หมอหลวง กลายเป็นละครที่สร้างปรากฏการณ์ความสำเร็จในช่วงเดือนที่ผ่านมาด้วยการคว้าเรตติ้งเปิดตัวที่เลข 3 ไต่ระดับไปถึง 4.867 ทั่วประเทศ และกลายเป็นละครที่คนดูมากที่สุด เฉือนชนะแชมป์เก่าอย่างช่อง 7 อยู่หลายครั้ง ในขณะที่ยอดสตรีมมิงก็คว้าอันดับหนึ่งทาง Netflix อยู่บ่อยๆ ยังไม่นับรวมกระแสความชื่นชมจากโลกออนไลน์ กลายเป็นหนึ่งบทพิสูจน์ว่าละครไทยหากตั้งใจทำอย่างไรก็ยังมีคนดู
จริงอยู่ว่า หมอหลวง อาจจะมีแต้มต่ออยู่นิดหน่อยด้วยฐานแฟนเดิมจาก ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง แม้ไม่ใช่ภาคต่อแต่ใช้นักแสดงชุดเดิมและอยู่ในจักรวาลเดียวกัน แต่ก็ไม่เท่ากับวิธีการเล่าเรื่องและ ‘ทำการบ้าน’ มาอย่างดี จนมีการต่อยอดนำไปพูดถึงในโลกออนไลน์ด้วยเรื่องราวแพทย์แผนไทยและเกร็ดประวัติศาสตร์ผสมความตลกโบ๊ะบ๊ะ ผ่านวัฒนธรรมป๊อปที่เชื่อมโยงกับคนยุคปัจจุบัน ว่าด้วยเรื่องราวของ บัว (คิมเบอร์ลี่ แอน โวลเทมัส) นักศึกษาแพทย์ที่หลงเข้าไปในยุครัชกาลที่ 3 ที่วิทยาการแพทย์แผนไทยกำลังเฟื่องฟู จนได้พบกับ ทองอ้น (มาริโอ้ เมาเร่อ) ทายาทหมอหลวงที่ดูเป็นคนไม่เอาถ่านในสายตาพ่อ และมักจะตกเป็นรอง ทองแท้ (มาสุ จรรยางค์ดีกุล) พี่ชายต่างแม่อยู่เสมอ เขาพยายามพิสูจน์ตัวเองด้วยการเป็นนักศึกษาแพทย์ นำไปสู่เรื่องราวดราม่าคอเมดี้ชุบชูหัวใจให้ผู้ชมได้ดูไปยิ้มไปตลอดทั้งเรื่อง
สิ่งที่ทำให้ หมอหลวง ประสบความสำเร็จ อย่างแรกน่าจะมาจากการเป็นละครใสๆ ไร้การตบตี พาผู้ชมย้อนกลับไปสู่วันชื่นคืนสุขในสภาพสังคมและการเมืองที่กำลังดุเดือดอย่างในปัจจุบัน ผนวกกับเนื้อหาแนวคอเมดี้ยิ่งทำให้คนดูได้ผ่อนคลาย ยิ่งได้เคมีแสนจะเข้ากันของคู่พระนางมาริโอ้กับคิมเบอร์ลี่ที่เคยพิสูจน์มาแล้วจาก ทองเอก หมอยา ท่าโฉลง ก็ยิ่งทำให้ทุกอย่างกลมกล่อมลงตัว
การเพิ่มมุกใหม่เรื่องการย้อนเวลาก็ทำงานได้ดีทั้งในแง่การสอดแทรกวัฒนธรรมป๊อปซึ่งเชื่อมโยงกับคนยุคนี้ และดูเหมือน หมอหลวง ก็รู้ดีว่าทางนี้เคยใช้มาแล้วในละครดังของช่องทั้ง บุพเพสันนิวาส, ลิขิตแห่งจันทร์ บ่วงบรรจถรณ์ และ เพลิงพรางเทียน เลยเอาเนื้อหาในเรื่องเหล่านั้นมาล้อเลียนตัวเองเสียเลยจนกลายเป็นมุกฮาไปอีกหนึ่ง
ส่วนการวางคาแรกเตอร์ให้บัวเป็นสาวเปิ่นโก๊ะก็ยิ่งทำให้มุกโป๊ะๆ ดูเข้าปาก โดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าคู่กับ ‘ทองอ้น’ จนเกิดประโยคช็อตฟีลอยู่บ่อยๆ จุดนี้ถือเป็นความกล้าเสี่ยงและทำออกมาได้ผลในแง่ของจังหวะละครคอเมดี้รสชาติใหม่ๆ ที่ไม่ได้ต้องการความซึ้งแบบจัดๆ แต่อยากซึ้งกึ่งตลกมากกว่า
