วันนี้ (8 พฤษภาคม) จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังให้ข้อมูลกับ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าไซยาไนด์ วัตถุประสงค์ของการนำเข้า การนำไปใช้ และการครอบครองตามระเบียบของกรมโรงงานฯ
จุลพงษ์กล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้ควบคุมการนำเข้าสารไซยาไนด์จากต่างประเทศให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วัตถุอันตราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขอนำเข้าเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมและงานศึกษาวิจัย
ทั้งนี้ มีผู้ใช้รายย่อยประมาณ 2,000 รายในปัจจุบัน เช่น ร้านทอง ซึ่งส่วนนี้ทางบริษัทนำเข้าที่ได้รับขออนุญาตจะเป็นผู้ควบคุมดูแลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ขอยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ได้บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่
ส่วนในกรณีคดีของ สรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ แอม ผู้ต้องหาที่นำสารไซยาไนด์ไปใช้ก่อเหตุ และกรณีดาราสาว ไอซ์-ปรีชญา พงษ์ธนานิกร สั่งซื้อเพื่อนำไปใช้วางยาฆ่าสัตว์เลื้อยคลาน ถือเป็นการใช้ไซยาไนด์ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งทางกรมโรงงานฯ ในฐานะผู้เสียหาย จะต้องร้องทุกข์ดำเนินคดีกับคนกลุ่มนี้ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จุลพงษ์กล่าวต่ออีกว่า กรณีผู้ใช้รายย่อยที่ไม่ต้องมีการขออนุญาตครอบครอง หากในรอบ 6 เดือนมีการใช้เกิน 100 กิโลกรัม ก็ต้องแจ้งวัตถุประสงค์ในการนำไปใช้ด้วย โดยตำรวจจะเป็นผู้ติดตามการใช้งานว่ามีการใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือไม่ ส่วนเรื่องที่มีการขายผ่านออนไลน์ จะต้องไปดูที่ พ.ร.บ.ควบคุมวัตถุอันตราย ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งหลังจากนี้จะประสานสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ว่าสามารถควบคุมการโฆษณาไซยาไนด์ได้หรือไม่ด้วย
ข้อมูลจากกรมโรงงานฯ ปัจจุบันมีบริษัทที่ขอนำเข้าไซยาไนด์ทั้งหมด 14 ราย รวมน้ำหนัก 80 ตันต่อปี ซึ่งแนวทางการป้องกันเร่งด่วนหลังจากนี้จะมีการแก้ไขเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตนำเข้าไซยาไนด์ โดยจะกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความเข้มงวดก่อนนำเข้า ให้ผู้ที่ขออนุญาตนำเข้าแจ้งรายชื่อผู้ที่ต้องการใช้สารไซยาไนด์ เป็นต้น