ชาติ (ชาย) พัฒนา
พรรคชาติพัฒนาก่อนจะเป็นพรรคชาติพัฒนากล้าเปลี่ยนชื่อมาแล้วหลายหน ทว่ามีจุดเริ่มต้นหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 ที่ห้องโถงใหญ่ ‘บ้านราชครู’ แห่ง ‘ตระกูลชุณหะวัณ’
บ้านและตระกูลที่เป็นศูนย์กลางของวงอำนาจการเมืองไทยในช่วงเวลาหนึ่ง
4 ชื่อที่อยู่ในวงสนทนาวันนั้น ชื่อแรกคือ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ชื่อที่ 2 คือ กร ทัพพะรังสี อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีหลายกระทรวง ชื่อที่ 3 คือ ร.ต.อ. สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ อดีตเลขาธิการพรรคกิจสังคม
และชื่อสุดท้ายคือ เด็กน้อยทางการเมืองที่เพิ่งเป็น ส.ส. เขตของโคราช ได้เพียง 2 สมัย นั่นคือ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ
ชาติชายบอกกับสมาชิกในวงว่า “เราต้องทำพรรคการเมืองของเราให้เป็นทางเลือกใหม่และเป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ เน้นเรื่องเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาความยากจนของคนในชาติ”
สุวัจน์ถามที่ประชุมถึงชื่อพรรค นายกฯ ชาติชาย หรือที่สุวัจน์เรียกติดปากว่า ‘น้าชาติ’ หยิบดินสอเขียนชื่อพรรคในกระดาษ และพลิกให้ทุกคนได้เห็น
‘ชาติพัฒนา’ คือชื่อที่ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ มอบไว้ให้
นับจากนั้นไม่ว่าสุวัจน์จะก้าวเดินไปทางไหนในชีวิตทางการเมือง เขาโอบอุ้มชื่อพรรคที่น้าชาติมอบไว้ให้ไปด้วยเสมอ จากพรรคชาติพัฒนา (2535) พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา (2550) พรรครวมชาติพัฒนา (2553) พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน (2554) พรรคชาติพัฒนา (2554) ถึงพรรคชาติพัฒนากล้า (2565)
ไม่ใช่แค่ชื่อ แต่คือคำสอน สุวัจน์นำคำสอนของน้าชาติ ในฐานะครูการเมืองคนสำคัญของชีวิต เป็นธงนำในการทำงานการเมืองอยู่เสมอ
‘ลิปตพัลลภ’ คนหนึ่งไปเล่นการเมือง
เมื่อ พล.อ. อาทิตย์ กำลังเอก อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด เกษียณอายุราชการ ได้ตัดสินใจตั้งพรรคปวงชนชาวไทยในปี 2531
อาทิตย์ส่งเทียบเชิญไปยัง วิศว์ ลิปตพัลลภ พ่อของสุวัจน์ ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง ‘ประยูรวิศว์การช่าง’ 1 ใน 5 เสือกรมทางหลวง ซึ่งรับเหมาก่อสร้างทั้งถนน ทางหลวงแผ่นดิน สะพานขนาดใหญ่ และระบบชลประทาน รวมทั้งเคยเป็นอดีตนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ให้ร่วมก่อตั้งพรรคและลงสมัครรับเลือกตั้งในพื้นที่โคราช
สมาชิกในตระกูลต่างคัดค้าน เพราะพ่อของสุวัจน์อายุมากแล้ว สุวัจน์เล่าว่า “แม้เตี่ยจะมุ่งมั่นแค่ไหน แต่เมื่อเจอเสียงทัดทานของพวกเรา เตี่ยจึงบอกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ต้องมีลิปตพัลลภคนหนึ่งไปเล่นการเมืองแทนเตี่ย”
ถึงที่สุด วงประชุมตระกูลลิปตพัลลภมีมติส่งสุวัจน์ที่มีโปรไฟล์จบปริญญาตรีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จบปริญญาโทด้านวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเปอร์ดู สหรัฐอเมริกา และเขยโคราช ลงชิง ส.ส. เขต 1 โคราช
เกมจบคือจบ ไม่มีอะไรค้างคา
คู่แข่งคนแรกของสุวัจน์ในสนามการเมืองคือ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติไทย นักการเมืองที่โดดเด่นและโด่งดังที่สุดคนหนึ่งของยุคสมัย ด้วยโปรไฟล์นายพลชั้นผู้ใหญ่, เอกอัครราชทูตหลายประเทศ, รัฐมนตรีกระทรวงใหญ่, รองนายกฯ และเป็น ส.ส. โคราช ตั้งแต่ปี 2518
ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เดือนมิถุนายน ปี 2531 ซึ่งเป็นวันเปิดรับสมัครผู้สมัคร ส.ส. โคราช ชาติชายเรียกสุวัจน์เข้าไปพบ
“คุณคิดอย่างไรถึงมาลงสมัคร ส.ส. โคราช แล้วทำไมไปลงพรรคปวงชนชาวไทย คุณพ่อเป็นนักธุรกิจควรจะลงพรรคชาติไทย”
สุวัจน์บอกว่า นี่คือลีลาของ ‘ราชสีห์ทางการเมือง’ สุวัจน์ได้แต่ตอบกลับไปว่า “ผมไม่ได้คิดแข่งกับท่านครับ”
สุวัจน์ได้เบอร์ 16 ส่วนชาติชายและผู้สมัครของพรรคชาติไทยได้เบอร์ 4-6
บัตรแนะนำตัวที่สุวัจน์เดินสายแจกประชาชน ด้านหน้ามีรูปสุวัจน์ในชุดครุยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้านหลังมีรูป พล.อ. อาทิตย์
พร้อมด้วยประวัติของสุวัจน์ที่ระบุว่า เขาเป็นลูกชายของ วิศว์ ลิปตพัลลภ และเป็นลูกเขยของ พ่ออุบล ศิริภูมิ และแม่ระเบียบ เจ้าของร้านสามเจริญไหมไทย ร้านขายผ้าไหมเก่าแก่ของโคราช พร้อมนำเสนอนโยบายทั้งถนน 4 เลน สายสระบุรี-นครราชสีมา ถนนลาดยาง และมหาวิทยาลัยประจำจังหวัด
ผลการเลือกตั้งครั้งแรกของสุวัจน์ เขาคว้าชัยเป็นที่ 1 ด้วยคะแนน 98,000 เสียง และชาติชายตามมาที่ 2 ด้วยคะแนน 60,000 เสียง
เมื่อพบกับคู่แข่งที่รัฐสภา สุวัจน์เดินตรงไปกราบชาติชาย ผู้อาวุโสย้ำต่อหน้าว่า “สุวัจน์ เราพวกเดียวกันนะ เราต้องช่วยกันพัฒนาโคราช”
สุวัจน์เล่าว่า “เป็นบุคลิกประจำตัวของ พล.อ. ชาติชาย ที่เปี่ยมด้วยจิตใจเป็นนักกีฬา เกมจบคือจบ ไม่เคยมีอะไรค้างคาใจ”
พล.อ. ชาติชาย หัวหน้าพรรคชาติไทย คู่แข่งที่สุวัจน์เพิ่งเอาชนะนั้น ได้เก้าอี้ ส.ส. 87 ที่นั่ง เป็นอันดับ 1 ในการเลือกตั้งปีนั้น เมื่อ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ปฏิเสธหวนกลับคืนสู่ตำแหน่งนายกฯ หลังนั่งเป็นศูนย์กลางของวงอำนาจกว่า 8 ปี 5 เดือน
พล.อ. ชาติชาย ในฐานะหัวหน้าพรรคเสียงข้างมากในสภา จึงก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของประเทศไทย
ตำราน้าชาติ: รู้แพ้ รู้ชนะ มีแต่พวกและเพื่อน
เดือนสิงหาคม 2533 สุวัจน์ได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
ทันทีที่ทราบข่าว เขารีบตรงไปที่บ้านของ พล.อ. อาทิตย์ เพื่อกราบขอบคุณในโอกาสที่มอบให้ ทว่า พล.อ. อาทิตย์ เฉลยที่มาที่ไปว่า “คนที่อยากให้คุณเป็นรัฐมนตรีคือ พล.อ. ชาติชาย คุณต้องไปขอบคุณ พล.อ. ชาติชาย”
สุวัจน์รีบตรงไปที่บ้านราชครู เขาจำคำพูดวันนั้นได้ดี
“บ้านเมืองมันเปลี่ยนไปแล้ว วันนี้มันต้องคนหนุ่ม เลือกตั้งแล้วจบ ผมไม่เคยคิดว่าคุณอยู่คนละพรรค เป็นคู่แข่งกับผม เราต้องคิดถึงประเทศชาติ”
สิ่งที่สุวัจน์สำนึกอยู่เสมอก็คือ “ผมรู้สึกว่าชีวิตทางการเมืองของผม ทั้ง พล.อ. อาทิตย์ และ พล.อ. ชาติชาย เป็นผู้หล่อหลอมผม” และ “ผมถือว่าน้าชาติเป็นผู้บังคับบัญชาของผมคนหนึ่ง และเป็นผู้มีพระคุณทางการเมืองของผม”
ตำราทางการเมืองของน้าชาติถูกส่งต่อให้สุวัจน์
- ความเป็นผู้นำ กล้าตัดสินใจ รับผิดชอบ และปกป้องลูกน้อง: มีหนหนึ่งที่ต้องให้สัมภาษณ์ถึงการประกาศร่วมรัฐบาล ซึ่งเป็นที่มาของการ ‘เสียบเพื่อชาติ’ ชาติชายสั่งทุกคนห้ามให้สัมภาษณ์ และเดินลงไปให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพียงคนเดียว
สุวัจน์เล่าว่า ทุกครั้งที่น้าชาติตัดสินใจก็จะแสดงความรับผิดชอบเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองที่มีความอาวุโสทางการเมืองน้อย ยังมีอนาคตที่ยาวไกล ไม่ควรต้องมาช้ำทางการเมือง
- ใจกว้าง: ผลงานการขยายถนนจากสระบุรี-โคราช จาก 2 เลน เป็น 4 เลน เพื่อเป็นประตูสู่อีสาน ทำให้การเดินทางจากโคราชสู่กรุงเทพฯ ใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง จาก 5 ชั่วโมง และทำให้การเดินทางไปจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสานลดเวลาลงไปเกือบ 2 ชั่วโมง
สุวัจน์เล่าว่า “แม้ผมจะเป็นฝ่ายค้าน แต่น้าชาติก็ใจกว้าง ทำให้ภาพของการขับเคลื่อนถนนเป็นภาพของความร่วมมือร่วมใจกัน” และ “โครงสร้างของเมืองโคราชวันนี้มาจากแนวคิดของน้าชาติ โดยมีผู้ปฏิบัติการคือผมและทีม ส.ส. โคราชของพรรคชาติพัฒนา เปรียบเสมือนน้าชาติเป็นสถาปนิก แล้วผมเป็นวิศวกร”
- รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย: การจัดตั้งรัฐบาลในหนหนึ่ง พรรคชาติพัฒนาตัดสินใจไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะได้รับปากพรรคร่วมเดิมที่นำโดย พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ ไว้แล้ว
สุวัจน์เล่าว่า น้าชาติไม่ยอมเปลี่ยนไปจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ เขาย้ำว่า การเมืองต้องมีสัจจะ เราสัญญากับเขาไว้แล้ว จะเปลี่ยนไม่ได้ จะเป็นฝ่ายค้านก็ต้องเป็น
“สุวัจน์…มันเป็นเรื่องธรรมดาในระบอบประชาธิปไตย แพ้ก็คือแพ้ ชนะก็คือชนะ เราต้องเคารพกติกา ใครได้เสียงข้างมากก็ชนะไป การเมืองแค่หนึ่งเสียงก็ชนะกันแล้ว ไม่ต้องถอนตัว ความพ่ายแพ้ไม่ทำให้ผมช้ำทางการเมือง เราตกลงกับพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว อย่าให้เราต้องผิดคำพูด คำพูดเป็นนายเรา”
หลังรู้ว่าแพ้แน่แล้ว น้าชาติรีบต่อโทรศัพท์ไปแสดงความยินดีกับ ชวน หลีกภัย ทันที สุวัจน์ย้ำว่า “พล.อ. ชาติชาย เป็นคนที่มีสปิริตสูงมาก สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่มีน้ำใจนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เมื่อแพ้ท่านก็พร้อมแสดงความยินดีกับผู้ชนะ เหมือนที่โทรศัพท์ไปหานายกฯ ชวน เมื่อคะแนนเสียงสนับสนุนน้อยกว่า เมื่อชนะท่านก็ให้ความเห็นอกเห็นใจผู้แพ้ จบเกมเป็นจบเกม”
- ปล้ำยักษ์ให้ปล้ำทีละตัว อย่าไปปล้ำพร้อมกันหลายตัว: ชาติชายคือเจ้าของวลี ‘No Problem’ เขาแนะนำสุวัจน์ว่า ให้เลือกจัดการปัญหาทีละอย่าง หยิบปัญหาใหญ่ๆ มาจัดการก่อน ไม่ใช่ปล่อยให้ปัญหาสุมเข้ามาหลายเรื่องจนทำให้อารมณ์เสีย โดยเฉพาะปัญหาทางการเมือง
สำหรับปัญหาทางการเมือง น้าชาติย้ำว่า “ทุกปัญหามีทางออก ไม่เคยมีทางตันสำหรับการเมือง มันจะมีทางออกด้วยสถานการณ์ ด้วยเวลา ด้วยปัญหาของมันเอง”
- พวกกับเพื่อน: สุวัจน์เล่าว่า “น้าชาติเป็นนักการเมืองที่มีแต่พวกกับเพื่อน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานภาพอะไร ทุกครั้งที่มีการประชุมสภา ท่านจะนั่งฟังการประชุมอยู่ในห้องประชุมเล็ก บริเวณหน้าห้องประชุมสภา และทุกครั้งที่ท่านอยู่ในห้องนั้น จะมี ส.ส. ทั้งซีกฝ่ายค้านและรัฐบาลแวะเวียนเข้ามานั่งคุยกับท่านเสมอ พวกเราเรียกห้องนี้ว่าห้องสหประชาชาติ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะไม่เคยนำเรื่องความขัดแย้งหรือความไม่พอใจระหว่างเกมมาคิดและติดค้างใจใจ”
สุวัจน์ไม่เคยหยุดทำการเมือง
สุวัจน์เป็น ส.ส. ครั้งแรกในปี 2531 และเป็นรัฐมนตรีครั้งแรกในปี 2533 ให้หลังจากนั้นรวม 16 ปี ชื่อของสุวัจน์อยู่ในบัญชีรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในหลายรัฐบาล หลายนายกรัฐมนตรี
ทั้ง รมช.คมนาคม ในรัฐบาลนายกฯ ชาติชาย, รมช.คมนาคม ในรัฐบาลนายกฯ สุจินดา, รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรัฐบาลนายกฯ ชวน, รมว.คมนาคม ในรัฐบาลนายกฯ ชวลิต, รมว.อุตสาหกรรม ในรัฐบาลนายกฯ ชวน, รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, รมว.ทบวงมหาวิทยาลัย, รมว.ยุติธรรม และรองนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ
สุวัจน์เป็นนักการเมืองในสังกัดบ้านเลขที่ 111 ของพรรคไทยรักไทย เขาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี แต่สุวัจน์ไม่เคยหยุดทำการเมือง
ในปี 2551 พรรครวมใจไทยชาติพัฒนาร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่มี สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ หนึ่งในบัญชีรายชื่อ ครม. คือ พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ ภรรยาของสุวัจน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงาน
นั่นรวมไปถึงคนของสุวัจน์ที่ได้เก้าอี้รัฐมนตรีในหลายรัฐบาล เช่น วรรณรัตน์ ชาญนุกูล เป็นรัฐมนตรีพลังงานในรัฐบาลนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และในรัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมไปถึงตำแหน่งรัฐมนตรีอุตสาหกรรมในรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ในปี 2562 พรรคชาติพัฒนาเข้าร่วมรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ หนึ่งในบัญชีรายชื่อ ครม. คือ เทวัญ ลิปตพัลลภ น้องชายของสุวัจน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
พรรคชาติพัฒนากล้า: เศรษฐกิจเฉดสี-โคราชโนมิกส์
ในการเลือกตั้งปี 2566 สุวัจน์-เทวัญ จากพรรคชาติพัฒนา จับมือ กรณ์ จาติกวณิช จากพรรคกล้า รวมเป็น ‘พรรคชาติพัฒนากล้า’ เดินสู่สนามการเลือกตั้ง ทั้ง 3 คนขึ้นแท่นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค
กรณ์พูดถึงชื่อพรรคใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ เขาบอกว่า พรรคชาติพัฒนากล้ามาจากชื่อของพรรคชาติพัฒนาที่ก่อตั้งโดยน้าชาติ อดีตนายกฯ ที่นำความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมาสู่ประเทศไทย นั่นคือโครงเรื่องและความเชื่อมต่อที่ทำให้พรรคชาติพัฒนากล้าประกาศชัดๆ ว่า ‘เศรษฐกิจต้องเรา’
ทั้ง ‘เศรษฐกิจเฉดสี เศรษฐกิจทันสมัย สร้างเงินใหม่เข้าประเทศ 5 ล้านล้านบาท’ และตั้งคำถามกับทุนผูกขาด ค่าไฟแพง รวมถึงน้ำมันแพง ได้อย่างเฉียบคมเหนือพรรคการเมืองใหญ่ๆ เวลานี้