แม้เป็นละครย้อนยุค แต่หากถอดรายละเอียดออกมา หมอหลวง คือละครวัยรุ่นกึ่ง Coming of Age มากกว่าด้วยอายุของทองอ้นและเรื่องราวในโรงเรียนแพทย์ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าแคสเหล่าสหายนักเรียนแพทย์ออกมาได้ชวนมองแทบทุกคนจนคล้ายกับดูซีรีส์เกาหลี อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ลืมพาร์ตดราม่าความขัดแย้งระหว่างพ่อลูก และการอยากพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้หลุดพ้นความเป็นม้านอกสายตาที่มาริโอ้ทำออกมาได้ดี ทั้งดูน่ารักและน่าสงสารในคราวเดียวกัน ส่วนในมุมโรแมนติก นี่คือเรื่องราวของคนแปลกแยกสองคนที่หลงรักกัน เพราะทั้งทองอ้นและบัวก็ต่างเป็นคนแปลกในยุคสมัยของตัวเองด้วยกันทั้งคู่
สิ่งที่จะไม่พูดถึงคงไม่ได้คือการใส่ข้อมูลรายละเอียดทางประวัติศาสตร์แบบอัดแน่น ทั้งข้อมูลที่รู้อยู่แล้ว รวมทั้งเกร็ดความรู้ใหม่ๆ ที่กลายเป็นการบ้านสู่ผู้ชมให้ค้นหาข้อเท็จจริงต่างๆ อย่างเช่นชื่อเต็มของกรุงเทพมหานครที่เปลี่ยนจาก ‘บวร’ เป็น ’อมร’ การกำเนิดโรงเรียนแพทย์แห่งแรกของไทยที่วัดโพธิ์ การผ่าตัดครั้งแรกของไทย หรือการขยายอาณาเขตของพระบรมมหาราชวัง ฯลฯ จุดประกายให้เกิดบทสนทนาในสังคมออนไลน์ ทำให้ละครเป็นที่พูดถึงมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการเชื่อมโยงบุคคลในประวัติศาสตร์ที่เราเคยได้อ่านในตำราเรียนให้กลับมาโลดแล่นบนจอทีวี ไม่ว่าจะเป็นหมอบรัดเลย์หรือสุนทรภู่ ก็กลายเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ละครเรื่องนี้น่าติดตาม
ในขณะที่องค์ประกอบสำคัญของเรื่องคือตำรับยาและการแพทย์แผนไทย ก็ต้องยอมรับว่า หมอหลวง ทำออกมาได้ดี โดยได้ คมสัน ทินกร ณ อยุธยา อาจารย์แพทย์แผนไทย มาเป็นที่ปรึกษาพาผู้ชมไปพบวิธีการรักษาแบบต่างๆ ที่ไม่ได้เห็นในปัจจุบัน เช่น การสักยา การรมยาสมุนไพรแบบต่างๆ การรักษาด้วยปลิง และตำรับยาโบราณที่ค่อยๆ สอดแทรกเข้ามาในบทละคร ให้ความรู้กับคนดูแบบไม่ยัดเยียดจนเกินไป และทำให้เนื้อหาในเรื่องขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างไม่ติดขัด
สำหรับผู้เขียน การทำละครสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นละครย้อนยุคหรือละครที่เกี่ยวกับวิชาชีพ มีเรื่องที่ต้องเสี่ยงคือข้อมูลสนับสนุนต่างๆ ซึ่งหลายๆ ครั้งละครไทยละเลยจุดนี้ไป และไปให้ความสำคัญกับความดราม่าจนเหมือนดูถูกคนดู แต่สำหรับ หมอหลวง เป็นบทพิสูจน์ว่าคนไทยไม่ได้ต้องการแค่ดูละครประโลมโลก แต่หากมีเนื้อหาความรู้ที่น่าสนใจใส่เข้ามาอย่างถูกจังหวะก็ทำให้ละครประสบความสำเร็จได้ เหมือนกับซีรีส์เกาหลีที่ชนะใจคนดูชาวไทยจนไปหาข้อมูลต่อยอด แม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องที่คุ้นเคยก็ตาม
โดยภาพรวม หมอหลวง คือละครดี ดูสนุก แม้จะเดินทางมาเลยครึ่งเรื่องแล้วแต่ก็ยังมีประเด็นน่าติดตาม และเป็นตัวอย่างของละครที่ทำการบ้านมาอย่างดี ที่สำคัญมันชี้ให้เห็นว่าละครไทยอย่างไรก็ยังมีคนดู ขอเพียงผู้ผลิตไม่ดูถูกคนดูเท่านั้นเอง