีการประเมินคะแนน ESG ของผู้ให้บริการแต่ละสำนักแตกต่างกัน ให้น้ำหนักกับแต่ละเรื่องไม่เหมือนกัน ไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกันในการประเมิน และบอกไม่ได้ว่าสำนักไหนดีกว่ากัน
นักลงทุนจึงควรศึกษารายละเอียดของคะแนน ESG ในแต่ละประเด็นย่อย และควรตระหนักว่าคะแนน ESG ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าบริษัทมีผลงานที่ดีเลิศหรือย่ำแย่ในเรื่อง ESG เสมอไป แต่จำเป็นต้องพิจารณามิติเชิงคุณภาพอื่นๆ ประกอบด้วย
มิติที่ 2 คือ Tone from the Top จากผู้นำบริษัท รวมถึงเป้าหมายและกลยุทธ์ความยั่งยืน
นักลงทุนควรศึกษาและประเมินว่า กลยุทธ์และเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัทมีความชัดเจน ตอบโจทย์ความเสี่ยงและโอกาสในด้าน ESG รวมทั้งวัดผลได้ในระดับใด และบริษัทได้บูรณาการเรื่องความยั่งยืนเข้าไปในกลยุทธ์ธุรกิจในภาพรวมหรือไม่
เช่น หากบริษัทสื่อสารว่าจะลดก๊าซเรือนกระจก 30% ภายในปี 2030 บริษัทก็ต้องชี้แจงด้วยว่า เป้าหมายดังกล่าวตั้งอยู่บนหลักการหรือพื้นฐานอะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร และบริษัทมีแผนการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวอย่างไร
ที่สำคัญต้องพิจารณาว่า ผู้นำบริษัทอย่างซีอีโอมีความเข้าใจและให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนมากน้อยเพียงใด คำพูดและการสื่อสารจากซีอีโอในฐานะหัวเรือใหญ่ของบริษัทเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้าขาด Tone from the Top และวิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนที่ชัดเจนจากซีอีโอก็คงยากที่ฝ่ายต่างๆ ในบริษัทจะตื่นตัวและเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้
นักลงทุนจึงควรติดตามการสื่อสารเรื่องความยั่งยืนของซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ควรศึกษากลยุทธ์ความยั่งยืนจากรายงานประจำปี / รายงานความยั่งยืนของบริษัท รวมทั้งควรตั้งคำถามในเรื่องความยั่งยืนกับผู้บริหารระดับสูง ทั้งในการประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้น (AGM) การประกาศผลการดำเนินงานประจำไตรมาสของบริษัท และในโอกาสอื่นๆ
มิติที่ 3 คือ ความตระหนักรู้และกลไกการขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืนภายในบริษัท
เบื้องต้นนักลงทุนควรตรวจสอบว่าบริษัทมีทีมงานด้านความยั่งยืนที่แข็งแกร่งแค่ไหน มีการตั้งบุคคลขึ้นมาเป็น Chief Sustainability Officer (CSO) เพื่อเป็น ‘เจ้าภาพหลัก’ ในการขับเคลื่อนงานด้านนี้โดยตรงหรือไม่ บุคคลนั้นมีความรู้และประสบการณ์ด้านความยั่งยืนมากน้อยเพียงใด
แต่แค่นั้นยังไม่พอ งานด้านความยั่งยืนจะสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือและการผลักดันจากทุกฝ่ายของบริษัท การขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนภายในบริษัทต้องอาศัยองคาพยพจากฝ่ายต่างๆ ทั่วทั้งองค์กร
นักลงทุนจึงควรศึกษาว่า บริษัทมีการสร้างกลไกการทำงานด้านความยั่งยืนภายในบริษัทหรือไม่ เช่น คณะกรรมการด้านความยั่งยืน (ในระดับกรรมการบริหาร) และคณะทำงานด้านความยั่งยืนที่มีผู้บริหารระดับสูงจากฝ่ายต่างๆ นั่งอยู่ด้วย เพื่อเป็นกลไกในการตัดสินใจกำหนดและดำเนินกลยุทธ์ความยั่งยืนของบริษัท และตรวจสอบว่ามีกลไกที่จะนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมจริงๆ
นอกจากนี้นักลงทุนควรประเมินว่า ผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายต่างๆ เช่น ฝ่ายการเงิน (CFO) ฝ่ายขายและการตลาด ฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดซื้อวัตถุดิบ ฝ่ายบริหารจัดการความเสี่ยง ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ ฯลฯ มีความตระหนักและเข้าใจในเรื่องความยั่งยืนมากน้อยเพียงใด มีการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายงานของตนในระดับใด
เรียกว่าต้องให้ทุกฝ่ายงานเป็นเจ้าของ หรือมี Ownership ร่วมกันในเรื่องความยั่งยืน เพื่อประสานพลังขับเคลื่อนงานไปพร้อมกัน ไม่ใช่ว่าทีมความยั่งยืนผลักดันงานอยู่ฝ่ายเดียว
มิติที่ 4 คือ ความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG
ความโปร่งใสเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะหากบริษัทใดพยายามปกปิดหรือบิดเบือนข้อมูลด้าน ESG จะทำให้เกิดความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อนักลงทุน และอาจเข้าข่ายการสร้างภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืนที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือที่เรียกว่า ‘การฟอกเขียว’ หรือ Greenwashing
ความโปร่งใสจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อธุรกิจเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ในมิติสำคัญต่างๆ อย่างครบถ้วน รอบด้าน และตรงกับข้อเท็จจริง โดยสามารถเปิดเผยได้ผ่าน One Report, รายงานประจำปี / รายงานความยั่งยืน, เว็บไซต์ของบริษัท และช่องทางอื่นๆ ซึ่งนักลงทุนต้องศึกษาทำความเข้าใจข้อมูลเหล่านี้ให้ถ่องแท้ และเปรียบเทียบกับข้อมูลของบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน
นอกจากนี้นักลงทุนควรตรวจสอบว่าข้อมูลด้าน ESG ที่บริษัทเปิดเผยมีความน่าเชื่อถือเพียงใด เช่น ข้อมูลตัวเลขต่างๆ ได้รับการสอบทาน หรือ Audit จากผู้สอบทานที่น่าเชื่อถือหรือไม่
และควรดูว่าการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทนั้น นอกจากจะนำเสนอผลงานและความสำเร็จแล้ว มีการสื่อสารถึงประเด็นท้าทายและจุดที่ควรปรับปรุงด้วยหรือไม่ เพราะไม่มีธุรกิจไหนในโลกที่สมบูรณ์แบบในเรื่อง ESG
ธุรกิจที่ดีจึงควรสื่อสารกับนักลงทุนด้วยความจริงใจ ยอมรับว่ามีประเด็น ESG ใดบ้างที่บริษัทยังทำงานได้ไม่เต็มที่หรือยังอยู่ระหว่างการดำเนินงาน เพื่อพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น
มิติที่ 5 คือ การหารือและร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการทำงานด้านความยั่งยืนของบริษัท
การจัดการกับประเด็นท้าทายด้านความยั่งยืนของธุรกิจต้องอาศัยการทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนอกบริษัทด้วย การหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะทำให้บริษัทเข้าใจบริบทและสาเหตุของปัญหาได้ดียิ่งขึ้น และร่วมกันหาทางแก้ไขที่เหมาะสมได้
นักลงทุนจึงควรประเมินว่าบริษัทมีการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่จริงใจมากน้อยเพียงใด เปิดรับฟังข้อคิดเห็นและข้อห่วงกังวลของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแค่ไหน และบริษัทได้นำเอาข้อเสนอแนะไปปรับเป็นนโยบายเพื่อแก้ปัญหาด้านความยั่งยืนหรือไม่
นักลงทุนยังควรศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับข้อคิดเห็นจากองค์กรภายนอก เช่น องค์กรภาคประชาสังคม ทั้งด้านแรงงาน สิ่งแวดล้อม และสังคม ที่มีพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้นๆ พิจารณาว่าองค์กรเหล่านี้มีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อการทำงานด้าน ESG ของบริษัทอย่างไรบ้าง และบริษัทมีการชี้แจงหรือทำงานร่วมกับองค์กรเหล่านี้เพื่อแก้ปัญหามากน้อยแค่ไหน
นอกจากนี้ธุรกิจอาจมีความร่วมมือกับบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความยั่งยืนทั้งระบบ เพราะประเด็นท้าทายด้าน ESG หลายเรื่องต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งอุตสาหกรรม ไม่สามารถทำได้โดยอาศัยบริษัทใดบริษัทหนึ่ง นักลงทุนจึงควรศึกษาว่าธุรกิจมีการดำเนินความร่วมมือกับธุรกิจอื่นๆ เพื่อขับเคลื่อนงานความยั่งยืนหรือไม่
สรุปแล้วการวิเคราะห์และประเมินผลงานด้าน ESG ของธุรกิจต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการพิจารณา ต้องดูทั้งปัจจัยเชิงปริมาณและคุณภาพ ต้องประเมินความมุ่งมั่นและจริงใจของผู้บริหารระดับสูงของบริษัท ต้องพิจารณากลไกการขับเคลื่อนงานทั้งภายในและภายนอกของบริษัท และต้องดูทั้งผลงานในอดีต การทำงานในปัจจุบัน และแผนงานในอนาคต
หากนักลงทุนเอาจริงเอาจังกับการประเมินผลงานด้านความยั่งยืนของบริษัท นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG และการตัดสินใจของนักลงทุนแล้ว ยังจะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ธุรกิจยกระดับการทำงานด้านความยั่งยืนให้เข้มข้นยิ่งขึ้น