ตัวกรณ์รับภารกิจคิดนโยบายที่แหลมคม ลุยขึ้นเวทีดีเบต และสร้างกระแสให้กับพรรค พร้อมดึงคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ และภาคใต้ ในจังหวัดที่เป็นเขตยุทธศาสตร์
ตัวสุวัจน์และเทวัญรับภารกิจชิงเก้าอี้ ส.ส. เขต ที่โคราชเป็นหลัก นั่นทำให้สุวัจน์ชูธง ‘โคราชโนมิกส์’ (Koratnomics) เพื่อนำเศรษฐกิจยุคทองกลับมาสู่อีสาน สู่โคราช ช่วยสร้างงาน เพื่อให้ทุกคนมีเงิน เหมือนที่ชาติชายเคยเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า เปิดประตูอีสานสู่อินโดจีน
ในงานฉลองสมรสของบุตรสาวเพียงคนเดียวคือ พราวพุธ ลิปตพัลลภ กับ อิทธิชัย พูลวรลักษณ์ สุวัจน์ขอเป็นประธานจัดงานด้วยตัวเอง โดยนั่งประชุมร่วมกับทีมจัดงานทุกๆ 2 อาทิตย์ สุวัจน์เลือกของชำร่วยที่มีความหมายอย่างยิ่ง ในฐานะนักการเมืองที่รุ่งเรืองจากโคราช นั่นคือเหรียญหลวงพ่อคูณรุ่นแรกๆ ที่เขาเก็บไว้ร่วม 30 ปี ด้วยความตั้งใจว่าจะใช้เป็นของชำร่วยในวันที่ลูกสาวแต่งงาน
ในงานหมั้นที่บ้านลิปตพัลลภ ตระกูลชินวัตรส่งหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยเข้าร่วมงาน ทั้งพราวพุธและอิทธิชัยพบกันครั้งแรกในคอร์สให้ความรู้เรื่องไวน์ แต่ไม่ได้มีโอกาสพูดคุยกัน จนกระทั่งทั้งคู่ได้พบกันอีกครั้งในงานแต่งของ แพทองธาร ชินวัตร และ ปิฎก สุขสวัสดิ์ ซึ่งจัดขึ้นทั้งที่ฮ่องกงและในไทย นั่นเป็นเหตุให้ทั้งคู่ได้เริ่มสานสัมพันธ์และตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน
ในวันฉลองสมรสที่โรงแรม Four Seasons พี่น้อง 3 ป. ตบเท้าเข้าร่วมงาน โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นกล่าวอวยพรบนเวที
แขกผู้มีเกียรติที่ได้รับเทียบเชิญเข้าร่วมงานยังประกอบด้วยผู้มีอำนาจและผู้ใหญ่ในบ้านเมือง ทั้งที่เคยดำรงตำแหน่งสำคัญและอยู่ในวงอำนาจเวลานี้จากทุกขั้วทางการเมือง ตั้งแต่องคมนตรี, นายกรัฐมนตรี, ประธานรัฐสภา, ประธานวุติสภา, รองนายกฯ, รัฐมนตรี และข้าราชการระดับสูง
ในจำนวนนี้รวมไปถึงนักธุรกิจชั้นนำจากหลายกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศ ทั้งรัตนาวะดี, เจียรวนนท์, สิริวัฒนภักดี, โสภณพนิช และจิราธิวัฒน์
นี่คือรูปธรรมของการพกพาตำราน้าชาติเป็นอาวุธติดตัว ผสานด้วยความเชื่อมั่นทางการเมืองของสุวัจน์ ถึงโอกาสและความเป็นไปได้ของพรรคเล็ก ที่จะสามารถต่อรองและเป็นส่วนหนึ่งของ ครม. ได้ทุกยุค ทุกสมัย ขณะที่ตัวเขาเองก็พร้อมด้วยทุนการเมืองที่แข็งแกร่ง
ไม่ว่าจะเป็นยุคประชาธิปไตยเต็มใบ ครึ่งใบ หรือไร้ใบ สุวัจน์จึงเป็นส่วนหนึ่งของวงอำนาจเสมอ เพราะเขาไม่มีศัตรูทางการเมือง
ในตำราการเมืองของเขา อันเป็นตำราเดียวกับน้าชาติ ทำให้สุวัจน์มีแต่ ‘พวกและเพื่อน’
ข้อเขียนชิ้นนี้เรียบเรียงจากหนังสือ 4 เล่ม คือ
- หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ (2541)
- ชีวิตและความคิด สุวัจน์ ลิปตพัลลภ โดยสำนักพิมพ์มติชน (2546)
- คนสร้างทาง หนังสืออนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ วิศว์ ลิปตพัลลภ (2549)
- รักเราสีแชมเปญอมชมพู พราวพุธ & อิทธิชัย ใน Hello Magazine (2565)