×

“นิตยสารทุกเล่มต้องมีบทความดีๆ” ทะกะฮิโระ คิโนะชิตะ บ.ก. ‘POPEYE’ นิตยสารที่ยืนเด่นท้าทายในวันที่โลกโกออนไลน์

07.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ‘Magazine for City Boys’ คือคอนเซ็ปต์หลักที่ POPEYE ยึดถือมาตลอด 41 ปี โดยเนื้อหาภายในเล่มจะให้อารมณ์นิตยสารสำหรับวัยรุ่นผู้ชายในเมืองสูง แต่ช่วงระยะหลังๆ ทะกะฮิโระ คิโนะชิตะ (Takahiro Kinoshita) บรรณาธิการนิตยสาร POPEYE บอกว่าพวกเขาพยายามจะขยายกลุ่มคนอ่านให้กว้างขึ้น POPEYE จึงอาจจะไม่ใช่แค่นิตยสารสำหรับกลุ่มซิตี้บอยอีกต่อไป
  • สถานการณ์ตลาดสื่อสิ่งพิมพ์ในประเทศญี่ปุ่นอยู่ในช่วงลำบากไม่แพ้กัน บางบริษัทต้องเปลี่ยนตัวเองไปทำธุรกิจรับให้คำปรึกษาหรือหันไปทำสื่อออนไลน์ นับเป็นโชคของ POPEYE ที่พวกเขาไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าว โดยทางทะกะฮิโระเชื่อว่าความพิเศษที่ทำให้สื่อสิ่งพิมพ์บางเจ้ายังได้เปรียบสื่อออนไลน์คือ ความสัมพันธ์ระหว่างตัวคนอ่าน, นักเขียน และหัวนิตยสารที่ก่อตัวมาเป็นเวลานาน
  • ทะกะฮิโระมองว่าสื่อเก่าและสื่อใหม่ต่างก็มีข้อดี 3 ข้อที่ต่างฝ่ายต่างได้เปรียบกันคนละด้าน เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ (ดีไซน์, ระยะห่างระหว่างคนอ่านและนักเขียน, มุมมองที่มีความยูนีก) สื่อออนไลน์ (ความเร็ว, ข้อมูลจำนวนมาก, งบประมาณ) ซึ่งการที่เขาเลือกที่จะไม่พา POPEYE ไปลุยโลกออนไลน์ไม่ใช่เพราะเขามองว่าออนไลน์เป็นสิ่งไม่ดี เพียงแต่วิธีการทำงานของสื่อทั้งสองชนิดมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง และตัวเขาเองก็ไม่ถนัดออนไลน์

     เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยสะดุดตากับนิตยสารแฟชั่นจากประเทศญี่ปุ่นชื่อ POPEYE กันมาบ้าง

     เพราะนอกจากจะใช้ชื่อเรียกเหมือนตัวละครกะลาสีชื่อดังจอมพลัง ผลงานของ เอลซี คริสเลอร์ ซีการ์ (Elzie Crisler Segar) แล้ว สไตล์ของรูปภาพและตัวรูปเล่มก็เย้ายวนใจต่อการหยิบขึ้นมาอ่านเสียเหลือเกิน (แม้จะมีข้อจำกัดเรื่องภาษาอยู่บ้างก็ตาม)

     POPEYE คือนิตยสารรายเดือนจากสำนักพิมพ์ Magazine World ที่ถือกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1976 ด้วยคอนเซ็ปต์ ‘Magazine for City Boys’ ซึ่งหากนับรวมเทียนบนหน้าเค้กฉลองวันเกิดในปี 2017 นี้ก็จะได้จำนวนทั้งหมด 41 ปีพอดี! ทำให้พวกเขากลายเป็นนิตยสารที่เปิดตัวมาอย่างยาวนานที่สุดเล่มหนึ่งของประเทศญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้

     เดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทะกะฮิโระ คิโนะชิตะ (Takahiro Kinoshita) บรรณาธิการบริหารนิตยสาร POPEYE ได้เดินทางมาเป็นวิทยากรในงาน ‘The Future of Print: The New Culture and The New Business’ ที่ทาง Bangkok Design Festival เป็นผู้จัดขึ้น เรามีโอกาสได้พูดคุยกับทะกะฮิโระแบบตัวต่อตัวถึงเรื่องราวต่างๆ ของนิตยสาร POPEYE และทิศทางวงการสื่อสิ่งพิมพ์ประเทศญี่ปุ่น รวมไปถึงจุดยืนที่เจ้าตัวประกาศไว้ชัดเจนว่า

     “หัวเด็ดตีนขาดอย่างไรก็ขอไม่โกออนไลน์!”

