เดวิด มัลพาสส์ ประธานธนาคารโลก เรียกร้องให้กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศหรือ G7 ซึ่งประกอบด้วย แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป ให้ความสำคัญกับปัญหาวิกฤตหนี้ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น และควรมีการหารือถึงแนวทางแก้ไขอย่างจริงจังในการประชุม G7
“ผมหวังว่าปัญหาที่มีความเร่งด่วนอย่างวิกฤตหนี้ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยในการประชุมกลุ่ม G7 เพราะการเติบโตที่ช้าลงของประเทศกลุ่มนี้จะส่งผลให้มีผู้คนจำนวนมากต้องเผชิญกับการใช้ชีวิตที่ยากลำบาก ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องต่อการย้ายถิ่นฐานด้วย” มัลพาสส์ระบุ
ปัจจุบันมีประเทศและหน่วยงานหลายแห่งที่พยายามจะเข้าไปช่วยเหลือประเทศที่กำลังมีวิกฤตหนี้อย่างรุนแรง เช่น ศรีลังกา แซมเบีย เอธิโอเปีย และกานา โดยข้อมูลจากธนาคารโลกระบุว่า กลุ่มประเทศรายได้ต่ำมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลกในเวลานี้มีภาระหนี้รวมกันสูงถึง 3.26 แสนล้านดอลลาร์ และครึ่งหนึ่งของประเทศเหล่านี้กำลังเผชิญกับปัญหาหนี้อย่างรุนแรง
ญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม G7 ในปีนี้ได้ทำงานร่วมกับธนาคารโลกในการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง โดยการประชุมในรอบนี้ญี่ปุ่นยังมีการเชิญประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่ม G7 เช่น อินเดีย บราซิล และอินโดนีเซียเข้าร่วมด้วย
“ญี่ปุ่นมีความกระตือรือร้นที่จะแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ทำให้เราเชื่อว่าวาระนี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาพูดคุยอย่างจริงจังทั้งในการประชุม G7 ต่อเนื่องไปถึงการประชุมกลุ่ม G20” มัลพาสส์กล่าว
อย่างไรก็ดี มัลพาสส์ยอมรับว่าการหาฉันทมติในเรื่องนี้อาจทำได้ยากขึ้นในเวทีการประชุม G20 ซึ่งจะมีจีนและรัสเซียเป็นสมาชิกอยู่ด้วย โดยในช่วงที่ผ่านมา สมาชิกกลุ่ม G20 มีความเห็นที่ต่างกันในประเด็นสงครามยูเครน ขณะเดียวกัน มัลพาสส์ยังเคยวิพากษ์วิจารณ์วิธีการจัดการหนี้ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาของจีนด้วย
ประธานธนาคารโลก ประเมินว่าปัญหาทางการเงินและวิกฤตหนี้ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะดำเนินต่อไปตราบเท่าที่อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศยังอยู่ในระดับสูง และธนาคารกลางในหลายประเทศยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยลงมา
“ยังมีธนาคารกลางอีกหลายแห่งที่ยังไม่เริ่มปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งเราคาดว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลไปยังกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาน้อยลงจะสร้างแรงกดดันทางการเงินให้กับกลุ่มประเทศเหล่านี้ต่อไป” มัลพาสส์ระบุ
ทั้งนี้ มัลพาสส์จะก้าวลงจากตำแหน่งประธานธนาคารโลกในช่วงสิ้นเดือนนี้ โดย อาเจย์ บังกา ชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย อดีตประธานเจ้าหน้าที่บริหารมาสเตอร์การ์ด เป็นผู้ที่ได้รับเลือกให้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานธนาคารโลกคนใหม่แทน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นักลงทุนแห่เข้าหุ้นตลาดเกิดใหม่กว่า 1 พันล้านดอลลาร์ต่อวัน แต่ระวัง ‘งานเลี้ยงอาจใกล้เลิกรา’
- การลงทุนฟื้นตัว ‘เร็วและแรง’ แซงเศรษฐกิจไปไหม?
- Goldman Sachs แนะกลยุทธ์การลงทุน ยึดมั่นเป้าหมาย อย่าวิตกกับภาวะถดถอยมากเกินไป
อ้างอิง: