×

SCB CIO มองการเมืองป่วนหุ้นไทยช่วงสั้น เสี่ยงหลุด 1,500 จุด เข้าจุด Margin of Safety เป็นโอกาสทยอยสะสมลงทุนระยะยาว

24.05.2023
  • LOADING...
SCB CIO

SCB CIO ประเมิน 2 ปัจจัยเสี่ยงกระทบตลาดหุ้นผันผวนระยะสั้น ทั้งปัญหา Debt Ceiling สหรัฐฯ ซึ่งเชื่อสุดท้ายจะตกลงกันได้ และหุ้นไทยที่ผันผวนระยะสั้นจากความกังวลการเมืองในประเทศที่อาจทำให้จัดตั้งรัฐบาลได้ช้า ชี้หากดัชนีหลุด 1,500 จุด เป็นโอกาสทยอยสะสมลงทุนระยะยาว 

 

ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้าทีม SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยผ่านรายการ Morning Wealth ว่า มี 2 ปัจจัยเสี่ยง คือ 1. ความไม่แน่นอนของปัญหาเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling) ของสหรัฐฯ 2. ปัจจัยการเมืองในประเทศที่คาดการณ์ไม่ได้ จะส่งผลกดดันให้ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนค่อนข้างสูงได้ในระยะสั้น

 

โดยปัจจัยการเมืองในประเทศคือ ประเด็นการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลที่มีความจำเป็นต้องใช้คะแนนเสียงจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพื่อโหวตให้กับพรรคก้าวไกลในการจัดตั้งรัฐบาล ส่งผลให้คาดว่าการจัดตั้งรัฐบาลในรอบนี้อาจจะต้องใช้ระยะเวลานานกว่าทุกครั้ง ซึ่งตามกรอบกฎหมายที่กำหนดไว้ต้องมีการประชุมสภาครั้งแรกภายในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้

 

อย่างไรก็ดี โมเมนตัมของเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2566 นำโดยภาคการท่องเที่ยวกับการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวขึ้นชัดเจน ส่งผลให้ GDP ไตรมาส 1/66 ขยายตัว 2.7% ซึ่งมีโอกาสเห็นการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปีนี้

 

ขณะที่นโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกลที่มีโอกาสเป็นแกนนำในการตั้งรัฐบาลที่ประกาศออกมามีการเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ซึ่งในส่วนนโยบายการคลังจะเน้นการต่อยอดจากนโยบายเดิม รวมถึงเน้นการเข้าบริหารจัดการในภาคเศรษฐกิจจุลภาค อีกทั้งมีการทำงบประมาณรูปแบบ Zero Based Budgeting ซึ่งเป็นปัจจัยที่ยังต้องติดตามความชัดเจนในการนำมาใช้จริง และจะสามารถกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้มากหรือน้อยอย่างไร

 

นอกจากนี้นักลงทุนยังให้ความสำคัญในการติดตามนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทของพรรคก้าวไกลด้วย เพราะจะมีผลกระทบต่อกำลังซื้อและต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจ ว่าจะดำเนินการทันทีและประกาศใช้พร้อมกันทั่วประเทศหรือไม่ รวมถึงระยะเวลาที่ให้มีผลเริ่มใช้ เพราะจะมีผลในการปฏิบัติตามของนายจ้าง

 

ส่วนผลกระทบจากค่าแรงที่เพิ่มขึ้นต่ออัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะมีผลกระทบที่จำกัด เพราะหากดูข้อมูลย้อนหลังช่วงปี 2555-2556 ที่ประเทศไทยมีการปรับขึ้นค่าแรงค่อนข้างสูง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือเงินเฟ้อก็มีไม่มากและใช้เวลาส่งผ่านไม่นาน

 

ด้านปัญหาการเจรจาต่อรองขอยกเพดานหนี้สาธารณะสหรัฐฯ เชื่อว่าสุดท้ายจะสามารถเจรจาบรรลุข้อตกลงกันได้ก่อนถึงกำหนดชำระหนี้เหมือนทุกครั้งในอดีต โดยมี 2 แนวทางคือ เลื่อนการชำระหนี้ หรือเพิ่มเพดานหนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่ทำให้นักลงทุนคลายความกังวลลงได้

 

ดร.กำพลกล่าวต่อว่า ตลาดหุ้นไทยที่ปัจจุบันซื้อขายบน P/E ที่ 15 เท่า จากก่อนการเลือกตั้งอยู่ที่ 15.5 เท่า หรือ -0.5 S.D. จากค่าเฉลี่ย 5 ปี ซึ่งลดลงไปใกล้เคียงกับในช่วงที่เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองในปี 2556-2557 ซึ่งค่า P/E ปัจจุบันที่ลดลงมานั้น มองว่าตอบรับปัจจัยความเสี่ยงทางการเมืองไปแล้วบางส่วน ขณะที่ประเมินว่าแนวโน้มกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของไทย มีโอกาสเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นต่อตามภาพเศรษฐกิจของไทย ดังนั้นประเมินว่าหากตลาดหุ้นซื้อขายบน P/E ต่ำกว่า 15 เท่า หรือคิดเป็น SET Index ระดับประมาณ 1,500 จุด หรือหาก SET Index ปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับดังกล่าว ก็มองว่าจะมี Margin of Safety ที่คุ้มค่า เป็นโอกาสเข้าทยอยสะสมในช่วงที่ตลาดหุ้นมีความผันผวนในระยะสั้น โดยเฉพาะกับนักลงทุนระยะยาวที่ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) 

 

ขณะที่มุมมองการลงทุนในตลาดหุ้นประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งตลาดหุ้นสหรัฐฯ กับยุโรปเป็น Neutral โดยมองว่าเริ่มมีราคาแพง ซึ่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตอบรับเชิงบวกจากการคาดหวังล่วงหน้าไปแล้วว่า สุดท้ายปัญหา Debt Ceiling ของสหรัฐฯ จะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ โดยแนะนำให้ลงทุนในหุ้นกลุ่ม Defensive คือหุ้นในกลุ่ม Utility ส่วนตลาดหุ้นยุโรปนักลงทุนคลายความกังวลในปัญหาวิกฤตพลังงานที่มีการบริหารจัดการไปแล้วช่วงก่อนหน้านี้ ขณะที่กำไรของ บจ. ในตลาดหุ้นยุโรปมีตัวเลขที่ออกมาดีกว่าที่คาดไว้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X