วานนี้ (11 พฤษภาคม) องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิง (Monkeypox) ไม่เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) อีกต่อไป โดยประกาศดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่การระบาดของโรคฝีดาษลิงแพร่กระจายไปทั่วโลกเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา
ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่ของ WHO กล่าวในการแถลงข่าวทางออนไลน์ว่า เขายอมรับคำแนะนำของคณะกรรมการฉุกเฉินของ WHO เรื่องฝีดาษลิง เพื่อยกเลิกการเตือนภัยขั้นสูงสุด
ขณะที่ประกาศดังกล่าวมีขึ้นเพียง 1 สัปดาห์หลังจากที่ WHO ประกาศให้โควิดไม่ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศอีกต่อไป
“ในขณะที่ภาวะฉุกเฉินของฝีดาษลิงและโควิดสิ้นสุดแล้ว ภัยคุกคามของระลอกการระบาดของทั้ง 2 โรคยังคงอยู่ เชื้อไวรัสทั้ง 2 ชนิดยังคงแพร่กระจายและยังคงคร่าชีวิตผู้คนต่อไป” เขากล่าว พร้อมเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ยังคงเฝ้าระวัง โดยชี้ว่า “ฝีดาษลิงยังคงเป็นความท้าทายด้านสาธารณสุขที่สำคัญ ซึ่งต้องการการรับมือที่เข้มข้น เป็นไปในเชิงรุก และมีความยั่งยืน”
ทั้งนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ของ WHO ระบุว่า โรคฝีดาษลิงเกิดจากเชื้อไวรัสฝีดาษลิง และเป็นการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน ซึ่งหมายความว่าสามารถแพร่กระจายจากสัตว์สู่คนได้ และแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ด้วย
อาการของฝีดาษลิงที่พบได้ทั่วไป ได้แก่ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ไม่มีแรง และต่อมน้ำเหลืองโต ในภายหลังอาจมีอาการอื่นๆ ตามมา เช่น มีตุ่มขึ้น ซึ่งจะอยู่ประมาณ 2-3 สัปดาห์ โดยตุ่มนูนจะเกิดขึ้นได้ตามใบหน้า ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ตา จมูก คอ ขาหนีบ อวัยวะเพศ และรอบๆ ทวารหนัก
ขณะที่ WHO ประกาศให้ฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศเมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว หลังพบการแพร่ระบาดเริ่มต้นขึ้นในยุโรป อเมริกาเหนือ และประเทศอื่นๆ รวมถึงในไทย โดยส่วนใหญ่พบในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย ซึ่งจำนวนผู้ติดเชื้อที่พบมีมากกว่า 87,000 ราย และเสียชีวิต 140 ราย ใน 111 ประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงนั้นลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อน้อยลงเกือบ 90% เมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนก่อนหน้า
ภาพ: Smith Collection / Gado / Getty Images
อ้างอิง: