×

เลือกตั้ง 2566 : สิริพัชระ จึงธีรพานิช พรรคเพื่อไทย ‘เสื้อเพื่อไทย หัวใจเสื้อแดง’

โดย THE STANDARD TEAM
09.05.2023
  • LOADING...

ชื่อ-นามสกุล: สิริพัชระ จึงธีรพานิช

 

อายุ: 30 ปี

 

สังกัดพรรค: เพื่อไทย

 

เขตการเลือกตั้ง: สระบุรี เขต 3 อำเภอหนองแค, อำเภอวิหารแดง, อำเภอหนองแซง และอำเภอหนองโน

 

การศึกษา:

 

  • Ph.D. Candidate คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ปริญญาโท International Business and Politics MSc Queen Mary University of London
  • ปริญญาตรี คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

สมาชิกในครอบครัว: หลาน ฉัตรชัย ศิลาพร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสระบุรี สังกัดพรรคไทยรักไทย อดีตนายกเทศมนตรีอำเภอหนองแค

 

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย ปี 2566 มีการเปิดตัว ‘ผู้สมัครหน้าใหม่-เลือดเก่า’ จากหลายพรรคการเมือง สร้างความคึกคักให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ เป็นทางเลือกสดใหม่ให้หลุดพ้นจากความจำเจด้านการเมือง

 

ขณะที่อีกด้านของเหรียญ ผู้สมัครเหล่านี้คล้ายว่าจะเป็นสัญลักษณ์แห่ง ‘การเปลี่ยนมือ’ ของตระกูลนักการเมือง ไม่ว่าจะในระดับชาติหรือว่าท้องถิ่น เพราะต่อให้เป็นคนหน้าใหม่ แต่ ‘นามสกุล’ ที่คุ้นเคยยังคงติดอยู่บนป้ายหาเสียงไม่เลือนหายไปไหน

 

อย่างไรก็ตาม การพิพากษาตัดสินไปก่อนล่วงหน้าว่าผู้สมัครหน้าใหม่เป็นเพียงตัวแทนรุ่นถัดไปของครอบครัวบ้านเก่าก็คงไม่ยุติธรรมมากนัก หากยังไม่ได้ทำความรู้จักกับผู้สมัคร ศึกษาทัศนคติ และทำความเข้าใจเลนส์ความคิด-ความเชื่อเกี่ยวกับการเมืองของพวกเขาและเธอ

 

การลงสนามการแข่งขันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของผู้สมัครหน้าใหม่-เลือดเก่าเป็นเช่นไร มีความคิดเห็นอย่างไรกับการต่อสู้บนสนามเลือกตั้งที่ถูกแช่แข็งมายาวนานนับทศวรรษ

 

 

นักวิชาการอิสระ นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว

 

เมื่อลองมองย้อนกลับไปยังเส้นทางชีวิตของ สิริพัชระ จึงธีรพานิช หรือ หมี่ เรียกได้ว่าเธอมีประสบการณ์ด้านงานวิชาการมาอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนชั้นปริญญาโทที่เกี่ยวข้องกับทฤษฎีสังคมนิยมศึกษา ลัทธิมาร์กซ์ หรือว่าเศรษฐศาสตร์การเมือง รวมไปถึงการเข้าศึกษาชั้นปริญญาเอกในภาคสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 

โดยหลังจากเรียนจบชั้นปริญญาโท เธอมีบทบาทในการขับเคลื่อนวงการวิชาการผ่านการเขียนบทความวิจัย นำเสนอผลงานที่เกี่ยวข้องกับภาควิชาที่ตนเองศึกษา รับตำแหน่งเป็นอาจารย์พิเศษบ้างเป็นบางครั้งคราว อย่างไรก็ตาม หากให้นิยามบทบาทหน้าที่การทำงานของเธอ สิริพัชระกลับมองว่าตนเองเป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองมากกว่านักวิชาการอิสระ

 

เธอทำงานร่วมกับกลุ่มที่มีความสนใจด้านทฤษฎีสังคมนิยมหลากหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มสหภาพแรงงาน นำเสนอทฤษฎีทางสังคมนิยมให้กับประชาชน ซึ่งทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์และการเมือง มองหาความเป็นไปได้ของสังคมแบบใหม่ที่มีมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้น อย่างเรื่องของรัฐสวัสดิการที่คอยเกื้อหนุนให้ประชาชนได้อยู่ดีมีกิน ลดการมีอยู่ของปัญหาเรื่องการเลื่อนชนชั้นในสังคม

 

“เราเคลื่อนไหวเกี่ยวกับทฤษฎีสังคมนิยม คือมองหาความเป็นไปได้ในการสร้างสังคมใหม่ สังคมที่เต็มไปด้วยประชากรที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีการพัฒนาศักยภาพของคน อย่างเรื่องของรัฐสวัสดิการที่คอยเกื้อหนุนประชาชนให้มีมาตรฐานชีวิตเท่าเทียมกัน“

 

นอกจากนี้เธอยังเคยขึ้นปราศรัยบนเวทีทางการเมืองหลายครั้ง จนเป็นหนึ่งในผู้ถูกร้องจาก ณฐพร โตประยูร เพื่อขอให้วินิจฉัยว่าการปราศรัยบทเวที ‘สมุทรปราการดีดนิ้วไล่เผด็จการ’ ในวันที่ 30 สิงหาคม 2563 เป็นการกระทำผิดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 49 หรือเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

 

คนเสื้อแดงที่ขอเข้าไปต่อสู้ในสภา

 

นอกจากการทำงานด้านวิชาการแล้ว ชีวิตของสิริพัชระมีความผูกพันกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาอย่างยาวนาน อย่างที่เธอแนะนำตัวอย่างตรงไปตรงมาว่าตนเองเป็น ‘คนเสื้อแดง’ มาตั้งแต่ยุคการต่อสู้ทางความคิดระหว่างกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย (เสื้อเหลือง) กับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (เสื้อแดง) และยังคงเชื่อมั่นในอุดมการณ์ของคนเสื้อแดงมาเสมอ

 

ซึ่งการชุมนุมบนท้องถนนเป็นช่วงเวลาจุดประกายความคิดให้เธอเห็นความสำคัญของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในระดับประชาชน หลอมความศรัทธาเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารประเทศ และต่อให้การรัฐประหารหลายครั้งจะกลบกระแสการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง สิริพัชระก็ยังคงยึดมั่นและเดินอยู่บนเส้นทางของการเคลื่อนไหวภาคประชาชนต่อไป

 

หากการเดินบนท้องถนนใต้การปกครองของเผด็จการทหารก็เต็มไปความเปราะบางในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยในชีวิต การถูกรังแกทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่าบางครั้งการส่งเสียงของประชาชนบนพื้นดินก็ส่งต่อไปไม่ถึงการได้ยินผู้บริหารบนตึกรัฐสภาเสียที

 

“เราเปลี่ยนไปอยู่กับกลุ่มเคลื่อนไหวนักศึกษา แต่ทีนี้พอเวลาผ่านไป เราเริ่มรู้สึกว่าการเมืองนอกสนามที่เป็นอยู่บนถนน มันค่อนข้างเปราะบางแล้วมันก็เสี่ยงกับการที่เราจะถูกรังแก หรือประชาชนที่เป็นมวลชนในการเคลื่อนไหวส่งเสียงก็จริง แต่เสียงมันไปไม่ถึง”

 

ดังนั้นเมื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเวียนกลับมาในปี 2566 สิริพัชระจึงมุ่งเข้าสู่สนามเลือกตั้งจังหวัดในบ้านเกิดอย่างสระบุรี เพื่อขอโอกาสเข้าไปเป็นตัวแทนส่งเสียงเรียกร้องให้กับทุกคน

 

 

พรรคเพื่อไทย ประชาธิปไตยกินได้

 

สิริพัชระให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า นามสกุล จึงธีรพานิช ไม่ใช่บ้านใหญ่หรือผู้มีอิทธิพลทางการเมืองของจังหวัดสระบุรี แต่ก็มีความผูกพันและอยู่ในวงการเมืองมาเนิ่นนาน เพราะคุณลุงของเธอคือ ฉัตรชัย ศิลาพร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรี

 

ช่วงวัยเด็กของเธอก็ยังเคยช่วยคุณลุงลงพื้นที่หาเสียง คอยฟังคุณลุงและทีมงานพรรคไทยรักไทยแนะนำนโยบายการรักษา 30 บาทรักษาทุกโรคให้กับพี่น้องประชาชนได้ฟัง ซึมซับความสำคัญของหาเสียงด้วยการบอกเล่าโยบายที่มีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ไม่ใช่เพียงแค่แนะนำชื่อตนเองกับพรรคการเมืองแล้วจบไป

 

“ก็รู้สึกได้ถึงความจำเป็นของการมีนโยบายที่ดี นโยบายที่กินได้ คือช่วงนั้นพรรคการเมืองไม่ได้หาเสียงกันด้วยนโยบาย ตอนนั้นเราก็เห็นเกี่ยวกับความสำคัญของการมีพรรคที่สนใจเรื่องการบอกนโยบายและทำให้นโยบายเป็นจริงได้”

 

ไม่ใช่แค่ความประทับใจในการหาเสียงที่แตกต่างไปจากพรรคการเมือง ณ เวลานั้น หรือว่าผลงานความสำเร็จในการผลักดันนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคให้เกิดขึ้นจริงของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเท่านั้น ที่ทำให้สิริพัชระเลือกลงสมัครใต้สังกัดพรรคเพื่อไทยในปี 2566

 

แต่ยังรวมถึงอุดมการณ์ที่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยเสมอมา

 

“สมมติว่ามีพรรคอื่นอยากได้เราด้วยนะ เราก็ยังเลือกเพื่อไทยอยู่ดี เพราะว่าส่วนหนึ่งเพื่อไทยนี่ปากท้องสำคัญ ประชาธิปไตยสำคัญ และเป็นประชาธิปไตยที่กินได้ ก็เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญว่าเรายังอยู่เคียงข้างประชาธิปไตยไม่เคยไปไหน เลยยังยืนข้างมวลชนของเรา เพื่อให้มวลชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

 

 

คนหน้าใหม่ที่มาพร้อมศักยภาพ

 

จากตำแหน่งนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง สู่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสระบุรี เขต 3 พรรคเพื่อไทย สิริพัชระมั่นใจว่าต่อให้ตนเองไม่เคยมีประสบการณ์ทางการเมืองในรัฐสภามาก่อน ไม่ทราบว่าระบบการทำงานภายในระบบผู้แทนฯ เป็นเช่นไร แต่เธอพร้อมเรียนรู้และเข้ามาทำงานเพื่อประชาชน

 

เธอมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองว่าเพียงพอที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนจังหวัดสระบุรี มีความรู้ความเข้าใจในเชิงพื้นที่มากพอ เพราะเธอเป็นคนที่เติบโตที่นี่ การมีสถานะเป็น ‘คนธรรมดาในพื้นที่’ ทำให้ทราบและเข้าถึงปัญหาได้อย่างลึกซึ้ง เป็นคนตัวเล็กในสังคมที่กำลังเผชิญอยู่กับความเดือดร้อนอย่างแท้จริง

 

“เราเป็นคนในพื้นที่แล้วลงไปทุกพื้นที่ ไปในฐานะที่เป็นประชาชนคนธรรมดาคนหนึ่ง เป็นคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นประชาชนจริงๆ เราได้รับรู้ปัญหาจริงๆ การรับรู้ปัญหาจะเป็นไปในแบบที่ประชาชนทั่วไปรู้ปัญหาในจุดนี้”

 

ซึ่งจะแตกต่างจากการทำงานของ ‘คนหน้าเก่า’ ในพื้นที่ ที่บางคนอาจไม่ได้เข้ามาคลุกคลีกับปัญหาด้วยตัวเอง เป็นการทำงานจากบนลงล่าง ทำให้ไม่เข้าใจบริบทเฉพาะในแต่ละภาคส่วน และการเข้ามาแก้ปัญหาก็อาจไม่ถูกจุด

 

ส่วนจุดที่เธอยังต้องเร่งมือในช่วงเวลาอีกไม่ถึงหนึ่งเดือนก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 คือการสร้างความคุ้นหน้าคุ้นตาให้กับคนในพื้นที่ เพราะเมื่อเธอเป็นคนหน้าใหม่ที่มาลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ประชาชนก็อาจจะยังจำใบหน้าของเธอไม่ได้

 

แล้วเธอคุ้นชินกับใบหน้าของตนเองบนป้ายหาเสียงสีแดงสดแล้วหรือยัง

 

“บางทีตลกเหมือนนะ เราไม่ใช่พรีเซนเตอร์แบรนด์ แต่ว่าอยู่ดีๆ มีหน้าเรายืนยิ้มตลอด ก็ตื่นเต้นดี เอ้ย! วันหนึ่งฉันได้ขึ้นป้ายลงสนามการเมือง มีกันเยอะแทบจะทั่วไปขนาดนี้เหรอ ก็ชอบนะ น่ารักดี แต่พอมองบ่อยๆ อาจจะเขินบ้างนิดหน่อย”

 

 

เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ เพื่อเปลี่ยนแปลง

 

ด้วยความสนใจทางการเมืองทั้งระดับประเทศและระดับโลก หนึ่งในแรงบันดาลใจของสิริพัชระในการเขียนคำปราศรัยและลงมาทำงานการเมืองคือ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวแอฟริกัน-อเมริกัน

 

เบื้องหลังที่เธอเลือกให้ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์ เป็นแรงผลักดันในการลุกขึ้นมาทำงานด้านการเมืองคือตัวตนของเขาที่เป็นเพียงคนธรรมดาคนหนึ่งที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม เป็นคนที่ยืนหยัดต่อความเชื่อของตนเองโดยไม่กลัวกระแสโต้กลับ ทั้งที่ในช่วงเวลานั้นความขัดแย้งระหว่างคนผิวขาวและคนผิวดำในสหรัฐอเมริกาเรียกได้ว่ารุนแรงและน่ากลัวเป็นอย่างมาก

 

“เวลาที่เราปราศรัย คำปราศรัยก็มาจากมาร์ตินว่า เออ เรามีความฝันว่าสักวันหนึ่งเราจะได้มีอย่างนั้นอย่างนี้ I have a dream that one day คนดำกับคนขาวมันจะอยู่ด้วยกันได้ มันเปลี่ยนแปลงได้”

 

ไม่ต่างจากคนตัวเล็กจากจังหวัดสระบุรีอย่างสิริพัชระ ที่ขอลงมือเริ่มต้นสร้างการเปลี่ยนแปลงทางยุคสมัยนับแต่วันนี้

 

“คือการเมืองเป็นเรื่องของยุคสมัยนะคะ มันอาจจะต้องรอถึงวันที่อุดมการณ์ของเราสำเร็จ อาจต้องรอหลายยุคหลายสมัย แต่ถ้าเราไม่เริ่มต้นตั้งวันนี้ ความเป็นไปได้ที่ยุคสมัยมันจะเปลี่ยนก็น้อยลง”

 

 

ขอเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มโอกาสให้คนพื้นที่

 

คุณลุงเป็นนักการเมืองเก่า ครอบครัวทางบ้านเป็นคนแก่ที่คนในพื้นที่รู้จักกว้างขวาง หลากหลายองค์ประกอบที่ดูแล้วเหมือนว่าจะเป็นการ ‘ส่งเสริมเพิ่มโอกาส’ สิริพัชระได้มีโอกาสเดินเข้าสู่วงการการเมืองได้อย่างง่ายดาย แล้วคนที่มีความสนใจในทฤษฎีสังคมนิยม ผ่านการชุมนุมมานับไม่ถ้วน มองว่านี่คือ ‘พริวิเลจ’ ในการทำงานหรือไม่

 

“ไม่ค่ะ” สิริพัชระตอบทันที

 

ในทางกลับกัน เธอมองว่ายิ่งตัวเองได้รับโอกาสเช่นนี้แล้ว ยิ่งเป็นเชื้อไฟเติมความมุ่งมั่นที่อยากจะทำให้จังหวัดของเธอพัฒนายิ่งขึ้นไป ส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสในการพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การทำมาหากิน หรือว่าความเป็นอยู่ เพราะเธอเชื่อจากส่วนลึกของใจว่าทุกคนสามารถเติบโตและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในสังคมที่การเมืองดี

 

