เกิดอะไรขึ้น:
กีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) (เข้ารับตำแหน่งในเดือนเมษายน 2566) พบปะกับนักวิเคราะห์เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม เพื่อเปิดเผยแผนขยายธุรกิจการบินและธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการบินเพื่อสนับสนุนการเติบโตในระยะยาว
ธุรกิจการบิน: แผนขยายสนามบินระยะสั้นคืบหน้าตามเป้า ที่สนามบินสุวรรณภูมิ AOT จะเปิดอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2 ในเดือนกันยายนปีนี้ การเปิดอาคาร SAT-1 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการผู้โดยสารระหว่างประเทศเป็นหลัก และจะทำให้ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารทั้งหมดเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคนต่อปี (จาก 45 ล้านคนต่อปี)
การก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 คืบหน้าไปแล้ว ~70% โดย AOT คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2566 และจะเปิดใช้งานได้ในเดือนกรกฎาคม 2567 ด้วยแผนขยายสนามบินระยะยาว AOT คาดว่าความสามารถในการรองรับผู้โดยสารของสนามบินทั้งหมด 6 แห่งจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวจาก 116 ล้านคนต่อปี ในปี 2566 สู่ 238 ล้านคนต่อปี ในปี 2579
ทั้งนี้ AOT เปิดเผยว่าบริษัทกำลังพิจารณาปรับขึ้นค่าบริการผู้โดยสารขาออก (PSC) เพื่อชดเชยต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นจากการขยายสนามบิน และบริษัทวางแผนเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่อง (Transit) เป็นครั้งแรก ปัจจุบัน AOT เรียกเก็บค่า PSC จากผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศที่ 700 บาทต่อคน ซึ่งต่ำกว่าสิงคโปร์ที่ 59.2 ดอลลาร์สิงคโปร์ (~1,500 บาท) และอยู่ภายในกรอบค่าธรรมเนียมที่มาเลเซียเรียกเก็บที่ 8-150 ริงกิตมาเลเซีย (60-1,100 บาท) สำหรับค่าธรรมเนียมผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่องนั้น สิงคโปร์และไต้หวันเรียกเก็บที่ 9 ดอลลาร์สิงคโปร์ (232 บาท) และ 500 ดอลลาร์ไต้หวัน (565 บาท) ตามลำดับ
InnovestX Research วิเคราะห์ความอ่อนไหวจากเหตุการณ์ดังกล่าว บ่งชี้ว่าการเก็บค่า PSC จากผู้โดยสารขาออกระหว่างประเทศที่สนามบินสุวรรณภูมิเพิ่มขึ้นคนละ 100 บาท จะหนุนให้กำไรในปี FY2567 ของ AOT ปรับเพิ่มขึ้น 7% และการเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้โดยสารเปลี่ยนเครื่องคนละ 100 บาท จะหนุนให้กำไรในปี FY2567 ของ AOT ปรับเพิ่มขึ้น 0.2% ขณะที่มองว่าประเด็นเรื่องไทม์ไลน์ยังไม่แน่นอน เนื่องจากการขึ้นค่า PSC จะต้องได้รับการอนุมัติจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และ ครม.
ธุรกิจที่ไม่เกี่ยวกับการบิน: พัฒนาการในธุรกิจขนส่งสินค้า ธุรกิจขนส่งสินค้าคิดเป็น ~10% ของรายได้ของ AOT หรือ ~2.0 พันล้านบาท AOT เล็งเห็นศักยภาพการเติบโตในธุรกิจนี้ และกำลังดำเนินการขยายบริการขนส่งสินค้าผ่านทาง บริษัท ท่าอากาศยานไทย ทาฟ่า โอเปอร์เรเตอร์ จำกัด (AOTTO) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ AOT ถือหุ้น 49% เพื่อให้บริการช่องทางพิเศษสำหรับสินค้าเน่าเสียง่าย (Perishable Premium Lane) ที่สนามบินสุวรรณภูมิเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ส่งออก
นอกจากนี้ AOT กำลังดำเนินการร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานกำกับดูแลที่ประเทศจุดหมายปลายทางการส่งออกหลายแห่งในยุโรปและจีน เพื่อให้บริการตรวจสอบสินค้าก่อนส่งออก (Pre-Shipment Inspection) ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการปฏิเสธสินค้าเน่าเสียง่ายที่ส่งออกจากประเทศไทย
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น AOT ปรับลดลง 2.4%MoM อยู่ที่ระดับ 71.50 บาท ขณะที่ SET Index ปรับลดลง 0.01%DoD อยู่ที่ระดับ 1,561.15 จุด
แนวโน้มผลประกอบการปี FY2566:
จำนวนผู้โดยสารระหว่างประเทศที่เดินทางผ่านสนามบินของ AOT มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มขึ้นจาก 64% ของระดับก่อนเกิดโควิดในเดือนมีนาคม สู่ 67% ในเดือนเมษายน และ 73% ในเดือนพฤษภาคม
InnovestX Research ประเมินกำไรปกติ 3QFY66 (เมษายน-มิถุนายน 2566) ในเบื้องต้นได้ที่ 4.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นก้าวกระโดดจาก 1.9 พันล้านบาท ใน 2QFY66 หลังจาก AOT กลับมาเก็บค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำเมื่อวันที่ 1 เมษายน ขณะที่ผลประกอบการในปี FY2566 ประมาณการไว้ว่าจะฟื้นตัวกลับมามีกำไร 1.5 หมื่นล้านบาท จากขาดทุนสุทธิ 1.1 หมื่นล้านบาทในปี FY2565
ด้านราคาหุ้นในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น AOT ปรับตัวลดลง 2% เทียบกับ SET ที่เพิ่มขึ้น 1% บ่งชี้ว่าปัจจัยบวกเกี่ยวกับกำไรที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นใน 3QFY66 ยังไม่สะท้อนในราคาหุ้น โดยยังคงมุมมองเชิงบวกต่อ AOT และคงคำแนะนำ Tactical Call ระยะ 3 เดือนไว้ที่ Outperform ราคาเป้าหมายสิ้นปี 2566 อ้างอิงวิธี DCF อยู่ที่ 82 บาทต่อหุ้น โดยอิงกับ WACC ที่ 7.4% และอัตราการเติบโตระยะยาวที่ 2%
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะทำให้ความต้องการเดินทางลดลง