ทุกวันนี้มีข้อมูลมากมายที่หลั่งไหลพรั่งพรูบนเว็บไซต์ ซึ่งบางทีข้อมูลพวกนี้ก็อาจจะทำให้คุณจมได้เช่นกัน

 

อยากให้คุณช่วยขยายความคำว่า ‘Magazine for City Boys’ ว่าหมายถึงอะไร

     เดิมที POPEYE เป็นนิตยสารสำหรับกลุ่มวัยรุ่นทั่วๆ ไป ที่ตอบสนองความต้องการของพวกเขา และทำให้พวกเขารู้สึกพึงพอใจในตัวเอง แต่ทุกวันนี้พวกเราพยายามจะขยายกลุ่มคนอ่านให้กว้างขึ้น ดังนั้นมันก็ไม่ใช่แค่นิตยสารสำหรับซิตี้บอยอีกแล้ว แต่เป็นนิตยสารสำหรับกลุ่มคนอ่านทั่วไปที่มีความสนใจในเรื่องราวต่างๆ

  

สมัยที่คุณยังเด็กๆ POPEYE มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของคุณอย่างไร เพราะครั้งหนึ่งคุณเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่าคุณเป็นแฟน POPEYE มาตั้งแต่เด็กและฝันว่าสักวันหนึ่งจะได้มาเป็นบรรณาธิการบริหารของนิตยสาร
     ทุกอย่างเลยครับ อย่างภาพรวมไลฟ์สไตล์ของผมทุกวันนี้ก็ได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจาก POPEYE ผมมีความฝันและความตั้งใจตั้งแต่อายุ 15 ปีแล้วว่าอยากเป็น บ.ก.ของนิตยสาร POPEYE
     สมัยที่ผมยังเด็ก ผมไม่ได้เติบโตในเมืองหลวงหรือโตเกียว พื้นเพของผมมาจากจังหวัดชิซุโอะกะ (Shizuoka) แต่ POPEYE ทำให้ผมสามารถสัมผัสถึงกลิ่นอายของความเป็นโตเกียวได้

 

สถานการณ์อุตสาหกรรมนิตยสารประเทศญี่ปุ่นในตอนนี้เป็นอย่างไร POPEYE ยังโอเคอยู่ไหม
     ช่วงนี้อุตสาหกรรมนิตยสารประเทศญี่ปุ่นไม่สู้ดีนัก ก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกแหละ นี่เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก นิตยสารบางหัวก็พยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่การทำธุรกิจประเภทอื่นๆ เช่น การโกออนไลน์ หรือกลายเป็นบริษัทรับให้คำปรึกษา แต่ POPEYE จะไม่มีทางทำอะไรอย่างนั้น พวกเราไม่มีนิตยสารออนไลน์                                                                      

พวกคุณรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมนิตยสารอย่างไร
     การที่นิตยสารอื่นๆ หลายหัวประสบกับความล้มเหลวและเริ่มปิดตัวลง เป็นเพราะว่ามันเป็นเรื่องยากในการต่อสู้กับวงการอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ปัจจุบัน นิตยสารบางหัวอาจจะทำได้ดีเมื่อเขาสามารถดึงพลังงานของตัวเองมาใช้ผลักดันให้ตัวนิตยสารสามารถไปต่อได้และไม่พ่ายแพ้ให้กับนิตยสารหัวอื่นๆ

 

POPEYE ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตินิตยสารเลยหรือ
     ไม่มีนะครับ พวกเราโอเคกันมาก แต่ถ้ามีปัญหาเมื่อไร บางทีพวกเราก็พร้อมจะเปลี่ยนไปเป็นออนไลน์แมกกาซีนอยู่แล้ว แต่ตอนนี้เรายังไม่มีแผนจะทำอะไรอย่างนั้น

 

อะไรทำให้ POPEYE ยังคงความพิเศษและแตกต่างจากนิตยสารหัวอื่นๆ ในประเทศญี่ปุ่นได้ในทุกวันนี้

     เราอยู่ในยุคที่ POPEYE ยังได้รับการเชิญไปพูดบรรยายตามที่ต่างๆ นอกประเทศญี่ปุ่นอยู่เป็นประจำ เพราะพวกเรามีฐานแฟนขนาดใหญ่ นั่นทำให้เราแตกต่างจากนิตยสารหัวอื่นๆ

 

 

