วานนี้ (11 พฤษภาคม) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา ‘สมาชิกวุฒิสภาในฐานะหุ้นส่วนประชาธิปไตย’ โดยภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย กลุ่มสันติประชาธิปไตย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยมีสมาชิกวุฒิสภาแต่งตั้ง 5 คน ร่วมเป็นวิทยากร คือ ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, คำนูณ สิทธิสมาน, กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ, เฉลิมชัย เฟื่องคอน และ มณเฑียร บุญตัน ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นและแสดงจุดยืนของตนเองในการเลือกนายกรัฐมนตรี
คำนูณกล่าวว่า ในการเลือกนายกรัฐมนตรีที่มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภานั้น ทุกพรรคการเมืองสามารถรวมใจกันเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่รวมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมรัฐบาลทั้งหมด หากสามารถรวมเสียงได้ เสียงของ ส.ว. จะไม่มีความหมายอีกต่อไป แต่การจัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียงจำนวน 376 เสียงนั้นอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก
“อยากจะปิดสวิตช์ ส.ว. นั้นทำได้ไม่ยาก และไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญอะไรเลย…สภามี ส.ส. 500 คน ตัดสินใจเลยให้ได้ 376 เสียง ต่อให้พวกผมจะงดออกเสียงหรืออะไรก็ไม่มีความหมาย” คำนูณกล่าว
ขณะที่กิตติศักดิ์กล่าวว่า เราในฐานะที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตรงนี้ เราทำหน้าที่ของเราอย่างดี การเลือกตั้งครั้งนี้เราเห็นแล้วว่ามีการใช้เงินซื้อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เมื่อนักการเมืองลงทุนไปแล้ว เขาจะเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภาหรือไม่ ที่หนักใจข้อต่อมาคือไม่ว่า ส.ว. จะเลือกใคร เลือกฝ่ายไหน หรือเลือกลุง ความขัดแย้งก็ไม่หาย และความขัดแย้งจะเพิ่มดีกรีขึ้นอีก
ส่วนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนั้น กิตติศักดิ์ยืนยันว่ายังคงต้องพิจารณาดูว่าบุคคลนั้นเป็นอย่างไร การที่เราจะเลือกใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้นั้น แล้วเป็นการโหวต และจะโหวตไปโดยไม่ต้องมี ส.ว. ก็ได้ แต่ยืนยันว่าขอใช้สิทธิที่ตนเองมี และให้คำสัญญาว่าเสียงของประชาชนคือเสียงของสวรรค์อย่างแท้จริง ดังนั้นอย่ากังวลว่า ส.ว. จะตัดสินใจผิด และลงคะแนนให้กับฝ่ายที่มีคะแนนน้อยจนเกินไป
“อย่าห่วงเลยครับ ส.ว. จะหลับหูหลับตาโหวตให้แก่เสียงข้างน้อย ส.ว. ก็เป็นลูกเป็นหลานของพี่น้องประชาชน และ ส.ว. ฟังเสียงของท่าน เมื่อได้ตัดสินใจแล้ว ส.ว. ก็ไม่ขัดข้อง” กิตติศักดิ์กล่าว
เฉลิมชัยแสดงความคิดเห็นว่า ตนเองจะสนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนตัวจะโหวตเลือกนายกฯ จะพิจารณาจาก 1. นโยบาย ต้องเลือกนายกฯ ที่หาเงินได้ และสามารถแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนได้หรือไม่ 2. แคนดิเดตนายกฯ กับทีมเศรษฐกิจว่ามีความหวัง เข้าท่าหรือไม่ 3. นโยบายที่เสนอมานั้นเคยทำสำเร็จหรือไม่ 4. พรรคที่สามารถรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา ต้องได้ 251 เสียงขึ้นไป จะไปหาเสียงให้ครบ 375 เสียงหรือไม่อย่างไร ก็ต้องทำให้ได้
“แล้วอย่ามาหวังนะว่าเมื่อรวมเสียงแล้วได้ 320 เสียง ขาดอีก 56 เสียง และหวังจิตสำนึกว่าจะได้เสียงจาก ส.ว. เพราะการที่ ส.ส. ซื้อตัวกันไปมานั้นมีจิตใต้สำนึกหรือไม่ ต้องไปรวมเสียงให้ได้อย่างน้อย 376 ที่นั่ง จะได้ไม่จำเป็นต้องมาหวังเสียง ส.ว.”
ส่วนมณเฑียรกล่าวถึงการเลือกนายกรัฐมนตรีว่า ตนให้สัมภาษณ์มาก่อนตั้งแต่ตอนสนับสนุนการตัดอำนาจ ส.ว. เลือกนายกฯ มาตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับล่าสุด เพราะไม่เห็นประโยชน์อะไรอีกแล้ว เพราะเราได้ทำหน้าที่ในการส่งต่อประเทศไทยจากรัฐบาลรักษาการไปสู่รัฐบาลประชาธิปไตยอย่างสมูทที่สุดว่า ในการเลือกนายกฯ ครั้งนี้จะงดออกเสียง ไม่ว่าพรรคใดจะได้คะแนนมากน้อยแค่ไหน เพราะคิดว่าไม่ใช่ธุระกงการอะไรของตนเองที่จะไปร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี
โอกาสของรัฐบาลเสียงข้างน้อย
กิตติศักดิ์กล่าวว่า ตนเองเคยถูกตั้งคำถามว่า ส.ว. หมกมุ่นอยู่กับ 2 ลุง (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ) และจะโหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้เพียงสองคนนี้เท่านั้นหรือไม่ โดยไม่สนใจคะแนนว่าทั้ง 2 บุคคลจะได้คะแนนเท่าไร และ ส.ว. สามารถอยู่เฉยๆ โดยให้ ส.ส. เป็นผู้ดำเนินการเลือกนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่
“ส.ว. ไม่ได้หมกมุ่นอยู่กับ 2 ลุง หาก 2 ลุงไม่สามารถรวบรวมเสียง ส.ส. ได้เกินครึ่ง หรือการที่ พล.อ. ประยุทธ์, พล.อ. ประวิตรจัดตั้งรัฐบาลจากฝ่ายที่เสียงข้างมากไม่อาจจัดตั้งรัฐบาลได้นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง” กิตติศักดิ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ส.ว. ไม่สามารถอยู่เฉยๆ ได้ นอกจากการละเว้นจากหน้าที่แล้ว ยังเปลืองภาษีแผ่นดิน เพราะ ส.ว. ถูกจ้างให้มาปฏิบัติหน้าที่ ส่วนการที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ไม่สามารถนั่งทิ้งลมหายใจไปวันๆ ได้ ประเทศชาติเสียหาย และความวุ่นวายก็จะตามมาได้ ส่วนรัฐบาลเสียงข้างน้อยนั้นไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ไม่สง่างาม และยังสร้างปัญหาให้กับประเทศในระยะอันสั้น การเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่า ส.ว. จะเลือกใครเป็นนายกฯ จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นแน่นอน
“รัฐบาลที่จะเกิดขึ้นในอีกสองเดือนข้างหน้านี้อายุไม่ยืน เพราะว่าเจตจำนง ส.ส. จะขอแก้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว จะยุบสภาเลือกตั้งใหม่ พร้อมมองว่าการแก้รัฐธรรมนูญนั้นถ้าหากว่าไม่แตะหมวดที่ 1-2 ตนเองไม่ขัดข้อง และยอมรับว่าตนเองสนับสนุนมาตรา 272 ตลอดมา การที่มีมาตรา 272 เหมือนมีดาบสักเล่มหนึ่ง หากมีความจำเป็นเราก็หยิบขึ้นมาใช้ หากไม่จำเป็นก็ไม่ต้องนำมาใช้ ดังนั้นไม่ต้องกังวลว่า ส.ว. จะไปสนับสนุน 2 ลุง หรือว่าผู้ที่ได้เสียงข้างน้อย
“ขออำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้การเลือกตั้งครั้งนี้ผ่านไปด้วยดี ลดความขัดแย้ง ทุกคนเป็นคนไทยด้วยกัน ถ้าหากว่ามีการพูดเจรจากันได้ ขอให้เจรจากัน แต่ผมก็ห่วงบ้านเมือง กลัวว่าจะเกิดความไม่สงบขึ้น และจะย้อนกลับไปที่หนังม้วนเดิมที่ผ่านมาเหมือนในปี 2557” กิตติศักดิ์กล่าว
ด้านเฉลิมชัยกล่าวว่า รัฐบาลเสียงข้างน้อย แม้เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องแต่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งของ คสช. แม้จะได้เสียงไม่มาก แต่เมื่อรวมกับเสียงของ ส.ว. แล้วก็สามารถเกิดขึ้นได้ จึงเป็นเหตุให้ ส.ส. ต้องรวมกันให้ได้ 376 เสียง และอย่าหวังน้ำบ่อหน้าโดยเด็ดขาด เพราะไม่มีทางได้ ยกเว้นตนเองที่อาจลงคะแนนให้
ขณะที่มณเฑียรกล่าวว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ ส.ว. มันอยู่ที่ว่าท่านจะสามารถรวมเสียงได้ 376 เสียงหรือไม่ และไม่ต้องคาดหวังอะไรจากตนเองและ ส.ว. ท่านอื่น รวมให้ได้ 376 เสียง จะได้ปิดสวิตช์ ส.ว. ตามที่แถลงกันไว้ ซึ่งเป็นความท้าทายของนักการเมืองที่ต้องรวมกันให้ได้
สเปกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.
คำนูณกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีคนนั้นจำเป็นต้องได้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้ง 2 สภารวมกัน คือ 376 เสียง แม้เวลานั้นตนเองจะลุกขึ้นขานชื่อ จะเห็นด้วยกับบุคคลนั้น บุคคลนี้ หรืองดออกเสียง หรือไม่ประสงค์จะลงคะแนนก็ทำได้ แต่ในความเป็นจริงได้ใช้สิทธิไปแล้ว จะทำให้เสียงของฝั่งใดฝั่งหนึ่งไม่ถึง 376 เสียง ในกรณีนี้ขอตัดสินใจดูหน้างานอีกครั้ง และโดยทั่วไปก็ควรจะต้องเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงข้างมาก แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ได้กำหนดไว้ แต่รัฐบาลที่มีเสียงข้างน้อยไม่สามารถบริหารประเทศให้ไปต่อได้
“ในวันเลือกนายกรัฐมนตรี ส.ว. จะเลือกใช้สิทธิอย่างดีที่สุด เราอยากเห็นประเทศเดินหน้าเหมือนที่ทุกคนอยากเห็น แต่เราก็อยากเห็นประเทศเดินหน้าไปโดยไม่ก้าวสู่ความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตยิ่งกว่าในอดีต ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับตัวเลขของแต่ละพรรค และพันธมิตรที่รวมกลุ่มกันสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง” คำนูณกล่าว
มณเฑียรกล่าวว่า ตนเองไม่เลือกใครโดยการงดออกเสียง แต่หากผู้ที่ได้เสียงไม่ครบ 376 เสียง ได้ประมาณ 374 เสียง และมีผู้ที่มาคาดหวังให้ ส.ว. ช่วยให้ครบเสียงกึ่งหนึ่งจะได้จบ ต้องคิดกลับเช่นกันว่าหากเกิดเหตุการณ์แบบนั้น อาจเกิดภาวะสุ่มเสี่ยงที่ทำให้ประเทศเกิดความวุ่นวาย สู้ตัดช่องน้อยแต่พอตัวและอยู่นิ่งๆ ไม่ว่าใครได้คะแนนแค่ไหน
สถิตย์กล่าวทิ้งท้ายถึงคุณสมบัติแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีว่าต้องดูหน้างาน ต้องพิจารณาถึงนโยบาย พิจารณาถึงคุณสมบัติที่จะทำให้นโยบายนั้นเกิดขึ้นจริง ต้องเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ มองเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น มองเห็นว่านโยบายอะไรที่จะทำให้ประเทศไทยเติบโตขึ้น มองเห็นว่านโยบายอะไรที่จะทำให้คนในสังคมลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้คนในสังคมมีโอกาสเท่าเทียมกัน
ทั้งเศรษฐกิจทางการเมืองหรือสังคม นอกจากการมีวิสัยทัศน์แล้ว ต้องมีความสามารถในการทำให้วิสัยทัศน์เกิดขึ้นจริง มีความกล้าหาญในการตัดสินใจ มีทักษะในการบริหารรัฐบาลที่จะไปสู่การเป็นประชาธิปไตย