SCB CIO ชี้ Fed คงดอกเบี้ยตามคาด แต่ช่วงที่เหลือของปีนี้ประเมินทั้ง Fed ขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง หวังสกัดเงินเฟ้อ ประเมินสหรัฐฯ เสี่ยง Mild Recession แนะนำให้รับมือโดยการซื้อพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะยาว
เกษรี อายุตตะกะ CFP® ผู้อำนวยการกลยุทธ์การลงทุน SCB Chief Investment Office ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB CIO) เปิดเผยผ่านรายการ Morning Wealth ว่า ผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ออกมาล่าสุดในวันที่ 13-14 มิถุนายนที่ผ่านมา มีมติให้คงดอกเบี้ยที่ 5-5.25% เป็นไปตามที่ SCB คาดไว้ แต่ยังส่งสัญญาณว่าจะยังขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีนี้
โดย Fed Dot Plot ยังส่งสัญญาณว่าจะมีการขึ้นดอกเบี้ยได้อีกภายในปีนี้ โดยกรรมการของคณะกรรมการนโยบายการเงินของ Fed มีจำนวน 12 ท่าน จาก 18 ท่าน มองว่าดอกเบี้ยมีโอกาสปรับได้อีกอย่างน้อยจำนวน 2 ครั้งในอัตราที่ 0.25% ต่อครั้งภายในปีนี้ ส่งผลให้ค่ากลางของ Fed Dot Plot เพิ่มจากเดือนมีนาคมปีนี้ซึ่งอยู่ที่ 5.125% มาเป็น 5.625% ในการประชุมรอบล่าสุด
ทั้งนี้ SCB CIO ประเมินว่า สาเหตุที่ Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อ เพราะเงินเฟ้อพื้นฐานที่ยังปรับลดลงได้ค่อนข้างช้า โดย Fed ได้ปรับขึ้นคาดการณ์ Core PCE Inflation ปี 2023 เพิ่มขึ้นจาก 5.6% ไปเป็น 5.9% รวมทั้งยังมีประเด็นจากตลาดแรงงานที่มีข้อมูลออกมาแข็งแกร่ง โดยปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราว่างงานปี 2023 จากเดิมที่ 4.5% ลงมาที่ 4.1% อีกทั้งปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของ GDP สหรัฐฯ ในปี 2023 ขึ้นจาก 0.4% เป็น 1%
นอกจากนี้ในการแถลงข่าวของประธาน Fed ยังระบุด้วยว่า ผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาเริ่มส่งผลให้การลงทุนและภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลง แต่ยังมีผลต่อเงินเฟ้อที่ยังไม่ชัดเจน ดังนั้น SCB CIO คาดว่า Fed จะมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 1 ครั้ง ที่ 0.25% ในการประชุมวันที่ 25-26 กรกฎาคมนี้ และคงดอกเบี้ยต่อเนื่องไว้ถึงสิ้นปีนี้ หลังจากเริ่มเห็นสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยที่ช้าลง รวมทั้งเพื่อรอดูผลของดอกเบี้ยที่ปรับมาต่อเงินเฟ้อ
พร้อมทั้งประเมินว่าหลัง Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยมาต่อเนื่อง ส่งผลให้สหรัฐฯ มีความเสี่ยงที่จะเกิด Mild Recession โดยคาดว่าภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2024 Fed มีโอกาสจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยลง
SCB CIO ประเมินว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีโอกาสจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในการประชุมรอบเดือนกรกฎาคมนี้อีก 0.25% อีกทั้งมีโอกาสสูงขึ้นที่จะเห็นการขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบเดือนกันยายนนี้ หลังผลการประชุมของ ECB ที่ออกมามีมติปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% อีกทั้งประธาน ECB ยังระบุว่า มีโอกาสสูงที่ ECB จะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมรอบต่อไปในเดือนกรกฎาคมนี้ อีกทั้งมีการปรับตัวเลขอัตราเงินเฟ้อและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของยูโรโซนในปี 2023-2025 เพิ่มขึ้น โดยในปี 2025 ตัวเลขเงินเฟ้อของยูโรโซนจะยังคงสูงกว่าเป้าหมายที่ระดับ 2%