ยังเชื่อในพลังของนิตยสารอยู่ไหม
     ทุกวันนี้มีข้อมูลมากมายที่หลั่งไหลพรั่งพรูบนเว็บไซต์ ซึ่งบางทีข้อมูลพวกนี้ก็อาจจะทำให้คุณจมได้เช่นกัน นอกจากนี้บางครั้งที่คุณได้อ่านเรื่องราวต่างๆ บนเว็บไซต์มันก็ทำให้คุณไม่รู้ว่าอะไรจริง อะไรไม่จริง แต่ถ้าคุณมีนิตยสารคุณก็สามารถเชื่อถือเนื้อหาของพวกเขาได้
     ขั้นตอนการทำนิตยสารไม่ใช่แค่การที่คุณต้องเช็กความถูกต้องของเนื้อหาเท่านั้น เพราะถึงอย่างไรมันก็เกิดความผิดพลาดได้อยู่ดี แต่สิ่งที่พิเศษของนิตยสารคือการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวผู้อ่านและตัวนิตยสาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

 

แล้วความสัมพันธ์แบบนี้มันไม่เกิดขึ้นเวลาที่เราอ่านเนื้อหาบนโลกออนไลน์หรือ
     มันก็มีเว็บไซต์สื่อที่ดีที่ให้เราได้ติดตามอยู่แหละครับ แต่ความสัมพันธ์ระหว่างตัวคนอ่านและสื่อ (POPEYE) ในรูปแบบนี้ถือเป็นความสัมพันธ์ที่ต้องใช้เวลาในการสร้างพอสมควร

 

ทำไมนิตยสารแฟชั่นอย่าง POPEYE ถึงเพิ่มความเป็นเนื้อหาไลฟ์สไตล์มากขึ้นในช่วงระยะหลังๆ

     เพราะผู้ชายไม่ได้สนใจแค่เรื่องแฟชั่นหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งเพียงอย่างเดียว ฉะนั้นมันก็เป็นการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติกับการที่เราจะเป็นทั้งนิตยสารแฟชั่นและเป็นนิตยสารไลฟ์สไตล์
ผมมองว่าคนที่มีงานอดิเรกหลายๆ อย่างเขาก็ไม่ได้ซื้อนิตยสารภาพยนตร์, นิตยสารท่องเที่ยว และนิตยสารแฟชั่นอย่างละเล่มเหมือนกัน แต่ POPEYE สามารถให้เนื้อหาและข้อมูลเหล่านี้ได้ด้วยการที่คุณซื้อนิตยสารเพียงเล่มเดียว นอกจากนี้แต่ละฉบับเราก็มีเนื้อหาพิเศษที่ต่างออกไปอีกด้วย

 

คุณบอกว่า POPEYE เป็นนิตยสารแมสแต่มีวิธีการทำงานที่ค่อนข้างอิสระ คุณพอจะอธิบายวิธีการนั้นให้เราฟังได้ไหม
     บางคนที่ทำนิตยสารอิสระเขาอาจจะเลือกทำสิ่งที่เขาอยากทำเท่านั้น ไม่ได้ขึ้นตรงกับโฆษณาหรือแบรนด์ไหน ซึ่ง POPEYE ก็ทำเหมือนกันครับ พวกเราจะทำเฉพาะสิ่งที่เราอยากทำเท่านั้น แต่คุณก็ต้องคิดให้ถี่ถ้วนก่อนที่คุณจะกระโดดจากการขายนิตยสารหลักหมื่นเล่มไปสู่หลักแสนเล่ม มันเป็นเรื่องที่คุณต้องคิดให้ดี

     คุณไม่จำเป็นต้องถูกควบคุมโดยแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง หรือโฆษณาใดโฆษณาหนึ่ง นิตยสารที่ดีย่อมทำงานร่วมกับผู้คน, แบรนด์ และโฆษณาด้วยกันได้เป็นอย่างดี

ผมคิดว่านิตยสารทุกเล่มจะต้องมีบทความดีๆ 

 

คิดว่าอะไรคือกลยุทธ์ที่ทำให้ POPEYE ประสบความสำเร็จ
     โชคไงครับ (หัวเราะ) ผมคิดว่านิตยสารทุกเล่มจะต้องมีบทความดีๆ รายงานในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งให้คนได้เริ่มติดตามกันอยู่แล้ว

 

สื่อสิ่งพิมพ์หรือนิตยสารเจ้าอื่นๆ จะเอาตัวรอดในยุคดิจิทัลได้อย่างไร
     (คิดนาน) ผมไม่ใช่แฟนของนิตยสารออนไลน์ สิ่งเดียวที่ผมสนใจคือการทำสื่อสิ่งพิมพ์และนิตยสาร

 

บนเวทีบรรยาย คุณกล่าวไว้ว่าสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์มีข้อดีของตัวเองอยู่ 3 ข้อ คุณช่วยอธิบายถึงความต่างของข้อดีเหล่านั้นอีกครั้งได้ไหม
     สื่อใหม่อย่างพวกสื่อออนไลน์ดูจะได้เปรียบมากกว่าสื่อเก่าอยู่พอสมควร แต่ในความเป็นจริงแล้วผมมองว่ามันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลยนะ โอเคแหละ ความเร็ว, ข้อมูลมากมาย และงบประมาณต้นทุน คือ 3 ข้อได้เปรียบของสื่อใหม่ แต่แค่เร็วมันก็ไม่ได้หมายความว่าดี แค่มีจำนวนข้อมูลมหาศาลก็ไม่ได้หมายความว่าดีอีกเช่นกัน และสุดท้ายไม่ว่างบประมาณที่คุณใช้ในการทำงานจะมากหรือน้อย มันก็ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่คุณทำจะออกมาดีหรือห่วย เพราะฉะนั้นผมก็ไม่ได้รู้สึกเลยว่าประโยชน์ของสื่อใหม่จะทำให้มันดีกว่าสื่อเก่าอย่างไร

 

นั่นแสดงว่าคุณก็จะไม่มีทางกระโดดไปเล่นกับสื่อออนไลน์เลยใช่ไหม
     ไม่ครับ ไม่ใช่ว่าออนไลน์เป็นสิ่งที่แย่หรือไม่น่าสนใจนะ ผมแค่รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องของความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนเลยนะ แค่วิธีการในการเข้าถึงก็แตกต่างกันแล้ว บางครั้งคนที่มีไอเดียชัดเจนว่าตัวเองจะทำสื่อออนไลน์ได้ดี ประสบความสำเร็จ แต่พอมาลองทำสื่อสิ่งพิมพ์เขาอาจจะทำไม่ได้ก็ได้นะ เพราะมันเป็นพื้นที่การทำงานที่แยกกันอย่างชัดเจน แต่บางทีถ้าผมมาลองทำนิตยสารออนไลน์ ผมอาจจะทำมันได้ดีก็ได้นะ

 

ขอนอกเรื่องบ้างครับ ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการนิตยสารแฟชั่น พอจะบอกได้ไหมว่าเทรนด์แฟชั่นอะไรกำลังมา
     ผมว่าเทรนด์แฟชั่นที่น่าสนใจในช่วงนี้หนีไม่พ้น collaboration ระหว่างแบรนด์แฟชั่นสตรีทแวร์และแบรนด์แฟชั่นไฮเอนด์ซึ่งกำลังเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก

 

 

อยากให้ลองนิยามคำว่า ‘แต่งตัวดี’ ตามสไตล์ของคุณหน่อย
     สำหรับผม ผมมองว่าการจะบอกว่าใครสักคนแต่งตัวดีหรือเท่มันมีอะไรสำคัญมากกว่าแฟชั่นนะ มันไม่ใช่เรื่องของเสื้อผ้าหรอกผมว่า ถ้ามีคนสองคนที่แต่งตัวในสไตล์คล้ายๆ กันเดินคู่กันมา แต่คนแรกกลับดูเจ๋งและเท่กว่าคนที่สอง นั่นเป็นเพราะความคิดและลักษณะบุคลิกนิสัยของคนคนนั้น ไม่ใช่เรื่องของเสื้อผ้าเลยสักนิด

 

คุณมีวิธีการอย่างไรที่ทำให้นิตยสารของคุณยังดึงดูดกลุ่มวัยรุ่นได้เป็นอย่างดีแม้ว่าคุณอาจจะผ่านพ้นช่วงวัยดังกล่าวมาแล้ว

     ในประเทศญี่ปุ่น ทุกคนจะยึดหลักความคิดที่ว่าตัวเองยังอยู่มัธยมต้น เกรด 8 ไว้ตลอด (มัธยมศึกษาปีที่ 2 ของประเทศไทย) ซึ่งเปรียบได้ดังช่วงอายุ 14 ปี ตราบใดก็ตามที่คุณยังคงยึดหลักคิดเช่นนี้ไว้ในใจได้ตลอดเวลา มันก็จะทำให้วิธีและแนวคิดในการทำงานของคุณไม่แก่ขึ้นเลย

 

อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่คนทำงานสื่อควรจะยึดถือ
     คุณไม่ควรคิดว่างานของคุณคืองานจริงๆ แต่คิดซะว่ามันคืองานอดิเรก แค่นี้คุณก็จะรู้สึกสนุกที่ได้ทำมันแล้ว

 

     เยี่ยมชมเว็บไซต์หลักของเหล่า City Boys ได้ที่ magazineworld.jp/popeye

FYI

FYI:

  • ในระหว่างการบรรยาย ทะกะฮิโระ คิโนะชิตะ เชื่อว่าการทำนิตยสารที่เจาะกลุ่มเฉพาะ (Niche) จะได้รับประโยชน์มากกว่า แต่เนื้อหาข้างในและวิธีการในการนำเสนอควรจะมีความแมส
  • ที่มาของชื่อนิตยสาร POPEYE ไม่ได้สลับซับซ้อนใดๆ ทั้งสิ้น เพราะลูกชายของ โยชิฮิสะ คินะเมริ (Yoshihisa Kinameri) บรรณาธิการคนแรกของ POPEYE ชอบดูการ์ตูนกะลาสีจอมพลังผักขม เขาจึงนำชื่อดังกล่าวมาใช้เป็นชื่อนิตยสารก็เท่านั้น!
  • ในเว็บไซต์ magazineworld ระบุว่า POPEYE คือนิตยสารสำหรับกลุ่มผู้อ่านที่มีอายุตั้งแต่ 25-35 ปี หรือใครก็ตามที่คิดว่าตัวเป็นซิตี้บอย โดยเนื้อหาเด่นๆ ในเล่มจะพูดถึงแฟชั่น, อาหาร, กิจกรรมเอาต์ดอร์, การท่องเที่ยว ในเมืองที่พวกเขาชื่นชอบ เช่น นิวยอร์ก, ลอนดอน, ปารีส และโตเกียว
  • นอกจากนิตยสาร POPEYE  ทาง magazineworld ยังมีหัวนิตยสารชื่อดังที่เปิดตัวมาเป็นระยะเวลานานอีกมาก เช่น Anan: 1970 (47 ปี เป็นนิตยสารแฟชั่นผู้หญิงรายสัปดาห์ที่เป็นเวอร์ชันตรงข้ามของ POPEYE), Brutus: 1980 (37 ปี เป็นนิตยสารไลฟ์สไตล์และป็อปคัลเจอร์สำหรับผู้ชายราย 2 เดือน) และ Croissant: 1977 (40 ปี เป็นนิตยสารสำหรับผู้หญิงวัยกลางคนและผู้หญิงที่แต่งงานแล้วรายปักษ์ เนื้อหาภายในเล่มพูดถึงการแต่งบ้าน, ความสวยความงาม และการทำอาหาร เป็นต้น)
  • ในระหว่างปี 1970-1990 POPEYE มียอดการตีพิมพ์มากกว่า 1 ล้านครั้ง โดยในปี 1999 พวกเขามียอดพิมพ์มากกว่า 220,000 ครั้ง แต่ในปัจจุบันทะกะฮิโระบอกกับเราว่า สำนักพิมพ์ในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็เริ่มลดปริมาณการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ลงไปเยอะเลยทีเดียว
  • ในปี 2012 ที่ทะกะฮิโระเข้ามากุมบังเหียน POPEYE ในตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร เขาได้รีดีไซน์ตัวนิตยสารในฉบับที่ 782 เดือนมิถุนายนใหม่ทั้งหมด โดยจัดวางคอลัมน์ตามลำดับ A-Z เช่น Beef Roll, Bird House ซึ่งเจ้าตัวบอกกับเราว่านี่คือวิธีที่ดีในการโชว์ให้คนอ่านเห็นว่า POPEYE ทำอะไรไว้บ้างในช่วงตลอด 40 ปีที่ผ่านมา 

  • สำหรับรูปภาพสวยๆ ในตัวเล่ม ทะกะฮิโระบอกกับเราว่าเขาจะเลือกรูปด้วยตัวเองในบางโอกาส โดยถ้าเขารู้สึกว่ารูปนั้นเจ๋ง เขาก็จะนำมาใช้ ซึ่งส่วนใหญ่เขาจะให้อำนาจการตัดสินใจในการเลือกรูปกับคนในทีมอย่างอิสระ แต่อำนาจการตัดสินใจในกระบวนการสุดท้ายก็จะขึ้นอยู่กับเขาอยู่ดี

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X