“เราจะสร้างความพร้อม สร้างศักยภาพให้พวกคุณเจริญเติบโตเหมือนกับเรา คนในพื้นที่จะได้เจริญเติบโต เพราะว่าที่นี่มีศักยภาพเพียงพอ ถ้ามีการส่งเสริมเข้ามามันสามารถเกิดขึ้นจริงได้ เป็นสิ่งที่จะเพิ่มมาตรฐานชีวิต คุณภาพชีวิตให้กับพี่น้องของพวกเรา”

 

และสิ่งสำคัญที่จะทำให้พื้นที่แห่งการพัฒนาเกิดขึ้นได้ในรัฐบาลชุดต่อไป ก็คงไม่พ้นการที่พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างถล่มทลาย หรือว่า ‘แลนด์สไลด์’ เพราะเมื่อทางพรรคมีผู้แทนจำนวนมากพอที่สามารถตอบโจทย์ของพี่น้องประชาชนเรื่องปากท้อง มีความเป็นอยู่ที่ดี การพัฒนาพื้นที่ย่อมเกิดขึ้นตามมาแน่นอน

 

 

นาฬิกาหาเสียงที่ไม่เคยหยุดเดิน

 

เสื้อทรงจีนสีแดงสด ปักเบอร์ผู้สมัครและโลโก้พรรคด้วยด้ายสีขาวไว้ด้านหน้า ด้านหลังปักเป็นชื่อสิริพัชระและเขตการเลือกตั้ง เป็นเสื้อที่เธอสั่งซื้อมาทางออนไลน์แล้วนำมาให้ร้านตัดเสื้อปักรายละเอียดเพิ่มเติมเอง สร้างจุดเด่นอย่างหนึ่งให้กับการหาเสียงหาเสียงในครั้งนี้

 

สิริพัชระเอ่ยติดตลกว่า “เสื้อนี่สั่งมา 199 บาท แต่ค่าปัก 400 บาทนะ”

 

โดยตั้งแต่วันแรกที่เธอเดินสายลงพื้นที่จนถึงวันนี้ก็เรียกได้ว่ายังไม่มีวันหยุดพักแม้แต่วันเดียว โดยงานแรกที่เป็นการตัดสายสะดือเข้าสู่วงการลงพื้นที่คือการเป็นประธานในพิธีศพ สร้างความกังวลให้กับเธอไม่น้อยยามทราบข่าว เพราะตัวเธอเองก็ไม่เคยมีประสบการณ์ทางนี้มาก่อน ไปงานทีไรก็เป็นการติดสอยห้อยตามคุณพ่อคุณแม่ไปนั่งด้านหลังของศาลา

 

ส่วนการลงพื้นที่ที่สนุกมากสำหรับเธอคือการเดินเข้าไปแนะนำตัวผู้สมัครและนโยบายของพรรคในพื้นที่ตลาด โดยที่ไม่มีอุปกรณ์ขยายเสียงมาทุ่นแรงเลยสักนิด สิ่งที่เธอทำคือการเดินแนะนำตัวไปทีละบล็อกร้านค้า คอยอธิบายนโยบายของทางพรรคให้กับผู้ค้าได้เข้าใจไปทีละคน

 

จนเมื่อกลับมาถึงบ้านในเย็นวันนั้นสิ่งที่เธอรีบไปจัดเตรียมคือน้ำอุ่นบีบมะนาว เพื่อดูแลเสียงของตนเองให้พร้อมกับการลงพื้นที่วันต่อไป

 

สำหรับเทคนิคการพูดคุยของเธอกับคนในพื้นที่ค่อนข้างเรียบง่ายแต่ยังแฝงวิชาการเอาไว้ครบถ้วน คือเน้นเรื่องของความเข้าอกเข้าใจเป็นหลัก ลองสวมบทบาทเป็นผู้ฟังแล้วเลือกวิธีการอธิบายที่เหมาะสมกับสถานการณ์และความต้องการของผู้ฟัง เอาใจเขามาใส่ใจเรา และทุกอย่างก็จะราบรื่นเอง

 

 

เพื่อไทยพร้อมแก้ไขทุกปัญหาในพื้นที่

 

