วันนี้ (5 พฤษภาคม) ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประชุมติดตามความคืบหน้าคดีไซยาไนด์ร่วมกับทีมสืบสวนสอบสวนคลี่คลายคดี
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์กล่าวว่า ความคืบหน้าทั้งหมด 15 คดี จากการประชุมฝ่ายสืบสวนสอบสวนมีความคืบหน้าไปมาก พยานหลักฐานที่ยังมีช่องโหว่เหลือไม่เยอะแล้ว และยืนยันได้ว่าพยานหลักฐานขณะนี้ มัดตัว สรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ หรือ แอม ผู้ต้องหาในคดีได้อย่างแน่นอน
ส่วนในวันพรุ่งนี้ (6 พฤษภาคม) ตนจะไม่เข้าไปที่เรือนจำแล้ว เพราะแอมยืนยันไม่รับสารภาพ ซึ่งก็ไม่เป็นไร แต่ตำรวจได้พยานหลักฐานที่มีเพียงพอแล้ว ส่วนทนายความจะว่าอย่างไรก็ว่าไป เพราะไม่มีทนายความคนไหนที่บอกว่าสู้คดีไม่ได้ ตอนติดคุกทนายไม่ได้ติดด้วย
“การที่แอมร้องขอพบทนาย พร้อมระบุว่าเป็นบุคคลที่ไว้ใจนั้น ไม่ได้เกินความคาดหมาย เพราะผมเองไม่ได้รอตรงนี้ เพราะมีการรวบรวมพยานหลักฐานไปถึง 80% แล้ว ส่วนจะให้การหรือไม่ให้การ อย่างไรก็ไม่มีประโยชน์ สุดท้ายผู้ต้องหาจะยอมจำนนกับหลักฐานเอง” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์กล่าว
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์กล่าวต่ออีกว่า ในช่วงวันหยุดตนได้ให้ทุกฝ่ายไปทำงานต่อเนื่อง ซึ่งตนได้นัดหมายประชุมอีกครั้งวันอาทิตย์ที่ 7 พฤษภาคม เวลา 18.00 น. เพื่อไล่ดูพยานหลักฐานของฝ่ายสืบสวน และวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม เวลา 10.00 น. ได้นัดประชุมฝ่ายสอบสวนเพื่อนำพยานหลักฐานทั้งหมดมารวมกัน ซึ่งตนเองยืนยันได้ว่าคดีนี้มีความรัดกุมรอบคอบและเก็บรายละเอียดได้หมด
“วันนี้อย่าคิดว่าแอมไม่ได้อยู่ด้วยช่วงการเสียชีวิตของผู้เสียหายแล้วจะเอาผิดไม่ได้ เพราะมีการเชื่อมโยงไทม์ไลน์ทั้งหมดว่ามาเจอกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีภาพการมาเจอกันก็ได้ และการรู้จักกันก็สามารถไล่ความเชื่อมโยงได้หมด ซึ่งเทคนิคแบบนี้เป็นเทคนิคที่แอมไม่ได้คิดเอง แต่มีตำรวจบอกให้ แล้วตำรวจคนนั้นต้องรู้เรื่องงานสอบสวน แต่จะตัดช่วงเวลาไหนออกก็ตามก็ยังคงมีร่องรอยเหลืออยู่” พล.ต.อ. สุรเชษฐ์กล่าว
สำหรับประเด็นของดาราสาว ปรีชญา พงษ์ธนานิกร หรือ ไอซ์ ที่สั่งซื้อไซยาไนด์ทางออนไลน์ไป โดยระบุว่าเพื่อไปกำจัดสัตว์มีพิษในบ้านนั้น พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ระบุว่า เหตุผลดังกล่าวฟังไม่ขึ้น คงต้องเรียกมาสอบปากคำก่อน และในวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม ได้เชิญผู้บริหารกรมโรงงานอุตสาหกรรมมาให้ข้อมูลและรายละเอียดในการนำเข้าไซยาไนด์ และข้อมูลบริษัทที่นำเข้าทั้งหมดด้วยว่าแต่ละบริษัทมีวัตถุประสงค์ใดในการนำเข้ามาบ้าง
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ยังกล่าวด้วยว่า หลังจากนี้จะต้องเร่งแก้ไขระบบการชันสูตรพลิกศพ ที่จะต้องทำงานร่วมกับกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงสาธารณสุข จะต้องไม่ใช้ดุลยพินิจ แต่จะต้องมีมาตรฐานที่แน่นอนในการชันสูตรพลิกศพ โดยไม่ใช้เพียงแค่ความพึงพอใจของญาติและของแพทย์ชันสูตรเหมือนเดิม