สำนักงานพลังงานสากล (International Energy Agency-IEA) เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดที่พบว่า การลงทุนด้านพลังงานทั่วโลกคาดว่าจะสูงถึง 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 โดยในจำนวนนี้ มากกว่า 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเป็นการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน และระบบการจัดเก็บ
ทั้งนี้ ในรายงานเรื่องการลงทุนด้านพลังงานโลก (World Energy Investment Report) ของ IEA ระบุว่า การลงทุนด้านพลังงานแสงอาทิตย์น่าจะดึงดูดเงินได้มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวันในปีนี้ ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าทิศทางการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานกำลังดำเนินไปอย่างไร
Fatih Birol กรรมการบริหารของ IEA ระบุในแถลงการณ์ว่า การลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์นั้น ได้รับการคาดการณ์ให้แซงหน้าปริมาณการลงทุนในการผลิตน้ำมันเป็นครั้งแรก สะท้อนให้เห็นช่องว่างที่เพิ่มขึ้นระหว่างการลงทุนในพลังงานฟอสซิลและการลงทุนในพลังงานสะอาด
ทั้งนี้ Birol กล่าวถึงสาเหตุ 3 ประการที่ทำให้แนวโน้มการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้น โดยประการแรก ค่าใช้จ่ายของพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และลมถูกลงเรื่อยๆ
ประการที่สองก็คือการที่รัฐบาลหลายประเทศมองว่า แหล่งพลังงานสะอาด เช่น พลังงานหมุนเวียน รถยนต์ไฟฟ้า พลังงานนิวเคลียร์ เป็นทางออกที่ยั่งยืนสำหรับปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
สำหรับประการที่สามก็คือกลยุทธ์สำหรับภาคอุตสาหกรรม (Industrial strategy) ของรัฐบาลในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น อินเดีย และจีน ในการกำกับดูแลและสร้างแรงจูงใจให้มีการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งหมายความว่านักลงทุนทั้งหลายจะเห็นบทบาทต่อไปของอุตสาหกรรมการผลิตที่หันไปผลิตเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น แบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้า แผงโซลาร์เซลล์ มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความเคลื่อนไหวข้างต้นจะทำให้บรรดากลุ่มผู้สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนจะยินดีกับทิศทางดังกล่าว แต่ก็อาจจะไม่สามารถยินดีได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากผลการศึกษาของ IEA พบว่า ถ่านหิน ก๊าซ และน้ำมันยังคงดึงดูดการลงทุนได้มากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023
รายงานของ IEA ระบุว่า ปัจจุบันการลงทุนด้านพลังงานฟอสซิลสูงกว่าเป็นเท่าตัวจากระดับที่จำเป็น ซึ่งระบุไว้ในงบประมาณลงทุนในธุรกิจพลังงานสะอาด เพื่อบรรลุเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (Net Zero Emissions 2050)
ทั้งนี้ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 “กิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์คือปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเบื้องต้นเกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ”
รายงานฉบับล่าสุดของ IEA ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากความตกลงปารีสปี 2015 โดยความตกลงดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อจำกัดภาวะโลกร้อนให้อยู่ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส โดยควรอยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 เป็นเสมือนหัวใจสำคัญในการบรรลุอุณหภูมิเป้าหมายที่ 1.5 องศาเซลเซียส
แม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับเงินที่ไหลไปสู่เชื้อเพลิงฟอสซิล กระนั้น IEA ย้ำว่า การลงทุนในพลังงานสะอาดกำลังมีการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วเช่นกัน และเร็วกว่าที่หลายคนตระหนัก ทำให้กล่าวได้ว่า แนวโน้มการลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาดกำลังดึงเอาการลงทุนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลออกไป โดยขณะนี้ทุกๆ ดอลลาร์ที่ลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิล ประมาณ 1.7 ดอลลาร์กำลังปรับเปลี่ยนไปเป็นพลังงานสะอาด ซึ่งอัตราส่วนนี้เคยเป็นแบบ 1 ต่อ 1 เมื่อ 5 ปีที่แล้ว
ขณะที่ Dave Jones หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเชิงลึกของ Ember Thinktank ด้านพลังงาน แสดงความเห็นว่า แนวโน้มการลงทุนของ IEA ทำให้แสงอาทิตย์เป็นมหาอำนาจด้านพลังงานอย่างแท้จริง โดยพลังงานแสงอาทิตย์กำลังกลายเป็นเครื่องมือที่ใหญ่ที่สุดที่โลกมีอยู่ เพื่อลดก๊าซคาร์บอนอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพลังงานแสงอาทิตย์ถูกนำมาใช้มากขึ้นเพื่อขับเคลื่อนรถยนต์แทนน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม Jones ตั้งข้อสังเกตว่า เป็นที่น่าเสียดายที่สถานที่ที่มีแสงแดดจ้าที่สุดในโลกบางแห่งมีระดับการลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ต่ำที่สุด ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่หลายฝ่ายต้องให้ความใส่ใจ
อ้างอิง: