หนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจของ ‘พรรคก้าวไกล’ ที่หลายคนให้ความสนใจอย่างมากคงไม่พ้น ‘การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 450 บาท’ เนื่องจากมองว่าเป็นนโยบายที่จะช่วยเหลือแรงงานผู้มีรายได้น้อย ท่ามกลางอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วในรอบหลายปี และนับเป็นนโยบายที่อาจช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทยได้
อย่างไรก็ตาม ในเวลาเดียวกัน นโยบายดังกล่าวก็สร้างความกังวลใจให้กับภาคเอกชน เนื่องจากมองว่าการขึ้นค่าแรงจะเป็นการเพิ่มต้นทุนให้ภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กและรายย่อย ซึ่งยังไม่ฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดได้เต็มที่ ท่ามกลางอีกความกังวลว่าการขึ้นค่าแรงจะทำให้ความน่าดึงดูดในการลงทุนในประเทศไทยน้อยลง เมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาคที่มีค่าแรงขั้นต่ำน้อยกว่า
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ระบุว่า นโยบายการปรับขึ้นค่าแรง 450 บาทต้องทำอย่างรอบคอบ และเห็นด้วยกับภาคเอกชนที่เสนอให้ปรับค่าแรงแบบ Pay by Skill โดยระบุว่า หลักการของพรรคก้าวไกลเองก็มีแนวคิดเช่นเดียวกัน พร้อมยืนยันจะไม่ปรับขึ้นแบบกระชาก โดยต้องขึ้นตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ผลิตภาพของแรงงาน
สำหรับค่าแรงขั้นต่ำของไทยเพิ่งปรับขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา เฉลี่ยประมาณ 5% โดยไปแตะระดับ 328-354 บาท ขึ้นอยู่กับพื้นที่แต่ละจังหวัด
จากการรวบรวมข้อมูล THE STANDARD WEALTH พบว่า เมื่อเทียบ 12 ประเทศในเอเชีย ค่าแรงขั้นต่ำต่อวันของ ‘ไทย’ อยู่ในอันดับ 7 เป็นรองเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ใกล้เคียงกับฟิลิปปินส์ แต่ยังสูงกว่าเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา และอินเดีย (อัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 24 พฤษภาคม)
ทั้งนี้ อัตราค่าแรงขั้นต่ำของเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และฮ่องกง คำนวณจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรายชั่วโมง ได้แก่ 9,620 วอนต่อชั่วโมง, 961 เยนต่อชั่วโมง และ 37.5 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อชั่วโมง ตามลำดับ โดยทั้ง 3 ประเทศกำหนดให้แรงงานห้าม / ไม่ควรทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน
ขณะที่หลายประเทศกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นรายเดือน ได้แก่ จีน 2,590 หยวนต่อเดือน, ไต้หวัน 26,400 ดอลลาร์ไต้หวันต่อเดือน, อินโดนีเซีย 4,901,798 รูเปียห์ต่อเดือน, มาเลเซีย 1,500 ริงกิตมาเลเซียต่อเดือน, เวียดนาม 4,680,000 ดองต่อเดือน และกัมพูชา 818,800 เรียลกัมพูชาต่อเดือน THE STANDARD WEALTH จึงได้แปลงเป็นอัตรารายวัน โดยหารวันทำงาน 22 วันต่อเดือน
ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา