ตลาดหุ้นไทยร่วงหนักรับผลเลือกตั้ง หลัง ‘ก้าวไกล’ กวาดคะแนนสูงสุดเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งผิดจากที่ทุกสำนักคาดการณ์ ผู้เชี่ยวชาญเผย นักลงทุนหวั่นนโยบายยุติทุนผูกขาดกระทบธุรกิจในตลาดหุ้น ลามยาวถึงธุรกิจกึ่งผูกขาด แนะจับตาการฟอร์มทีมรัฐบาลที่ยังมีความไม่แน่นอน
หุ้นไทยวันนี้ (15 พฤษภาคม) ผันผวนในแดนลบตลอดทั้งวันตามกระแสผลการเลือกตั้ง และทิศทางในการจับมือกันของพรรคการเมืองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยในช่วงเช้าดัชนีปรับตัวลดลงราว 19 จุด ก่อนจะปรับขึ้นเล็กน้อย และในช่วงบ่ายดัชนียังปรับลดลงอีกกว่า 22 จุด (จากระดับเปิดตลาด) จน ณ เวลา 16.00 น. ดัชนีซื้อขายอยู่ที่ระดับ 1,538 จุด ส่วนหุ้นที่ถูกเทขายมากที่สุดคือหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า กลุ่มค้าปลีก และกลุ่มพลังงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดมุมมอง ‘เศรษฐกิจ-หุ้นไทย’ ของผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ หลังการเลือกตั้ง 2566
- สภาพัฒน์แนะรัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหา ‘ส่งออก-หนี้ครัวเรือน’ เป็นอันดับแรก! เผยนักลงทุนอยากเห็นการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น
ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ตลาดหุ้นในวันนี้ที่ปรับตัวลดลงมาจาก 3 ปัจจัยลบ ปัจจัยแรกที่มีน้ำหนักกดดันสูงสุดในช่วงนี้คือ ผลการเลือกตั้งล่าสุดของไทยที่พรรคก้าวไกลมีคะแนนเสียงออกมาเป็นอันดับ 1 ซึ่งมีโอกาสเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งมีหนึ่งในนโยบายในการหาเสียงว่าต้องการยุติทุนธุรกิจผูกขาด ซึ่งปัจจุบันมีธุรกิจลักษณะดังกล่าวจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จำนวนหลายบริษัท เช่น หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า อีกทั้งยังมีความกังวลว่าธุรกิจกึ่งผูกขาดจะถูกกระทบกับธุรกิจตามมาด้วยในระยะยาว
“ตลาดหุ้นที่ลดลงชัดเจนว่ากังวลผลการเลือกตั้งที่พรรคก้าวไกลที่ได้คะแนนสูงสุด มีนโยบายเรื่องทุนผูกขาดที่จะกระทบกับธุรกิจโรงไฟฟ้าในตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่เงื่อนไขสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่เคยทำไปแล้วคิดว่าคงไปเปลี่ยนไม่ได้ ดังนั้นผลกระทบจากวันนี้ไปคงจะมีบ้าง แต่คงไม่น่าเยอะเท่าไร แต่มองว่าภาพการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจากนี้ไปอาจจะเห็นความผันผวนได้จากความกังวลในประเด็นนี้”
ปัจจัยที่สองคือ ความกังวลในปัญหาเดิมที่ยังค้างอยู่ก่อนหน้านี้ สถานการณ์ปัญหาของหุ้นในกลุ่มเจมาร์ทที่ล่าสุด บมจ.เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (JMART) รายงานผลประกอบการไตรมาส 1/66 มีตัวเลขออกมาที่ไม่ดี รวมถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ซึ่งหุ้นในกลุ่มเจมาร์ทถือว่ามีนักลงทุนถือหุ้นอยู่เป็นจำนวนมาก
ปัจจัยที่สามคือ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ของไทยไตรมาส 1/66 ที่ออกมาส่วนใหญ่สัดส่วนประมาณ 80% มีตัวเลขที่ค่อนข้างย่ำแย่ ต่ำกว่าเป้าหมาย และยังต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ประเมิน
ขณะที่การลงทุนในหุ้นที่มีธุรกิจผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด แนะนำให้รอติดตามข้อมูลท่าทีของการดำเนินนโยบายไปสักระยะ แต่หากราคามีการปรับลดลงอย่างหนักจนราคาหุ้นถูกก็มองเป็นโอกาสในการเข้าซื้อได้ เนื่องจากภาพรวมของตลาดหุ้นปัจจุบันถือว่ามีมูลค่าที่แพง เมื่อเปรียบเทียบกับตลาดหุ้นต่างประเทศอย่างสหรัฐฯ กับยุโรป โดยปัจจุบันตลาดหุ้นไทยมี P/E Ratio เฉลี่ยที่ประมาณ 18-20 เท่า สูงกว่าในอดีตที่เคยอยู่ประมาณ 15 เท่า
ส่วนกลุ่มหุ้นที่เชื่อว่าจะไม่ถูกกระทบจากนโยบายของพรรคก้าวไกล อีกทั้งยังสามารถลงทุนได้ในภาพระยะยาวจากโอกาสเติบโตในอนาคตคือ กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว, ค้าปลีก, อาหาร และอสังหาริมทรัพย์
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องติดตามคือ การจัดตั้งรัฐบาลที่ต้องการเห็นความราบรื่นและเสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อมีทีมรัฐบาลใหม่เข้ามาทำงานบริหารประเทศต่อโดยเร็ว
“หากการจัดตั้งรัฐบาลยิ่งช้าและมีเกมการเมืองเข้ามากระทบกระเทือน อาจจะทำให้ความมั่นใจของนักลงทุนเสียหายได้เยอะ แล้วยังไม่รู้ว่าจะมีปัญหา Disqualified พรรคการเมืองหรือ ส.ส. เกิดขึ้นด้วยหรือไม่ ซึ่งยังต้องติดตามต่อ รวมถึงรอดูตัวเลขกำไรของ บจ. ไตรมาส 2/66 ที่จะออกมาด้วย”
ส่วนประเด็นของเศรษฐกิจในต่างประเทศ ในยุโรปมีแนวโน้มภาพรวมเริ่มดีขึ้น ส่วนหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่จะชนเพดาน (Debt Ceiling) เชื่อว่าสุดท้ายน่าจะสามารถตกลงหาทางออกได้ ขณะที่ปัญหาภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เชื่อว่าจะยังไม่เกิดขึ้นในสหรัฐฯ
จับตาความเสี่ยงการฟอร์มรัฐบาลใหม่
ด้าน ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมาว่าพรรคก้าวไกลได้คะแนนสูงสุด ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลนั้น ถือว่าผิดจากที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้เริ่มไม่มีความมั่นใจถึงผลการเลือกตั้ง และมีความกังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาล หรือการคัดเลือกรายชื่อบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีว่าจะสามารถดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยหรือไม่
เนื่องจากเดิมนั้นนักลงทุนส่วนใหญ่คาดว่าพรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งรอบนี้ แล้วอาจไปจับมือกับบางพรรคของขั้วรัฐบาลเก่า ซึ่งจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลและการเลือกบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีที่สามารถดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อยกว่า แต่เมื่อผลออกมาเป็นดังเช่นปัจจุบัน นักลงทุนจึงต้องการติดตามความชัดเจนของสูตรจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ รวมถึงหน้าตาของรัฐบาลว่าจะออกมาเป็นอย่างไร
“ผลการเลือกตั้งที่ออกมานี้ไม่ได้หมายความว่าการตั้งรัฐบาลจะเป็นไปด้วยความไม่เรียบร้อย แต่มีความเสี่ยงหรือความไม่แน่นอนเกิดขึ้นกับทิศทางการเมืองไทย ทำให้เกิดความไม่มั่นใจ นักลงทุนเลยขายหุ้นออกมาเพื่อลดความเสี่ยงและรอดูสถานการณ์ก่อน การตั้งรัฐบาลครั้งนี้จะเป็นสูตรที่ตลาดทุนไม่เคยคิดไว้มาก่อน เพราะอาจจะต้องรวมเสียงให้ได้ 376 เสียง เพื่อโหวตตัวนายกฯ โดยไม่ต้องอาศัยเสียงจาก ส.ว.”
นอกจากนี้ นักลงทุนยังมีการศึกษา วิเคราะห์ และติดตามผลกระทบของหลายๆ นโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อหุ้นบางตัวที่เคยได้ประโยชน์จากนโยบายเดิม เช่น ยุติธุรกิจผูกขาด