วานนี้ (14 พฤษภาคม) จากกรณีที่มีการแชร์ภาพพร้อมข้อความในสื่อโซเชียล ระบุถึงข้อสงสัยในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งที่ 33 เขตบางกอกน้อย (เฉพาะแขวงบ้านช่างหล่อ แขวงบางขุนนนท์ แขวงบางขุนศรี และแขวงอรุณอมรินทร์) เขตบางพลัด (เฉพาะแขวงบางพลัด แขวงบางอ้อ แขวงบางบำหรุ และแขวงบางยี่ขัน)
พบว่า ‘ไม่อนุญาตให้ประชาชนที่มาติดตามการนับคะแนนหลังปิดหีบเลือกตั้งบันทึกภาพการนับคะแนน หรือสังเกตการณ์ได้อย่างเหมาะสม และหลังจากการนับเสร็จสิ้นก็ไม่มีการรายงานผลคะแนนของหน่วยเลือกตั้ง’
หลังเวลา 17.00 น.
ประชาชนที่ติดตามการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งเริ่มโต้แย้งและกดดันเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานเขตบางพลัด เพื่อให้รายงานผลคะแนนด้วยความโปร่งใสตามข้อเท็จจริง และปฏิบัติตามข้อที่ระบุว่าผลคะแนนต้องรายงานให้ประชาชนทราบ และเปิดให้สังเกตการณ์ตามขั้นตอนได้อย่างอิสระ
ในกระแสโซเชียลได้มีการส่งต่อ (รีทวีต) ในประเด็นดังกล่าวต่อเนื่อง และเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องนั้น รวมไปถึงความผิดปกติของหน่วยเลือกตั้งอื่นๆ
เวลา 23.32 น.
เพจเฟซบุ๊ก ‘สำนักงานเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร’ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่า
“จากกรณีที่มีการเข้าใจผิดในโซเชียลมีเดียว่าทางเขตบางพลัดมีการปิดกั้นมิให้มีการไลฟ์และการขอดูคะแนน รวมถึงการนับคะแนนนั้น สำนักงานเขตบางพลัดขอชี้แจงว่ามิได้มีการปิดกั้นการไลฟ์แต่อย่างใด สามารถดำเนินการได้ทุกขั้นตอน
“ส่วนการนับคะแนน คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งได้นับคะแนนและรายงานผลการนับคะแนน (ส.ส.5/18) พร้อมปิดประกาศบริเวณหน่วยเลือกตั้งแล้ว
“กรณีการขอดูคะแนน ทางเขตบางพลัดยินดีที่จะเปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใส แต่ในขณะนั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายรวมคะแนนอยู่ระหว่างตรวจสอบเอกสารสำคัญ และเมื่อเจ้าหน้าที่ดำเนินการประมวลผลเสร็จสิ้น ทางเขตบางพลัดได้แจ้งผลคะแนนให้ผู้ร้องได้รับทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“จึงเรียนมาเพื่อทราบโดยทั่วกัน”
วันนี้ (15 พฤษภาคม) ตั้งแต่เวลา 01.00 น.
มีประชาชนกว่า 200 คนไปรวมตัวที่สำนักงานเขตบางพลัด เพื่อเรียกร้องให้ อารียา เพ็งประเสริฐ ผู้อำนวยการเขตบางพลัด ออกมาชี้แจงกรณีที่ไม่มีการนับคะแนนเลือกตั้งต่อหน้าประชาชน และไม่มีการประกาศคะแนนเลือกตั้งรวมของเขตบางพลัด ทั้งที่มีการขนหีบบัตรเลือกตั้งเข้าไปภายในอาคารสำนักงานเขต
ต่อมา พงศ์พันธ์ ยอดเมืองเจริญ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เขต 33 บางกอกน้อย-บางพลัด ของพรรคก้าวไกล รวมถึงสมาชิกพรรคอีกหลายคนได้ลงพื้นที่เพื่อประสานงานแก้ปัญหาดังกล่าว และประสานผู้อำนวยการเขตบางพลัดให้ออกมาชี้แจง โดยมีกลุ่มเยาวชนนักกิจกรรมทางการเมืองมาร่วมเรียกร้อง
เวลา 03.00 น.
อารียา ผู้อำนวยการเขตบางพลัด ได้เดินทางมาถึง พร้อมชี้แจงว่าเขตบางพลัดเป็นหน่วยเลือกตั้งลูกของเขตบางกอกน้อย ทำให้ที่สำนักงานเขตบางพลัดจะไม่มีการนับคะแนนเสียง แต่สำนักงานเขตจะทำหน้าที่เก็บหีบบัตรเลือกตั้งและรวบรวมคะแนนจากหน่วยเลือกตั้งย่อยที่มีการนับคะแนนที่หน้าหน่วยต่อหน้าประชาชน ส่งไปให้หน่วยเลือกตั้งสำนักงานเขตบางกอกน้อยรวมคะแนนทั้งเขตที่ 33
อย่างไรก็ตาม การชี้แจงของอารียายังไม่เป็นที่พอใจของประชาชน เนื่องจากผู้ที่เดินทางมารวมตัวต้องการเห็นหลักฐานการนับคะแนนที่หน่วยย่อยให้ชัดเจน และต้องการเห็นว่าหีบเก็บบัตรลงคะแนนเลือกตั้งนั้นอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์
เวลา 04.00 น.
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ด้วยตัวเอง พร้อมชี้แจงว่าการจะนับคะแนนใหม่หลังจากปิดผนึกหีบบัตรไปแล้วนั้นต้องไปร้องสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้มีคำสั่งนับคะแนนใหม่
ทางตนเองหรือผู้อำนวยการเขตไม่สามารถสั่งการได้ เพราะเป็นอำนาจของ กกต. ตามกฎหมาย แต่ตนเองจะช่วยประสานทุกหน่วยงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้การเลือกตั้งโปร่งใส
เวลา 05.30 น.
ประชาชนที่มารวมตัวเริ่มแยกย้าย
เวลา 06.37 น.
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ในรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ ระบุว่า การเลือกตั้ง ส.ส. กรุงเทพมหานคร แบ่งเป็น 33 เขต แต่กรุงเทพมหานครมีพื้นที่แบ่งเป็น 50 เขต บางเขตต้องส่งข้อมูลไปเก็บที่เขตแม่ ซึ่งเวลาประกาศผลทาง กกต. ให้ประกาศผลที่เขตแม่เพียงเขตเดียว ฉะนั้นที่เขตบางพลัดไม่มีกระดานบอกผลคะแนนจึงอาจทำให้เกิดความสับสน
การนับคะแนนต้องนับที่หน่วยเลือกตั้งและส่งคะแนนกลับมาที่เขต ที่บางพลัดมีหน่วยเลือกตั้ง 117 หน่วย ก็ต้องนับที่หน่วยเลือกตั้ง แล้วส่งคะแนนกลับมาที่เขตบางพลัดรวบรวม
ชัชชาติยืนยันว่าตามหน่วยย่อยของเขตบางพลัดมีการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ตามปกติ จากนั้นเขตบางพลัดจะเก็บคะแนนและหีบบัตรเลือกตั้งส่งให้เขตแม่ก็คือเขตบางกอกน้อยต่อไปเพื่อนับรวมคะแนนทั้งหมด
สำหรับขั้นตอนการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งย่อยหลังจากนับคะแนนเรียบร้อยจะจัดทำเอกสารที่เรียกว่า 5/18 ขึ้นมาสามชุด
ชุดแรกจะแปะประกาศที่หน้าหน่วยเลือกตั้ง
ชุดที่สองใส่รวมไปในหีบบัตรเลือกตั้งและปิดผนึก
ส่วนชุดที่สามส่งให้ทางเขตรวมเพื่อส่งให้กับเขตแม่
ชัชชาติกล่าวอีกว่า ในส่วนของเอกสารที่ส่งไปให้เขตแม่ (เขตบางกอกน้อย) วันนี้จะทำสำเนากลับมาให้ประชาชนได้ดูเพื่อให้เกิดความโปร่งใส อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความตื่นตัวที่ทุกคนอยากเห็นการเลือกตั้งที่โปร่งใส คาดว่าที่ผ่านมาจากการเจรจาเกิดปัญหาด้านการสื่อสาร
เวลา 10.30 น.
กกต. ได้จัดแถลงสรุปการจัดการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดย แสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า
สิ่งที่ กกต. ตรวจสอบ กรณีดังกล่าวไม่ใช่การนับคะแนนแต่เป็นการส่งมอบคะแนนที่เขตตามปกติ เจ้าหน้าที่ต้องทำให้เรียบร้อย เนื่องจากเขตบางพลัดไม่ใช่เขตหลักต้องนำไปรวมกับเขตบางกอกน้อย เจ้าหน้าที่ได้ทำความเข้าใจกับประชาชนเรียบร้อยแล้ว
สิ่งที่กรรมการประจำหน่วย (กปน.) ต้องทำหลังนับคะแนนคือการติดประกาศหน้าหน่วย เก็บอุปกรณ์และนำบัตรลงคะแนนเลือกตั้งไปส่งที่ศูนย์รวบรวม ซึ่งมีความเข้าใจว่าจะต้องนับคะแนนใหม่ ทำให้เกิดการตั้งคำถาม ทั้งนี้ การนับคะแนนใหม่ที่ศูนย์รวบรวมไม่มีทางเกิดขึ้น เว้นแต่การนับใหม่ที่หน้าหน่วยเลือกตั้งย่อย