อีกทั้งประธาน ECB ยังย้ำด้วยว่า ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นยังมีผลกระทบต่อตัวเลขเงินเฟ้อที่ให้เพิ่มขึ้นด้วย รวมถึงยังมีความกังวลเกี่ยวกับตัวเลขเงินเฟ้อภาคบริการที่มีสัดส่วนถึงประมาณ 43% ของเงินเฟ้อทั้งหมดของยูโรโซนยังมีความเสี่ยงที่จะสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อในปีหน้า
ขณะที่อัตราการว่างงานคาดว่าจะปีนี้อยู่ที่ประมาณ 6.5% ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ และปรับตัวลดลงต่อในปี 2025 เหลือเพียง 6.3%
นอกจากนี้ยังปรับลดตัวเลขคาดการณ์ตัวเลขการขยายตัว GDP ในปีนี้ลดลงเหลือขยายตัว 0.9% ส่วนในปี 2024 คาดว่าจะขยายตัว 1.5% โดยขณะนี้เริ่มเห็นผลกระทบของการขึ้นดอกเบี้ยต่อภาคการเงินส่งผ่านไปสู่ภาคเศรษฐกิจและต้นทุนในการกู้ยืมปรับเพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างมาก สวนทางกับการขยายตัวของสินเชื่อที่ชะลอลง
ขณะที่นักลงทุนยังจับตาในประเด็น Quantitative Tightening (QT) หรืองบดุล ซึ่งไม่ได้มีการกล่าวประเด็นใหม่ๆ ในการประชุมในรอบนี้ของ ECB โดยยังคงยืนยันว่าจะหยุดแผนการเข้าซื้อพันธบัตร (Asset Purchase Programme: APP) ตามที่เคยประกาศไว้ ดังนั้นประเมินว่ามีโอกาสที่สภาพคล่องในยุโรปจะหายไป
สำหรับพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ยังแนะนำให้ลงทุนได้ เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว อีกทั้งอยู่ในช่วงแนวโน้มขาลง แต่ระยะสั้น Bond Yield มีโอกาสปรับขึ้นได้เล็กน้อย เพราะ Fed มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 1 ครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้ จึงเป็นโอกาสทยอยสะสมพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ระยะยาวของสหรัฐฯ ที่จะช่วยป้องกันความเสี่ยงจากประเด็นเศรษฐกิจถดถอยได้
ส่วนการลงทุนในหุ้นกู้เอกชนสหรัฐฯ แนะนำให้ลงทุนใน High Grade Bond ที่มีเครดิตเรตติ้งอยู่ที่ระดับ AAA ถึง -AA และหลีกเลี่ยงการลงทุนใน High Yield Bond จาก 3 เหตุผล คือ
- เนื่องจากในระยะสั้น Bond Yield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มี Upside Risk เพิ่มขึ้น หลัง Fed มีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยที่ช้าลงจากเดิม
- มีจำนวนบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในสหรัฐฯ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ได้ยื่นล้มละลายมากเป็นจำนวนสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตซับไพรม์ในสหรัฐฯ เมื่อช่วงปี 2008-2009
- ความเสี่ยงของ Spread มีโอกาสกว้างขึ้น หลังจากมีความเสี่ยงที่จะเกิด Recession มากขึ้นในสหรัฐฯ
สำหรับลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีมุมมองเป็น Neutral กับดัชนี S&P 500 แม้จากต้นปีนี้ถึงปัจจุบันจะปรับตัวขึ้นมาค่อนข้างมากประมาณ 15% แต่ยังมี Valuation ซื้อ-ขายใกล้เคียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปี ขณะที่ตลาดแรงงานกับการบริโภคแม้จะฟื้นตัว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิด Mild Recession จึงแนะนำให้ถือหุ้น S&P 500 แต่ให้เพิ่มความระวังการลงทุนเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังแนะนำให้ทยอยขายทำกำไรหุ้น Megacap Tech ออกมาบางส่วนในช่วงที่ดัชนีฯ ปรับขึ้น และไม่ควรไล่ซื้อหากราคาหุ้นยังสูงอยู่ ทั้งนี้ จากต้นปีจนถึงปัจจุบันหุ้นกลุ่ม Megacap Tech ให้ผลตอบแทนเป็นบวกถึง 37% ซึ่ง Outperform เมื่อเปรียบกับทุกดัชนีตลาดหุ้นอื่นๆ ของสหรัฐฯ