ทรัพยากรป่าไม้นับว่าเป็นรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของไทยมายาวนานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ที่ผ่านมาพื้นที่ป่าไม้ของไทยกลับมีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และเทคโนโลยี ซึ่งทำให้ความต้องการใช้ที่ดินเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งเพื่อการอยู่อาศัย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการทำการเกษตร จนนำไปสู่การบุกรุกทำลายป่าไม้อย่างรุนแรง โดยนับตั้งแต่ พ.ศ. 2516-2564 ไทยสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไปแล้วกว่า 36.35 ล้านไร่ เหลืออีกเพียง 102.21 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 31.59% ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งต่ำกว่านโยบายป่าไม้แห่งชาติที่กำหนดเป้าหมายการมีพื้นที่ป่าไว้ไม่น้อยกว่า 40% ของพื้นที่ประเทศ หรือ 129.41 ล้านไร่
ดังนั้นหากต้องการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ก็หมายความว่าไทยจะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้อีก 27.2 ล้านไร่ แต่ลำพังการพึ่งพากฎหมายควบคุมการบุกรุกป่า หรืองบประมาณแผ่นดินจากภาครัฐเพื่อการปลูกป่าเฉลี่ยปีละ 500 ล้านบาท อาจไม่เพียงพอ และเมื่อคำนวณต้นทุนการปลูกป่าก็พบว่าจะต้องใช้เวลานานหลายปีในการบรรลุเป้าหมาย ด้วยเหตุนี้ไทยจึงจำเป็นต้องหาแนวทางใหม่ๆ ที่มีศักยภาพในการฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้อย่างยั่งยืน
แนวทางการอนุรักษ์และพลิกฟื้นทรัพยากรป่าไม้ที่ประสบความสำเร็จในต่างประเทศ อย่างกรณีของคอสตาริกานับเป็นแนวทางที่น่าสนใจ ในอดีตคอสตาริกาเคยเป็นชาติที่ตัดไม้ทำลายป่ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จนเหลือพื้นที่ป่าไม้เพียง 24.4% ของพื้นที่ประเทศเมื่อ พ.ศ. 2528 เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ใน พ.ศ. 2538 รัฐบาลคอสตาริกาจึงใช้กลไกการเพิ่มพื้นที่ป่าด้วยการจัดตั้งกองทุนป่าไม้แห่งชาติขึ้น เพื่อระดมทุนในการบริหารจัดการกลไก ‘พันธบัตรป่าไม้’ จากภาครัฐ เอกชน และประชาชน สำหรับนำมาใช้สนับสนุนกระบวนการฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่ป่าไม้โดยไม่เป็นภาระทางการคลังของรัฐบาล กองทุนนี้ทำให้พื้นที่ป่าไม้ในคอสตาริกาเพิ่มขึ้นเป็น 59.4% ใน พ.ศ. 2563 และยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แนวทางดังกล่าวนำมาสู่แนวคิด ‘พันธบัตรป่าไม้’ ในไทย ซึ่งมีศักยภาพที่จะเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการฟื้นฟูป่าไม้อย่างยั่งยืน โดยเป็นกลไกทางการคลังที่ระดมทุนจากภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ โดยมีผลตอบแทนแก่ผู้ซื้อพันธบัตรเมื่อครบกำหนดเวลา และรัฐบาลจะนำเงินที่ระดมทุนได้จากการขายพันธบัตรไปใช้ในการว่าจ้างเกษตรกรให้ปลูกและดูแลป่าไม้เศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐที่ต้องจัดสรรให้การปลูกป่าปีละหลายร้อยล้านบาท โดยหากพันธบัตรป่าไม้ได้รับการค้ำประกันจากกระทรวงการคลัง ก็จะจัดเป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะ แต่หนี้สาธารณะประเภทนี้จะแตกต่างจากหนี้สาธารณะอื่นๆ เนื่องจากมีรายได้ตอบแทนผู้ลงทุนในพันธบัตรจากมูลค่าของไม้และการขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต
อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ของไทยมีปัญหาที่ซับซ้อนมาอย่างยาวนาน การปลูกป่าไม้เศรษฐกิจจึงทำได้ไม่ง่าย เนื่องจากต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของชุมชน ด้วยเหตุนี้ ‘พันธบัตรป่าไม้’ จึงต้องสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม เพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่เปลี่ยนแนวทางการเพาะปลูกจากการปลูกพืชไร่เศรษฐกิจเป็นป่าไม้เศรษฐกิจ รวมถึงการทำให้เกษตรกรผู้ปลูกรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ ซึ่งการที่ชาวบ้านมีรายได้ตามความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าในพื้นที่ของตัวเอง จึงเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านรักและหวงแหนพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ตนเอง และจะนำไปสู่ความภูมิใจในการอนุรักษ์ป่าไม้เพื่อสังคมในอนาคต นอกจากนี้จะต้องมีการดูแลและบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการเปลี่ยนสถานะชาวบ้านจากผู้บุกรุกผืนป่ามาเป็นผู้ปลูกและดูแลป่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ถึงเวลาแล้วที่ไทยควรจะหยุดตัดไม้ทำลายป่า แล้วหันมาพลิกฟื้นป่าและธรรมชาติให้อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ผ่านนวัตกรรมทางการเงินอย่าง ‘พันธบัตรป่าไม้’ ซึ่งนอกจากเป็นการสนับสนุนการปลูกป่าเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยกระจายผลประโยชน์ให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งนักลงทุน ผู้ประกอบธุรกิจ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ โดยนักลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนพันธบัตรป่าไม้ ผู้ประกอบธุรกิจได้กำไรจากการแปรรูปไม้เศรษฐกิจ ประชาชนในพื้นที่มีงานทำและมีรายได้มั่นคงจากการปลูกและดูแลป่าไม้เศรษฐกิจ ที่สำคัญคือทำให้สังคมได้ป่าไม้คืนมา ระบบนิเวศดีขึ้น อีกทั้งการปลูกป่าสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศ และช่วยกักเก็บก๊าซเรือนกระจก ตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญที่จะนำพาไทยให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ใน พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายใน พ.ศ. 2608
อ้างอิง:
- https://forestinfo.forest.go.th/Content/file/ForestArea/ForestArea_2564.pdf
- https://tdri.or.th/wp-content/uploads/2022/09/Forest-Bond.pdf
- https://www.agripolicyresearch.com/?p=701
- https://data.worldbank.org/indicator/AG.LND.FRST.ZS?locations=CR