ด้วยเขตพื้นที่ที่สิริพัชระลงสมัครนั้นเป็นพื้นที่ทำเกษตรเป็นหลัก ข้อมูลที่เธอเก็บบันทึกจากการลงพื้นที่พบว่าอำเภอหนองแซงและวิหารแดงจะแจ้งปัญหาเรื่องสินค้าเกษตรตกต่ำเป็นหลัก ราคาข้าวตกต่ำอย่างต่อเนื่องอย่างที่ไม่สามารถฟื้นฟูสภาพการค้าขายได้เลย

 

“มันเป็นปัญหาว่าทำนาก็มีแต่จะจนลง คือก็มีอาชีพเดียวคือทำนา คือเลือกไม่ได้ว่าจะทำอาชีพอะไร อาชีพเดียวที่จะต้องทำคือทำนา แต่มันยิ่งทำมีแต่เป็นหนี้ จนลง แต่ถ้าเมื่อสมัยก่อน ข้าวขายได้เป็นหมื่น คือตอนนั้นเศรษฐกิจมันเฟื่องฟูมาก จนกระทั่งขายข้าวครั้งหนึ่งก็ออกรถได้ ซื้อทองได้ แต่ทุกวันนี้ลำบากกันมาก”

 

รวมไปถึงปัญหาด้านชลประทานอันเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญสำหรับการเพาะปลูก ถ้าน้ำไม่เพียงพอก็ปลูกข้าวไม่ได้ น้ำมากเกินไปข้าวก็ตาย ซ้ำแล้วปัญหาการบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่วไปไม่สามารถติดต่อผ่านราชการแล้วได้รับการแก้ไขโดยทันที ดังนั้นหากเธอได้รับเลือกเข้าไปดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็อยากจะเข้าไปประสานงานกับทางกรมชลประทานเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องผู้ทำเกษตรกรรม

 

ส่วนฝั่งอำเภอหนองแคจะเป็นนิคมอุตสาหกรรม ปัญหาจะเน้นไปที่เรื่องค่าแรงเป็นหลัก ที่ไม่ว่าจะเป็นตามหลักเศรษฐศาสตร์หรือว่าความเป็นจริง ก็เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการเพิ่มค่าแรงทีละ 10 หรือ 20 บาท ไม่สามารถพัฒนาความเป็นอยู่ให้กับคนในท้องที่ได้ นโยบายของทางพรรคเพื่อไทยที่จะเพิ่มค่าแรงเป็น 600 บาท ก็จะเข้ามามีบทบาทในส่วนนี้ เพื่อเพิ่มทั้งคุณภาพชีวิตและยังมีเงินออมไว้ใช้ในอนาคต

 

“เรื่องค่าแรงสำคัญมาก เพราะคุณจะเพิ่มค่าแรง เพิ่มทีแค่ 20 บาท อย่าง 300 บาท เปลี่ยนเป็น 320 บาท แล้ว 20 บาททำอะไรได้ ก็ต้องตั้งคำถามกันต่อไปว่า 600 บาท มันโอเคหรือเปล่า ทำให้เขามีเงินออมหรือเปล่า คือคนเราไม่ได้อยู่ได้ด้วยเงินวันชนวันอย่างเดียว ถ้ามีเงินออมเราจะได้คิดถึงอนาคตข้างหน้าว่า เอ้ย! เรามีเงินออม เราจะได้กล้ามีลูก กล้าวางแผนชีวิต กล้าวางแผนครอบครัว”

 

 

ของมู ของหมี่

 

“มู สุดๆ ค่ะ (หัวเราะ) โฆษณานะ หลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์ ตรงตำบลคชสิทธิ์ คือแม่เรากับอาม่าเราก็อยู่ในยุคนั้นด้วย ตั้งแต่สมัยที่นำหลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาจากคลองระพีพัฒน์ที่เขาขุดขึ้นมา ได้เห็นหลวงพ่อมาตั้งแต่ตอนที่ยกขึ้นมาจากน้ำเลย ก็เป็นที่สักการะบูชาของบ้านเรามากๆ แล้วชื่อของหลวงพ่อก็คือหลวงพ่อสำเร็จศักดิ์สิทธิ์ ก็แปลว่าทำอะไรก็ต้องสำเร็จ ศักดิ์สิทธิ์ สมดังปรารถนาทุกประการ”

 

เรื่อง: จามาศ โฆษิตวิชญ

 

ภาพ: วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising