วานนี้ สุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนบิ๊กเนมของวงการ ได้เปิดวงเสวนาคุยเรื่อง ‘อนาคตประเทศไทยไปทางไหน’ โดยเชิญ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม หลานชายของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ร่วมพูดคุย
“ไม่ ไม่ได้ขอ ดังนั้นคืนนี้ระหว่างที่คุยกันอยู่ มีอะไรแปลกๆ เข้ามาก็ตัวใครตัวมันนะครับ”
สุทธิชัยเปิดเผยก่อนเริ่มต้นการเสวนาว่าไม่มีการขออนุญาตต่อ คสช. ในการจัดงานวันนี้ เป็นการมารวมตัวกันในนามประชาชนคนไทย แลกเปลี่ยนถึงอนาคตประเทศไทยในความคิดของทุกท่าน
และต่อไปนี้คือ ‘สรุป’ ภาพรวมจากการพูดคุยเมื่อค่ำวานนี้
เราควรจะรื้ออะไร ควรจะไม่ทำอะไร เพื่อให้บ้านเมืองดีขึ้น คือคำถามแรกที่สุทธิชัยโยนขึ้นในวงสนทนาเพื่อให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนได้แสดงความคิดเห็น
คุณหญิงสุดารัตน์: ชี้ว่ายังคงต้องมองเป็นสองเรื่องคือด้านปัญหากับด้านอนาคต การออกจากหล่มต้องขึ้นอยู่กับทุกฝ่าย เรายังต้องวิ่งให้ทันกระแสเทคโนโลยีที่เป็นโอกาสในการแก้ปัญหา เช่น หล่มของปัญหาทุจริต การโกงเงินคนจน บล็อกเชนก็อาจนำมาแก้ปัญหานี้ได้
พริษฐ์: เริ่มต้นพูดถึงความฝัน อยากเห็นอนาคตไทยมีความหลากหลายและหมดความเหลื่อมล้ำ การนำประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย การรื้อเรื่องการศึกษาจึงเป็นคำตอบ
อนุทิน: กล่าวว่าทุกคน ทุกพรรคถูกเซตซีโร่ ไม่มีใครได้อยู่ร่วมในศูนย์กลางอำนาจของ คสช. ดังนั้นการกล่าวหาเรื่องอิทธิพลก็เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องไปตรวจสอบ ผลของการเลือกตั้งออกมาอย่างไร ทุกคนต้องเคารพ ไม่มีใครเป็นศัตรูกับใคร ทุกคนทำตามหน้าที่
ธนาธร: “ขอไม่เรียกทหารออกมาทำรัฐประหาร” คือคำตอบของชายที่ออกตัวว่าชีวิตผ่านรัฐประหารมาแล้ว 4 ครั้ง สิ่งแรกที่ต้องรื้อคือ “อย่าเอาอำนาจนอกระบบ อำนาจนอกรัฐสภามาใช้ ต้องกลับมาเชื่อมั่นศักยภาพเราทุกคน” อย่างที่สองที่ต้องรื้อคือรัฐธรรมนูญ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ
พริษฐ์: ได้สำทับเพิ่มเติมต่อความคิดเห็นของธนาธรว่า นอกจากภัยคุกคามของเผด็จการรัฐประหารก็ยังมีภัยจากเผด็จการเสียงข้างมากที่ใช้เสียงข้างมากออกกฎหมายทำลายระบบถ่วงดุลตรวจสอบ ซึ่งก็ต้องก้าวข้ามไปให้ได้
ขณะที่ในคำถามถัดมากลายเป็นเผือกร้อนถูกโยนไปที่นักการเมืองรุ่นเก่า เมื่อเป็นส่วนหนึ่งของผู้สร้างปัญหาให้ทหารต้องออกมา สุทธิชัยได้เปิดประเด็นว่า แล้วนักการเมืองต้องรับผิดชอบอย่างไร
คุณหญิงสุดารัตน์: ปัญหาไม่ได้เกิดจากคนใดคนหนึ่ง ดังนั้นถ้ารัฐประหารแก้ปัญหาชาติได้ ประเทศไทยคงเจริญไปแล้ว ระบอบประชาธิปไตย แม้ไม่ได้เป็นระบอบที่เลิศที่สุด แต่มันเป็นระบอบที่เห็นศีรษะประชาชน สำหรับการไม่ยอมรับผลเลือกตั้งที่ฝ่ายแพ้พยายามสร้างคำว่าเผด็จการรัฐสภามานั้นเป็นไปเพื่อการสร้างอีกระบบขึ้นมาให้เหมือนระบบเผด็จการทหาร ทั้งๆ ที่หากฝ่ายค้านใช้การตรวจสอบในสภาเพื่อผลประโยชน์ประชาชน ประชาชนก็จะพิพากษาเองเมื่อถึงเวลา เพราะนักการเมืองมีการหมดวาระ ที่ผ่านมามีคนอื่นมาแย่งพิพากษาก่อน ดังนั้นการรับผิดชอบของนักการเมืองคือการต้องปฏิรูปตัวเองและการต้องรอรับการลงโทษจากประชาชน
อนุทิน: ย้ำถึงประเด็นการเดินตามโรดแมปรัฐธรรมนูญที่ตอนนี้แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว เข้าสู่การเลือกตั้ง แพ้ให้เป็น และเคารพกติกา แล้วหลังเลือกตั้งมาคุยกัน “พรรคการเมืองทุกพรรคต่างรู้ว่ารัฐธรรมนูญนี้ทำให้พรรคมีข้อจำกัด การแก้ไข อย่าไปกลัวว่าต้องขอ ส.ว. 250 คนเห็นชอบ ถ้า 500 คนนี้คือผู้แทนของราษฎรทั้ง 70 ล้านคนของประเทศไทย มาบอกว่าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ ให้มันรู้ไปว่าใครจะขวาง ทหารปฏิวัติไม่น่ากลัวเท่าประชาชนไม่ยอม”
พริษฐ์: อธิบายถึงประชาธิปไตยที่ไม่เป็นเสรีประชาธิปไตย และระบุว่า “การเมืองจะเป็นประชาธิปไตยต้องดูที่การบริหารของพรรคการเมืองด้วยว่าพรรคการเมืองบริหารอย่างเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า พรรคการเมืองต้องไม่มีเจ้าของ ทุกคนในพรรคมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะเลือกตั้งหัวหน้าพรรค”
ธนาธร: “ผมคิดว่าพรรคการเมืองที่มีอยู่ทั้งหมด ไม่มีพรรคการเมืองไหนเป็นตัวแทนในความคิดผมได้ ผมต้องบอกว่าเวลาพูดเรื่องประชาธิปไตย มีคนตายจริงๆ ในประเทศไทย มีคนเข้าคุกจริงๆ ในประเทศไทย เพราะต่อสู้เรื่องประชาธิปไตยมาตั้งแต่ปี 2475 สิ่งที่ผมรู้สึกว่าเป็นภารกิจของผมที่ต้องทำให้ได้ก่อนตายคือการทำให้รัฐประหารที่ไม่เป็นประชาธิปไตยครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายและไม่มีอีก เป็นภารกิจส่วนตัวของผมที่อยากจะทำให้ได้ เวลาเราบอกเรื่องพวกนี้มันพูดง่าย แต่ถามว่าใครจะกล้าเข้ามาทำ ผมต้องเรียนว่าผมเข้ามาตรงนี้ ในแง่หนึ่งผมพร้อมที่จะติดคุกแล้ว ผมคุยกับครอบครัวผม อาจจะถึงชีวิต อาจจะเข้าคุก ผมพร้อม”
ธนาธรได้นำเสนอแนวทางการลดอิทธิพลของตนเองในพรรคว่าจะใช้ระบบ Crowdfunding (ระดมทุนสนับสนุนพรรค) โดยระดมทุนบนโต๊ะแบบเปิดเผย เพราะถ้าเมื่อใดระดมทุนจากสาธารณะได้ พรรคจะยึดติดกับหัวหน้าพรรคน้อยลง สิ่งที่ธนาธรจะสร้างคือพรรคที่เป็นของประชาชนจริงๆ ตนจะขอเงินจากทุกคนที่อยากมาร่วมสร้างอนาคตใหม่
อะไรจะทำให้พรรคอนาคตใหม่ แตกต่างไปจากชะตากรรมเก่าๆ คือคำถามข้อถัดมาจากสุทธิชัย
ธนาธร: อย่างแรกคือเทคโนโลยีที่เปิดโอกาสให้เข้าถึงมวลชน หาสมาชิกออนไลน์ หรือกระทั่งไพรมารีโหวต และการสร้างประชาธิปไตยทางตรงในการร่วมโหวตร่างกฎหมายในสภาผ่านแพลตฟอร์ม และอย่างที่สอง ธนาธรบอกว่าตนพร้อมลงจากพรรคตลอดเวลา ถ้าวันใดระดมทุนได้พรรคยั่งยืนแล้ว ตนพร้อมจะลง
“เพราะการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทย กว่าจะทำได้ผมคงตายไปแล้ว พรรคต้องอยู่ยาวกว่าผม”
พร้อมยืนยันว่าเป็นไปได้ เพราะทั้งตนและอาจารย์ปิยบุตรพร้อมที่จะลงจากพรรค หากมีคนอื่นทำได้ดีกว่าตน และได้สารภาพว่าการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งครั้งก่อนได้เลือกพรรคเพื่อไทย แต่ตอนนี้เห็นว่าไม่สามารถเป็นผู้แทนตอบสนองความคาดหวังของตนได้แล้ว จึงต้องลงมาเอง
พริษฐ์: ได้ขยายความความหมายของคนรุ่นใหม่ว่า “หนึ่ง เรื่องอายุ สอง เป็นคนหน้าใหม่ในวงการนั้น สาม คนที่มีความคิดใหม่” และสำหรับความคาดหวังของคนที่เป็นคนรุ่นใหม่คนหนึ่งก็ต้องการสร้างประชาธิปไตยให้ยั่งยืนโดยไม่ต้องมีคนติดคุกหรือเสียชีวิต”
ขณะเดียวกัน พริษฐ์ยังเปิดเผยว่าในอนาคตจะร่วมทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งการทำงานกับพรรคเก่ามีข้อดีสองด้าน เพราะจะได้ความคิดเห็นทั้งจากคนที่มีประสบการณ์และคนรุ่นใหม่ ซึ่งอนาคตไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จึงเป็นไปได้ยากที่จะไม่ฟังเสียงแนวทางผู้ใหญ่เลย ซึ่งตนเองมีความเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ที่หนักแน่นในเสรีนิยมประชาธิปไตย หลายๆ คนอาจจะมองว่าพรรคนี้เป็นอนุรักษนิยมหรือไม่ แต่พริษฐ์บอกว่าจะทำให้ภาพลักษณ์นั้นหายไป จะเป็น ‘ประชาธิปัตย์ใหม่’ ซึ่งนโยบายในอนาคตจะต้องอิงหลักวิชาการและงานวิจัย
สุทธิชัยหันมาถามคุณหญิงสุดารัตน์ว่า พรรคเพื่อไทยทำอย่างไรถึงจะตอบสนองความคาดหวังของคนรุ่นใหม่ แล้วพรรคเพื่อไทยเป็นความคาดหวังของใคร
“ในโลกของความเป็นจริง บริบทมันซับซ้อนกว่านี้เยอะ มันมีหลายมิติ หลายปัจจัย อย่างที่เราพูดเมื่อกี้ ถ้ารัฐธรรมนูญปี 2560 ให้คุณประยุทธ์ไปใช้แล้วไม่มี ม.44 อะไรก็แล้วแต่ที่คุณประยุทธ์พูดก็ทำไม่ได้ พรรคการเมืองในบริบทเหมือนปลาว่ายอยู่ในน้ำ เมื่อน้ำเป็นน้ำแบบนี้ ปลาจะแข็งแรงแค่ไหน จะว่ายไปถึงต้นน้ำไม่ได้เยอะหรอก มันเป็นเรื่องของทุกคนต้องช่วย” คุณหญิงสุดารัตน์ให้คำตอบ
บทสนทนาบนเวทีเคลื่อนย้ายมาสู่ประเด็นนโยบาย เมื่อผู้ดำเนินรายการถามถึงการต่อสู้ระหว่างอำนาจเก่ากับระบอบทักษิณ ระบอบทักษิณมีจริงหรือไม่ แล้วถ้ามีคืออะไร
คุณหญิงสุดารัตน์: เท้าความถึงการต่อสู้ระหว่างฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งกับพรรคราชการ ซึ่งเป็นอย่างนี้มาตลอด ไม่ใช่ว่ามีคุณทักษิณแล้วถึงมีการปฏิวัติ และทุกครั้งที่มีการปฏิวัติ รัฐธรรมนูญจะเขียนให้ฝ่ายการเมืองอ่อนแอ แต่รัฐธรรมนูญปี 2540 เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยท่ามกลางความรู้สึกประชาชนที่เอาปฏิรูป ไม่เอาปฏิวัติ เพื่อให้ระบอบตัวแทนประชาชนเข้มแข็งขึ้น ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลไหนมา ถ้าใช้รัฐธรรมนูญนี้ก็มีความต่อเนื่อง ไม่ใช่ต้องเป็นเพียงรัฐบาลทักษิณ แต่ท้ายที่สุดมันก็ทำให้เห็นถึงอำนาจฝ่ายการเมืองที่มากกว่า มีการปฏิรูประบบราชการและความไม่พอใจ สำหรับระบอบทักษิณ มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย การปลุกผีทักษิณยังคงมี แต่ถามกลับว่าวันนี้ไม่มีทักษิณ ทำไมมีทุจริต วันนี้ไม่มีทักษิณ ทำไมยังมีปัญหาภาคใต้
ธนาธร: “ผมเป็นคนหนึ่งที่ไปชุมนุมกับคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ตั้งแต่เมืองไทยรายสัปดาห์ยังอยู่ที่สวนลุมพินี วันที่ผมเลิกชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ คือวันที่กลุ่มพันธมิตรฯ เดินออกจากการชุมนุมตามแนวทางประชาธิปไตย กล่าวคือมีสัญญาณอะไรบางอย่างที่เป็นการชุมนุมเพื่อก่อให้เกิดการรัฐประหาร”
ธนาธรเห็นว่าต้องใช้กระบวนการทางประชาธิปไตยให้ถึงที่สุด ทั้งทางฝ่ายค้าน องค์กรยุติธรรม บทบาทสื่อมวลชน การวิพากษ์วิจารณ์ อย่าเรียกองค์กรที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยมาแก้ปัญหา
ท้ายสุดของการเสวนา ทุกคนพูดตรงกันว่าภาพอนาคตไทยและแนวทางที่อยากเห็น หรือผลักดันเป็นพื้นฐานนโยบาย ทั้งการกระจายอำนาจ การลดบทบาทภาครัฐ ลดกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคจำกัด เสริมสร้างโอกาสพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประชาชน
อนุทิน: สรุปว่าการเปิดกว้างยังหมายรวมถึงทางการเมืองด้วย ถ้าพรรคหน้าใหม่พูดถึงนโยบายก็จะทำให้คนหน้าเก่าต้องพูดเช่นกัน แล้วทุกพรรคที่เข้ามาก็ไม่มีใครเข้ามาได้เกินกึ่งหนึ่ง เพราะเจอกรอบในรัฐธรรมนูญล็อกไว้ ดังนั้นทุกพรรคต้องช่วยกันทำ โดยก่อนอื่นต้องเอาตัวเข้าไปในเกมให้ได้ก่อน ในสนามฟุตบอล อย่าให้นักมวยเข้ามา
คุณหญิงสุดารัตน์: “กรอบไม่ได้จำกัดแค่คำว่ารัฐธรรมนูญอย่างเดียว แต่กฎเกณฑ์ที่เขียนลงไปทั้งหมด รวมทั้งยุทธศาสตร์ชาติที่เรายังไม่เห็น แต่เราเซ็นเช็คเปล่าไปแล้ว มันได้เขียนแนวทางที่ คสช. จะครอบงำประเทศไปอีกยาว ปัญหาใหญ่ไม่ใช่แค่ระยะเวลาของอำนาจ แต่กฎเกณฑ์ที่เขียนมาในแง่ว่าทำให้ระบบสังคมและความเป็นอยู่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องของสภาพเศรษฐกิจที่เราแทบทำอะไรไม่ได้ มีโปลิตบูโรมาดูอีก แต่โชคดีที่เขาเขียนได้ถึงขนาดนี้ มันทำให้ความเดือดร้อนไม่ได้จำกัดวงอยู่ที่นักการเมือง แต่ความเดือดร้อนที่แท้จริงอยู่ที่ประชาชน
“ดังนั้นก็ไม่ยากถ้าเรายึดเอาเสียงประชาชน แล้วพรรคการเมืองเสนอว่าหลังเลือกตั้งให้โหวตเสียงในการแก้รัฐธรรมนูญในมาตราที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการปัญหาชีวิตประชาชน มาตราที่เกี่ยวข้องกับสถาบันเบื้องสูง เราไม่แตะ ทำอย่างไรที่จะแก้ไขตรงนี้ได้ก็จากเสียงประชาชน ถ้าพรรคการเมืองเป็นเครื่องมือที่จะเสนอตรงนี้ให้ประชาชนตัดสินใจ แล้วทำจากล่างขึ้นบนให้ประชาชนได้รู้ เอาให้ชัด แล้วให้โหวต มันจะเป็นเสียงประชาชน แล้วรัฐธรรมนูญจะแก้ได้ ถึงแม้ว่าคนที่เสนออาจจะเสี่ยงคุกหน่อย เพราะเขาเขียนไว้หมดแล้ว แต่ถ้าทุกพรรคการเมืองร่วมกันก็ติดกันหมด น่าจะดีกว่า”
ธนาธร: ใช้ 1 นาทีสุดท้ายขายของว่า “คนกลุ่มเดียวที่มีข้อเสนอเป็นรูปธรรม ถ้ามีอำนาจแล้วจะจัดการเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างไร จะจัดการเรื่องลดอำนาจทหารอย่างไร เรื่องสิทธิเสรีภาพและเรื่องศาลอย่างไร คืออนาคตใหม่เรามีข้อเสนอที่ชัดเจน จับต้องได้รายมาตราแล้ว โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้โพสต์เกี่ยวกับข้อเสนอในการจัดการปัญหาลงรายมาตราไปแล้ว ถ้าท่านสนใจ ไปหาอ่านข้อเสนอในเฟซบุ๊กอาจารย์ปิยบุตรได้”
Cover Photo: TV24 สถานีประชาชน