วันนี้ (6 มิถุนายน) เมื่อเวลา 10.00 น. เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ เข้ายื่นหลักฐานที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า ยังคงติดตามการตรวจสอบ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี โดยวันนี้ถือเป็นการมายื่นหลักฐานเพิ่มเติมครั้งที่ 7 และจากการติดตามมีประเด็นที่ต้องเอามาให้ กกต. เข้าสำนวน คือกรณีที่ ITV เลิกกิจการแล้วหรือไม่ อย่างไร หากย้อนไปปี 2550 ได้มีข้อพิพาทกัน ซึ่งตอนนั้นคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการบอกว่า การบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานกับ ITV ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ชอบด้วยกฎหมาย ต่อมา ITV ได้ฟ้องกลับจนอนุญาโตตุลาการวินิจฉัยว่าการถูกเลิกสัญญาร่วมงานไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอยากให้ กกต. ตรวจสอบว่าสัญญาร่วมงานยังถือว่ามีผลอยู่หรือไม่
ส่วนกรณีที่ตนจะยื่นคำร้องเพิ่มในวันนี้คือที่มีข่าวว่าพิธาขายหุ้น ITV ไปแล้ว แต่ไม่ตอบคำถามสื่อมวลชน ซึ่งตนมั่นใจว่าในวันรับสมัครเลือกตั้ง พิธายังถือหุ้นสื่ออยู่แน่นอน จึงอยากให้ กกต. สอบถามไปยังบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ว่าพิธายังถือหุ้น ITV หรือไม่ หรือมีการโอนหุ้นด้วยวิธีใด พร้อมเรียกร้องให้พิธาตอบคำถามสื่อมวลชนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงเรื่องนี้ และขอให้แสดงหลักฐานโดยไม่ต้องรอให้ กกต. รับรองคำร้องของตน หรือรอให้ กกต. เรียกมาสอบถาม หากเรื่องนี้ถึงศาลรัฐธรรมนูญแล้วตัดสินว่าพิธาถือหุ้นสื่อจริง จะถูกตัดสิทธิการเป็น ส.ส. และถูกตัดสิทธิบัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรี
ต่อมาเวลา 10.30 น. ภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ ทนายอั๋น บุรีรัมย์ พร้อมด้วย วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล หรือ ลุงศักดิ์เสื้อแดง เดินทางมาเข้ายื่นหนังสือต่อ กกต. เพื่อคัดค้านคำร้องของเรืองไกร และคำร้องของบุคคลอื่น กรณีที่มีการร้องขอให้ กกต. ตรวจสอบการถือหุ้นสื่อของพิธา
โดยภัทรพงศ์ระบุว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตราที่ 98 (3) และมาตรา 42 (3) เพื่อไม่ให้ผู้สมัคร ส.ส. ที่ถือหุ้นสื่อ ใช้ประโยชน์ในการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสารเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของตัวเอง และสัดส่วนหุ้นที่พิธาถืออยู่จำนวน 42,000 หุ้น เป็นสัดส่วนที่น้อยและไม่ได้มีอำนาจในการสั่งการใดๆ ในการให้นำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อประโยชน์ทางการเมือง
พร้อมกันนี้ตนเองยังตั้งข้อสังเกตว่าบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ได้หยุดประกอบกิจการไปแล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2550 ตามคำสั่งของ สปน. วันนี้จึงมาร้อง กกต. เพื่อหวังให้ กกต. ตีตกคำร้องของเรืองไกร เช่นเดียวกับการตีตกคำร้องของศรีสุวรรณ ที่ร้องเรียนเรื่องนโยบายเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทยไปก่อนหน้านี้ และหวังว่า กกต. จะนำเรื่องนี้มาพิจารณาโดยไม่ได้มีผลประโยชน์ส่วนตัวและไม่มีเกมทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง