การคว้า ‘เทรเบิลแชมป์’ ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ แม้จะเป็นประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่แต่ก็นำมาซึ่งคำถามที่ยังไม่มีคำตอบว่าเป็นความสำเร็จที่บริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างแท้จริงหรือไม่ เมื่อยังไม่มีการตัดสินเรื่อง 115 ข้อหาการกระทำผิดกฎการเงิน
แต่ไม่ใช่เฉพาะแมนฯ ซิตี้ทีมเดียวที่น่ากังวล ในภาพรวมแล้วพรีเมียร์ลีกมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาในเรื่องของการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในบรรดากลุ่มสโมสรระดับกลางและใหญ่ที่มีโอกาสจะได้รับเงินรายได้ที่มากกว่าสโมสรในระดับรองลงมา
รายได้นั้นมาจากการเข้าร่วมแข่งขันในรายการที่มีเงินรางวัลและส่วนแบ่งการถ่ายทอดสดสูงอย่างรายการยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบใหม่ที่จะทำให้เงินรายได้เพิ่มมากขึ้นไปอีก และยังมีรายการใหม่ของ FIFA อย่างคลับเวิลด์คัพรูปแบบใหม่ที่คาดว่าจะทำเงินรายได้มหาศาลเช่นกัน
เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความแตกต่างมากเกินไป และยังรักษาความสามารถในการแข่งขันของทุกสโมสรให้เท่าเทียมกัน พรีเมียร์ลีกจึงเตรียมนำเสนอแผนควบคุมการใช้จ่ายที่เรียกว่า ‘Spending Cap’ ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
กฎ Spending Cap นี้เป็นอย่างไร? และจะสามารถนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้จริงหรือไม่?
ตามรายงานจาก The Times ซึ่งรายงานเรื่องนี้เป็นที่แรก ระบุว่า ข้อเสนอใหม่จากพรีเมียร์ลีกในรหัส ‘Anchoring’ เตรียมถูกนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพรีเมียร์ลีก (ซึ่งก็คือ 20 สโมสรในลีกฤดูกาลปัจจุบัน) โดยวัตถุประสงค์ของข้อเสนอนี้ชัดเจนคือการจำกัดการใช้จ่ายของทุกสโมสร โดยเฉพาะรายจ่ายก้อนใหญ่ที่สุดคือการจ่ายค่าเหนื่อย (Wage) ให้แก่นักฟุตบอล
แนวคิดของแผนนี้เพื่อรักษาความสมดุลในการแข่งขันของลีก เพราะเริ่มมีความกังวลว่าหลังจากฤดูกาลหน้า (2023/24) จบลง จะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในรายการอย่างยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก และคลับเวิลด์คัพ ที่มีการปรับรูปแบบการแข่งขันใหม่
การปรับรูปแบบนี้จะทำให้สโมสรที่ผ่านเข้าร่วมรายการเหล่านี้มีเงินรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งปกติแล้วสโมสรที่ได้เข้าร่วมแชมเปียนส์ลีกจะได้รับเงินรายได้เฉลี่ย 70-115 ล้านปอนด์ ขณะที่คลับเวิลด์คัพ หรือรายการชิงแชมป์สโมสรโลกรูปแบบใหม่ซึ่งจะเริ่มในปี 2025 ตอนนี้เชลซีและแมนฯ ซิตี้ได้สิทธิ์ผ่านเข้ารอบในฐานะแชมป์ยุโรปภายใน 3 ฤดูกาลหลังสุด และคาดว่าจะทำรายได้ขั้นต่ำ 30 ล้านปอนด์ต่อสโมสร
เงินก้อนใหญ่ตรงนี้อาจทำให้เกิดช่องว่างและระยะห่างกับสโมสรในระดับรองลงมามากเกินไป ซึ่งทำให้พรีเมียร์ลีกต้องหาหนทางที่จะควบคุมไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งแม้ว่าจะมีหลายตัวเลือก แต่เรื่องการควบคุมการใช้จ่ายเป็นแนวทางที่ถูกพิจารณาอย่างจริงจัง
สำหรับหลักเกณฑ์ง่ายๆ คือทุกสโมสรจะสามารถใช้จ่ายได้ไม่เกิน 4 เท่าของรายรับจากสโมสรที่มีเงินส่วนแบ่งจากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดของพรีเมียร์ลีก
ยกตัวอย่างเช่น ในฤดูกาล 2021/22 สโมสรที่ได้รับส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดน้อยที่สุดของพรีเมียร์ลีกคือนอริช ซิตี้ ซึ่งจบฤดูกาลด้วยการเป็นทีมอันดับที่ 20 โดยได้รับที่ 100.6 ล้านปอนด์
เอา 100.6 ล้านปอนด์เป็นตัวตั้ง แล้วคูณ 4 ก็จะได้ตัวเลข 402.4 ล้านปอนด์ ก็จะเป็น Spending Cap ที่ทุกทีมสามารถใช้จ่ายได้สูงสุด ซึ่งสโมสรที่จ่ายเงินค่าเหนื่อยมากที่สุดในฤดูกาลนั้นคือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งใช้เงินไป 384 ล้านปอนด์
แบบนี้ถือว่ายังอยู่ในลิมิต ไม่ผิดกฎ
พรีเมียร์ลีกยังเตรียมพิจารณาใช้กฎ ‘Cost-Control Rule’ ควบคู่ไปกับกฎใหม่ที่ออกโดยยูฟ่าด้วย
โดย Cost-Control Rule ตามความหมายของยูฟ่าคือการที่สโมสรจะสามารถจ่ายเงินค่าการย้ายทีม (Transfers), ค่าเหนื่อย (Wages) และค่าธรรมเนียมเอเจนต์ (Agent Fees) ได้ไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์ของรายรับสโมสร หรือสมมติสโมสรมีรายรับ 100 ล้านยูโร ก็จะสามารถใช้ได้แค่ 70 ล้านยูโรเท่านั้น
เพียงแต่สำหรับพรีเมียร์ลีกจะมีการปรับขยายฐานจาก 70 เปอร์เซ็นต์ ให้เป็น 85 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นสำหรับสโมสรต่างๆ รวมถึงเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดข้อได้เปรียบอย่างถาวรสำหรับสโมสรที่มีรายรับสูง โดยเฉพาะจากสโมสรที่มีรายได้ก้อนโตจากการตลาดหรือได้เงินลงทุนก้อนใหญ่จากเจ้าของสโมสร
Spending Cap Rule, Cost-Control Rule และเรื่องอื่นๆ ที่มีความสำคัญ เช่น การพิจารณาเพิ่มจำนวนนัดถ่ายทอดสดในสหราชอาณาจักร ที่เดิมถ่าย 200 จาก 380 นัด ให้มากขึ้นแต่ไม่เกิน 260 นัดต่อฤดูกาลสำหรับรอบลิขสิทธิ์หน้า (2025-2028) จะมีการหารือกันในการประชุมประจำปีพรีเมียร์ลีก ซึ่งจะมีขึ้นในวันนี้และวันพรุ่งนี้ ก่อนที่โปรแกรมสำหรับการแข่งขันในฤดูกาลหน้าจะออกในวันพฤหัสบดีนี้
The Times ระบุว่า เบื้องต้นบรรดา ‘ทีมใหญ่’ ไม่ค่อยเห็นด้วยนัก
แต่สุดท้ายเรื่องนี้จะเดินหน้าต่อได้หรือไม่ ต้องรอติดตามผลกันอีกครั้ง
อ้างอิง: